ธปท. ห่วงกลุ่มเปราะบางหนี้เน่า
Loading

ธปท. ห่วงกลุ่มเปราะบางหนี้เน่า

วันที่ : 22 กุมภาพันธ์ 2566
ธปท. เผยว่า ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและการฟื้นตัวของธุรกิจบางกลุ่ม เพราะผลกระทบของโควิดที่ยังมีต่อเนื่อง ค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากและดอกเบี้ยที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง ส่งผลให้เอ็นพีแอลในอนาคตยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้
          เคาะปรับเกณฑ์เข้าร่วม "คลินิกแก้หนี้" ใหม่

          ธปท.เผยรายใหญ่เอสเอ็มอีภาครัฐแห่คืนหนี้ แบงก์ขายพอร์ตสินเชื่อ กดยอดปล่อยสินเชื่อปี 65 โต 2.1% ชะลอลงจากปีก่อน พร้อมยันฐานะแบงก์ยังแกร่ง กำไรงามแต่ห่วงกลุ่มเปราะบางมีหนี้เพิ่ม ขยับความช่วยเหลือคลินิกแก้หนี้ ให้รับแก้หนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลก่อน 1 ก.พ.66 ได้

          น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงผลดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 4 ปี 65 และแนวทางออกมาตรการเพิ่มเติมดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ว่าระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุนเงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูงสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 30.7% จากปีก่อนหน้าแต่การปล่อยสินเชื่อชะลอลงจากไตรมาส 3 จากการชำระคืนหนี้ของธุรกิจขนาดใหญ่ การคืนหนี้ของภาครัฐ และการครบระยะเวลาการกู้ยืมของสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี (ซอฟต์โลน) ของทางการรวมทั้งการโอนพอร์ตรายย่อยไปยังบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งไปยังบริษัทบริหารหนี้ ส่งผลให้ทั้งปี 65 สินเชื่อทั้งระบบขยายตัว 2.1% ชะลอลงจากปีก่อน

          ทั้งนี้สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ลดลง 1.3% จากไตรมาสก่อนหน้า, สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีลดลง 2.4% โดยลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ส่วนสินเชื่อเพื่อการอุปโภคขยายตัวลดลงทั้งหมดยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามสินเชื่อบัตรเครดิตที่ลดลง 14.2% นั้นเพราะมีการขยายพอร์ตสินเชื่อของบางธนาคาร แต่หากตัดส่วนนี้ไป สินเชื่อบัตรเครดิตจะขยายตัว 6.8% ชะลอจากไตรมาสที่ 3 ที่ขยายตัว 10.9%

          ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าวต่อว่าจากการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องด้วยการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) สิ้นปี 65 ลดลงมาอยู่ที่ 499,200 ล้านบาท หรือ 2.73% ของสินเชื่อรวมลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยลดลงจากสินเชื่อภาคธุรกิจเป็นหลัก ขณะที่เอ็นพีแอลสินเชื่อเพื่อการบริโภค ยังทรงตัว แต่สินเชื่อรถยนต์สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิตมีสัดส่วนหนี้เสียที่ปรับเพิ่มขึ้น

          "ธปท.ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและการฟื้นตัวของธุรกิจบางกลุ่ม เพราะผลกระทบของโควิดที่ยังมีต่อเนื่อง ค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากและดอกเบี้ยที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง ส่งผลให้เอ็นพีแอลในอนาคตยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง แต่การปรับโครงสร้างหนี้จะช่วยไม่ให้เพิ่มขึ้นรุนแรง"

          สำหรับหนี้ครัวเรือนล่าสุดไตรมาส 3 มี สัดส่วน 86.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ถือว่าสูงแต่ขณะนี้ ธปท.ได้เพิ่มการติดตามหนี้ของภาคเอกชน ทำให้หนี้ภาคธุรกิจโดยรวมของไทยต่อจีดีพี ไตรมาสที่ 3 ปี 65 อยู่ที่ 87.1% ของจีดีพี ลดลงจากในช่วงโควิด และเมื่อพิจารณาจากความสามารถในการทำกำไรของบริษัทยังรองรับได้ แต่ต้องติดตามธุรกิจในกลุ่มเปราะบางที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างใกล้ชิด

          น.ส.สุวรรณีกล่าวอีกว่าเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่เป็นหนี้เสียในส่วนของสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ธปท.ได้ปรับเงื่อนไขคุณสมบัติของลูกหนี้เอ็นพีแอลที่จะเข้าร่วมปรับโครงสร้างหนี้ผ่านช่องทางคลินิกแก้หนี้ โดยให้สามารถรับแก้หนี้ของลูกหนี้ที่เป็นหนี้เอ็นพีแอลก่อนวันที่ 1 ก.พ.66 เพื่อช่วยลูกหนี้ที่เพิ่งเป็นเอ็นพีแอลในช่วงปลายโควิดได้ ทั้งนี้ที่ผ่านมาคลินิกแก้หนี้ช่วยแก้หนี้ไปแล้ว 150,000 บัญชี จากลูกหนี้ 36,000 ล้านราย (รายละ 2-3 บัญชี) คิดเป็นวงเงินที่แก้หนี้ได้ 7,140 ล้านบาท นอกจากนั้นยังกำลังเจรจาเจ้าหนี้เพิ่มเติมโดยให้ทั้งแรงจูงใจเพิ่มข้อจำกัด เพื่อให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการคลินิกแก้หนี้เพิ่มขึ้น จากขณะนี้ที่มี 35 ราย เพื่อให้ครอบคลุมการช่วยเหลือลูกหนี้ให้มากขึ้นจากขณะนี้ประมาณ 70%

          "ในวันที่ 9 เม.ย.นี้จะเป็นวันครบกำหนดความช่วยเหลือของโครงการสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อช่วยเอสเอ็มอีรายเล็ก และโครงการพักทรัพย์พักหนี้รวมทั้งครบกำหนดความช่วยเหลือพิเศษของ ธปท.เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์เร่งปรับโครงสร้างหนี้ มองว่าแม้จะสิ้นสุดความช่วยเหลือพิเศษแล้วแต่แบงก์จะยังคงมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ต่อเนื่อง ขณะนี้เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจะช่วยลูกหนี้ได้ในระดับหนึ่ง ส่วนโครงการสินเชื่อฟื้นฟูและพักทรัพย์พักหนี้ ธปท.กำลังหารือว่าจะต่อโครงการได้หรือไม่ อย่างไร ซึ่งมีโอกาสที่จะต่อโครงการออกไปได้อีก 1 ปี"
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ