ที่ดิน บางพลี-บางบ่อ-เสาธง ราคาพุ่ง57%
Loading

ที่ดิน บางพลี-บางบ่อ-เสาธง ราคาพุ่ง57%

วันที่ : 28 มกราคม 2566
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) พบว่าไตรมาส 4/2565 โซนที่มีอัตราขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มสูงสุด เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ได้แก่ โซนบางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง มีอัตราเปลี่ยน 57.3%
          เจ้าของหนีภาษี 5แนวรถไฟฟ้าขยับยกแผง

          รอยต่อกทม.-ปริมณฑลผุดบ้านเดี่ยวคึกคัก

          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) เปิดเผยผลสำรวจดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯและปริมณฑล ไตรมาส 4/2565 พบว่า ค่าดัชนีเพิ่มขึ้น 3.4% จากไตรมาส 3/2565 และเพิ่มขึ้น 12.5% เทียบไตรมาสเดียวกันปี 2564 แสดงให้เห็นว่าราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาปรับขึ้นต่อเนื่อง แต่เป็นการปรับเพิ่มในอัตราต่ำกว่าอัตราเฉลี่ย 5 ปีก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 เล็กน้อย โดยอัตราเฉลี่ยเพิ่ม 14.8% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนและอัตราเฉลี่ยเพิ่ม 4.1% จากไตรมาสก่อนหน้า ปัจจัยทำให้ราคาที่ดินเปล่าเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัว มาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากโควิดและสงครามรัสเซียกับยูเครนยืดเยื้อ กระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัวลดลง รวมถึงรัฐบาลประกาศจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มอัตรา ไม่ได้รับส่วนลด 90% เหมือนปี 2562-63 และกรมธนารักษ์ประกาศใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่รอบปี 2566-69 ในวันที่ 1 มกราคม 2566 หลังเลื่อนใช้มาตั้งแต่ปี 2564 ทำให้ภาพรวมราคาประเมินที่ดินทั้งประเทศขึ้นเฉลี่ย 8% ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เจ้าของที่ดินปล่อยอุปทานที่ดินสู่ตลาด เพื่อลดภาระจ่ายภาษีที่ดิน ขณะเดียวกันความต้องการซื้อที่ดินสะสมในตลาดลดลง

          นายวิชัยกล่าวว่า ลงรายละเอียดพบว่าไตรมาส 4/2565 โซนที่มีอัตราขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มสูงสุด 5 อันดับแรกเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ได้แก่ 1.โซนบางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง มีอัตราเปลี่ยน 57.3% 2.โซนเมืองนนทบุรี-ปากเกร็ด อัตราการเปลี่ยน 46.9% 3.โซนเมืองปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สามโคก อัตราเปลี่ยน 31.9% 4.โซนกรุงเทพฯชั้นใน อัตราเปลี่ยน 16.6% และ 5.โซนบางเขน-สายไหม-ดอนเมือง-หลักสี่-มีนบุรีหนองจอก-คลองสามวา-ลาดกระบัง มีอัตราเปลี่ยน 10.1% สะท้อนว่าที่ดินชานเมืองของกรุงเทพฯและปริมณฑล มีการเปลี่ยนแปลงของราคาในลักษณะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะราคาซื้อขายยังไม่สูงมากนัก และยังมีความต้องการนำไปพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบ เพราะยังสามารถควบคุมต้นทุนได้มากกว่าราคาที่ดินในเขตชั้นในและชั้นกลางของกรุงเทพฯ

          นายวิชัยกล่าวว่า สำหรับราคาที่ดินเปล่าในแนวรถไฟฟ้า พบว่ามี 5 อันดับที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุด เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นที่ดินที่มีโครงการรถไฟฟ้าเปิดบริการแล้ว และเป็นโครงการในอนาคต ได้แก่ 1.รถไฟฟ้า MRT มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 16.6% โดยราคาที่ดินในเขตบางซื่อ ปรับเพิ่มขึ้นมากสุด 2.สายสีแดงเข้มช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง อัตราการขยายตัวเพิ่ม 16.6% โดยเขตบางรักและสัมพันธวงศ์ ปรับเพิ่มมากสุด 3.สายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มีอัตราการขยายตัวเพิ่ม 16.6% โดยเขตจตุจักร ดอนเมือง และบางเขน เพิ่มมากสุด 4.สายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค) มีอัตราการขยายตัวเพิ่ม 13.1% โดยเขตภาษีเจริญ เพิ่มมากสุด 5.สายสีทองช่วงธนบุรี-ประชาธิปก มีอัตราการขยายตัวเพิ่ม 13.1% โดยเขตคลองสาน ปรับราคามากสุด