อสังหาฯ เบรกซื้อที่ดินเลี่ยงต้นทุนภาษี
Loading

อสังหาฯ เบรกซื้อที่ดินเลี่ยงต้นทุนภาษี

วันที่ : 4 สิงหาคม 2565
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคาที่ดินเปล่ามีการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง มาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และล่าสุดยังได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครน
          ศูนย์ข้อมูลฯ ระบุราคาที่ดิน กทม.-ปริมณฑลขยายตัวในอัตราที่ลดลง เมื่อเทียบช่วง5ปีก่อนหน้า ชี้รัฐจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง90% ส่งผลอสังหาฯ ชะลอซื้อที่ดินลดภาระต้นทุนภาษี ล่าสุดรายงานดัชนีราคาที่ดินเปล่า กทม.-ปริมณฑล เผยไตรมาส 2/65 แตะ 354.5 จุด ขยายตัว เพิ่ม 4% จากไตรมาสก่อน หรือขยายตัวเพิ่ม 6.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

          ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคาที่ดินเปล่ามีการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง มาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และล่าสุดยังได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครน ที่อาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 65 ขยายตัวลดลงกว่าที่คาดการณ์ ผู้ประกอบการที่รัฐบาลได้ประกาศจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มอัตราโดยไม่ได้รับส่วนลด 90% เหมือนเช่นในปี 62-63 ที่ผ่านมา จึงทำให้ผู้ประกอบการต้องพิจารณาการซื้อที่ดินสะสมลดลง เพื่อควบคุมภาระภาษีที่ดินซึ่งเป็นต้นทุนในการพัฒนาโครงการในระยะต่อไป

          นอกจากนี้ จะสังเกตได้ว่าในไตรมาส 2 ปี 65 นี้ พบว่า โซน 5 อันดับแรกที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ดังนี้ อันดับ 1 ที่ดินในโซนบางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง มีอัตราการเปลี่ยนราคามากถึง 40.5% อันดับ 2 ที่ดินในโซนบางกรวย-บางใหญ่-บางบัวทอง-ไทรน้อย มีอัตราการเปลี่ยนราคา 24.2% อันดับ 3 ที่ดินในโซนเมืองนนทบุรี-ปากเกร็ด มีอัตราการเปลี่ยนราคาราคา 23.6% อันดับ 4 ที่ดินในโซนพระโขนงบางนา-สวนหลวง-ประเวศ มีอัตราการเปลี่ยนราคา 12.3% และ อันดับ 5 ที่ดินในโซนเมืองสมุทรปราการ-พระประแดง-พระสมุทรเจดีย์ มีอัตราการเปลี่ยนราคา 8.5%

          จากภาวะราคาที่ดินที่มีการเปลี่ยนแปลงข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า ที่ดินที่อยู่บริเวณพื้นที่ชานเมืองของกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีการเปลี่ยนแปลงของราคามาก เนื่องจากยังมีราคาไม่แพงและยังมีความต้องการนำไปใช้ในการพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยแนวราบมากขึ้น ขณะที่ราคาที่ดินในเขตชั้นใน และชั้นกลางของกรุงเทพฯ มีราคาที่สูงอยู่แล้ว แม้ว่าจะมีการปรับตัวขึ้นบ้าง แต่ก็ทำให้อัตราการเปลี่ยนแปลงไม่มากสูงดังเช่นในพื้นที่ชานเมือง

          สำหรับราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในแนวเส้นทางที่มีรถไฟฟ้าผ่านในไตรมาสนี้ พบว่าเส้นทางรถไฟฟ้า 5 อันดับแรกที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นที่ดินที่อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าและ เส้นทางที่มีแผนการก่อสร้างในอนาคต

          อันดับ 1 สายสีแดงอ่อน (ตลิ่งชัน- ศาลายา) มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่ม 10.3% โดยเขตทวีวัฒนา และเขตตลิ่งชันราคาปรับขึ้นมาสุด อันดับ 2 สายสีชมพู (แครายมีนบุรี) ราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้น 10.2% โดยเขตหลักสี่ และเขตคันนายาว เป็นบริเวณที่ราคาที่ดินปรับเพิ่มมากที่สุด อันดับ 3 สายสีม่วง (บางใหญ่เตาปูน) มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดิน เพิ่มขึ้น 8.53% บริเวณอำเภอเมืองและอำเภอบางบัวทองราคาปรับเพิ่มมาที่สุด อันดับ 4 สายสีเขียว (สมุทรปราการ-บางปู) ซึ่งเป็นโครงการที่กำลังจะก่อสร้างในอนาคต และสายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว โดยราคาที่ดินทั้ง 2 เส้นทาง มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.51% โดยพบว่าอำเภอเมืองสมุทรปราการ เป็นบริเวณที่มีราคาที่ดินเพิ่มขึ้นมาก และ อันดับ 5 สายสีน้ำเงิน (บางแค- พุทธมณฑล สาย 4) ซึ่งเป็นโครงการที่กำลังจะก่อสร้างในอนาคต มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 8.1% โดยราคาที่ดินในเขตหนองแขม และเขตบางแค เป็นบริเวณที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุด