คลัง ส่อเลื่อนเก็บภาษีขายหุ้นรอเศรษฐกิจฟื้น
Loading

คลัง ส่อเลื่อนเก็บภาษีขายหุ้นรอเศรษฐกิจฟื้น

วันที่ : 27 พฤษภาคม 2565
โดยการจัดเก็บภาษีดังกล่าว จำเป็นต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจที่เหมาะสม กล่าวคือ เศรษฐกิจจะต้องเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ การจะนำภาษีดังกล่าวมาใช้ จำเป็นต้องดูสถานการณ์ที่เหมาะสม
         "คลัง" ส่อเลื่อนเก็บภาษี ขายหุ้น หลังเฟทโก้ยื่นหนังสือค้าน "อาคม" เผย ต้องรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัว อย่างมีเสถียรภาพก่อน จากปัจจุบันฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้รับข้อร้องเรียนจากสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) ที่ขอให้ชะลอแนวทางการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นหรือ Transaction Financial Tax ซึ่งกระทรวงการคลังก็รับฟังปัญหา โดยการจัดก็บภาษีดังกล่าว จำเป็นต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจที่เหมาะสม กล่าวคือ เศรษฐกิจจะต้องเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ การจะนำภาษีดังกล่าวมาใช้ จำเป็นต้องดูสถานการณ์ที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้ เศรษฐกิจของเราค่อยๆ ฟื้นตัว โดยภาคการส่งออกที่เป็นเครื่องจักรที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยยังทำได้ดี ขณะที่ ภาคการท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวหายไปมากกว่า 90% ในช่วงที่ผ่านมานั้น ในปีนี้หลังจากที่ประเทศคลายล็อกดาวน์ คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศน่าจะเข้าประเทศมากขึ้น ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศในปีนี้ราว 7 ล้านคน"

          ทั้งนี้ ภาษีดังกล่าว ซึ่งเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ จะคิดในอัตรา 0.1% และเมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น ที่จัดเก็บในอัตรา 10% ของ 0.1% จะทำให้มีภาระภาษีรวม 0.11 % ของยอดขาย

          อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ทุกประเทศยังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และยังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจที่มาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นตาม กระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัว

          เตรียมร่วมประชุม Nikkei Forum

          นายอาคม กล่าวว่า ส่วนตัวเตรียมตัว ที่จะร่วมเดินทางไปกับนายกรัฐมนตรี ในโอกาสที่ นายกฯ จะร่วมกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในงาน Nikkei Forum เพื่อความร่วมมือในการรับมือ และก้าวข้ามผ่านความท้าทายร่วมกัน วันที่ 26-27 พ.ค.นี้ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

          โดยในฐานะรมว.คลัง จะสนับสนุนข้อมูลให้กับนายกรัฐมนตรี ในการอธิบายว่า ประเทศไทยดำเนินนโยบายเพื่อต่อสู้กับโควิดอย่างไร และในอนาคตนโยบายของเรามีความชัดเจนว่าจะมุ่งสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยสนับสนุนนโยบาย BCG

          ทั้งนี้ ประเทศทั่วโลกเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่สูง สำหรับประเทศไทย จากการรายงานของไอเอ็มเอฟ เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมานี้ ไทยไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศ ที่มีระดับเงินเฟ้อที่สูงสุด แต่เราอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีระดับเงินเฟ้อที่ต่ำสุด โดยต่ำกว่า 5% ซึ่ง การประคองภาวะเงินเฟ้อในประเทศนั้น ในระยะสั้น เป็นการช่วยเหลือเป็นการเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผล กระทบ เช่น การช่วยเหลือกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นต้น ,ส่วนในระยะยาวนั้น มุ่งสู่การพัฒนา พลังงานทดแทน และ Clean Energy

          สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตนั้น จะเป็นการนำดิจิทัล มาใช้ ซึ่งภาครัฐได้นำเทคโนโลยีมาใช้กับภาคธุรกิจ เช่น การยื่นแบบภาษีประจำปีของกรมสรรพากร และในอนาคต จะส่งเสริมสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

          ฐานะการคลังไทยมีเสถียรภาพ

          นายอาคม กล่าวว่า ช่วงสองปีที่โลกต้องเผชิญกับโควิดอย่างหนัก ทุกประเทศได้ใช้นโยบายการคลัง เพื่อเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยการกู้เงิน แต่เมื่อโควิดเริ่มคลี่คลาย โลกก็มองไป ที่การใช้นโยบายการคลังเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยนั้น แม้มีการใช้จ่ายเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจที่สูง แต่ไม่ใช่ประเทศที่ใช้จ่ายสูงที่สุด

          ขณะเดียวกัน สถาบันจัดอันดับเครดิตระหว่างประเทศหลายแห่ง ยังมองว่าฐานะการคลังประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ

          ก่อนหน้านี้ นายไพบูลย์ นลินทรางกูร  ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) กล่าวว่า  เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2565 เฟทโก้ ส่งจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่อง ความเห็นเกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีการขยายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามที่กระทรวงการคลังมีแนวคิดในการเรียกเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ โดยจะจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.1% ของมูลค่า การขายตั้งแต่บาทแรก

          ไม่เห็นด้วยเก็บภาษีขายหุ้น

          ทั้งนี้ เฟทโก้ ไม่เห็นด้วยที่จะมีการเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ เนื่องจากจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพคล่องของตลาด ภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับ Market Markers (MM) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลาดทุนใหม่ๆ ขณะที่  ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หากจัดเก็บภาษี จะนิยมให้การยกเว้นแก่กลุ่ม MM เช่น ฮ่องกง อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และกลุ่มกองทุนรวม/กองทุนบำนาญ/กองทุนสวัสดิการ เช่น อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ไอซ์แลนด์ เพื่อลดผลกระทบต่อการออมการลงทุนของประชาชนในวงกว้าง และต่อการพัฒนาเชิงนวัตกรรมของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศ

          โดยกรณีของไทยนักลงทุนทั้ง 2 กลุ่มทำธุรกรรมขายรวมกัน 12-17% ของมูลค่าขายทั้งหมดในตลาด (สถาบันในประเทศ 7% และ MM 5-10%) ดังนั้น การให้ยกเว้นภาษีต่อไปถือว่าคุ้มค่า หากเปรียบเทียบเม็ดเงินภาษี ดังกล่าวกับผลประโยชน์ในวงกว้างต่อประชาชนและการพัฒนาศักยภาพของตลาดหลักทรัพย์ไทยในระยะยาวฯลฯ