3ขุนคลัง จี้รัฐกู้เงินอัดฉีดศก.
Loading

3ขุนคลัง จี้รัฐกู้เงินอัดฉีดศก.

วันที่ : 24 มีนาคม 2565
สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ไม่ว่าจะเดินไปทางไหนมันเงียบเหงาไปหมด จะทำอะไรก็มีแต่คนบ่น โดยเฉพาะภาคคนจนเป็นผู้แบกรับภาระมากที่สุด
          'ทนง'แนะกู้1.5ล้านล้าน - 'กรณ์'ชงตั้งรีบูทฟันด์ - 'อุตตม'จี้เลิกอิงน้ำมันสิงคโปร์

          ห่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน วิกฤติซ้อนวิกฤติ

          อดีต 3 รมว.คลังร่วมหา วิธีฟื้นฟูเศรษฐกิจ "อุตตม"รับสงคราม รัสเซีย-ยูเครน เป็นวิกฤติซ้อน แนะรัฐวางแผนให้เหมาะสม เสนอเร่งแก้น้ำมันแพง เลิกอ้างอิงราคาสิงคโปร์ "ทนง"แนะรัฐบาล กู้เพิ่ม 1.5 ล้านล้านฟื้นเศรษฐกิจ ชี้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะซึมเศร้า จำเป็นต้องกระตุ้น "กรณ์"หนุนรัฐบาลกู้เงินปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เสนอตั้งกองทุน"รีบูท"หนุนฟื้นธุรกิจ

          กรุงเทพธุรกิจและฐานเศรษฐกิจ จัดสัมมนา THE BIG ISSUE 2022 หัวข้อ "ผ่าภัยวิกฤติเศรษฐกิจโลก : มุมมองอดีตขุนคลัง" โดยมีอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 3 คน มาร่วมนำเสนอแนวทาง การฟื้นฟูเศรษฐกิจ

          นายอุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ครั้งนี้เป็น วิกฤติที่เหมือนในอดีต ซึ่งวิกฤตินี้แตกต่าง เพราะเป็นวิกฤติเชิงซ้อน โดยเริ่มจากโควิด-19 เมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยเปราะบาง มาวันนี้เกิดสงครามรัสเซียและยูเครน ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะจบเมื่อไร

          ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือการเยียวยาและการเดินหน้าเพื่อให้หลุดพ้นจากวิกฤติ ซึ่งแม้สถานการณ์ยังคงดำเนินอยู่ เราก็ต้องประเมินสถานการณ์เป็นระยะ โดยต้องมีแผนให้เหมาะสมเพื่อเป็นประโยชน์ ต่ออนาคตประเทศ แม้ว่าหากไม่มีเรื่องรัสเซียและยูเครน สถานการณ์ก็ยังคง น่าเป็นห่วงจากโควิด เพราะโควิยังไม่รู้จะจบ เมื่อไรแม้จะดูเบาไปในช่วงนี้แต่ก็คาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดโควิดแบบไหนอีก ดังนั้นสถานการณ์ขณะนี้หนักกว่าที่ตนอยู่ใน ตำแหน่งรมว.คลัง

          "อุตตม" หนุนกู้เงินฟื้นประเทศ

          ส่วนการกู้เงินเพื่อมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น มองว่า การกู้เงินเป็นเรื่องที่ทำได้แต่ต้องตอบให้ได้ก่อนว่ากู้มาเพื่อทำอะไรเพื่อเป็น กระสุนเพิ่มในการแก้ไขปัญหาของประเทศ แต่สิ่งที่ตนเห็นว่าน่าจะเป็นช่องทางที่น่าจะพิจารณาคือการทบทวนงบประมาณปี 2565 และปี 2566 ที่กำลังร่างอยู่ในขณะนี้ ซึ่งงบประมาณปี 2565 ที่เริ่มใช้แล้วทั้งงบลงทุนและงบโครงการนำมาเขย่ากันใหม่อีกครั้ง เพื่อให้มีงบประมาณในการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ติดหล่มขึ้นมา

          "งบโครงการที่ยังสามารถรอได้ ทั้งที่ผูกพันและไม่ผูกผันเพราะวันนี้เกิดวิกฤติ ก็ต้องแก้ในแนวทางที่ไม่ปกติ เพราะเป็นเรื่องความจำเป็นที่ต้องทำ ในส่วนของนโยบายการเงินนั้น เห็นด้วยกับแบงก์ชาติที่ตรึงราคาดอกเบี้ยถือเป็นแนวทางที่ เหมาะสม ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพราะเศรษฐกิจไทยยังอยู่ภาวะเปราะบาง อีกทั้งราคาน้ำมันก็พุ่งสูงขึ้น ค่าไฟขึ้น แล้วมาขึ้นดอกเบี้ยอีกก็ยิ่งซ้ำเติมอีก"

          แนะเลิงอิงน้ำมันสิงคโปร์

          นายอุตตม กล่าวว่า วิกฤติรัสเซียและยูเครนที่ทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ซึ่งรัฐบาลต้องเยียวยาให้กับทุกกลุ่มอย่างเหมาะสม

          อย่างไรก็ตามอยากให้ทบทวนโครงสร้างพลังใหม่ โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปัจจุบันไทยอิงราคาจากประเทศสิงคโปร์ โดยราคาหน้าโรงกลั่น บวกค่าขนส่ง ภาษี ซึ่งเป็น สูตรโครงสร้างราคาน้ำมันปกติ แต่วันนี้สถานการณ์วิกฤติ จะคิดสูตรแบบเดิมไม่ได้ เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนจำเป็นต้องใช้สูตรนี้หรือไม่ ซึ่งสูตรนี้ใช้มาหลายปีตั้งแต่เราไม่มีโรงกลั่นน้ำมันแต่วันนี้ไทยมีโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ และมีกำลังกลั่นเกินแล้ว ตรงนี้ควรจะทบทวนสูตรใหม่ เราซื้อน้ำมันดิบมา กลั่นน้ำมันในไทยจากนั้นก็กำหนดราคาหน้าโรงกลั่น เพื่อยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก โดยอาจทดลองใช้ 3 เดือนก่อนเพื่อแก้วิกฤติ

          ส่วนด้านการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่อนาคตทั้งอุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่ง เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีศักภาพแต่ในภาพรวมวันนี้เกิดการหยุดชะงัก เพราะปัจจัยหลายอย่าง ถือเป็นความเสี่ยงหากปล่อยเป็นแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือมี นักลงทุนในดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการลงทุนโครงการในอีอีซี ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานต้องเดินหน้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในอีอีซี

          แนะรัฐกู้เพิ่ม1.5ล้านล้านเร่งฟื้นศก.

          นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า  แนะนำให้รัฐบาล ออกพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมอีก 1-1.5 ล้านล้าน บาท เพื่อนำเงินนี้ไปเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อให้มีกำลังซื้อในประเทศ กลับคืนมาโดยเร็ว เพราะสถานการณ์ เศรษฐกิจในขณะนี้ อยู่ในภาวะซึมเศร้าเหงาหงอย

          "รัฐบาลควรออกพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่ม อีก 1-1.5 ล้านล้านบาท เพื่อเร่งรัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพราะถึงเวลาที่จำเป็นต้องเร่งสปีดระบบเศรษฐกิจ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่จะมาในปีนี้ รองรับอุตสาหกรรมที่หดตัว และ เอสเอ็มอีที่ต้องการเม็ดเงินลงทุน เพิ่มการผลิต เพื่อให้คนมีงานทำ เพิ่มความสามารถในการบริโภค ถ้ารัฐบาลทำได้จะได้เปรียบทางการเมือง ฉะนั้น รัฐบาลจะลังเลไม่ได้"

          สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ไม่ว่าจะเดินไปทางไหนมันเงียบเหงาไปหมด จะทำอะไรก็มีแต่คนบ่น โดยเฉพาะภาคคนจนเป็นผู้แบกรับภาระมากที่สุด ไม่เหมือนสมัยวิกฤติต้มยำกุ้งที่ภาค สถาบันการเงินเป็นภาคที่แบกรับภาระใหญ่ เมื่อได้ลดค่าเงิน คนจนก็ดีขึ้นทันที ขายของได้

          เชื่อไทยไม่เกิดStagflation

          รวมทั้งเมื่อเกิดโควิด-19 เศรษฐกิจติดลบ 6% ใกล้เคียงกับตอนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่หลังจากนั้นก็ไม่กลับขึ้นมา โตขึ้นแค่ 1% และปีนี้ ก็คาดจะโตได้ 3-4% ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เรายังอยู่สภาพซึมเศร้าและไม่รู้จะแก้ไขได้อย่างไร

          ทั้งนี้ ขณะนี้ เศรษฐกิจไทยยังถูกซ้ำเติมด้วยเงินเฟ้อที่มาจากอาหารและพลังงาน เป็นตัวที่ร้ายแรงมาก เพราะอาหารและพลังงานเป็นสินค้าจำเป็นของคนจน ฉะนั้น แม้ตัวเลขเงินเฟ้อไม่สูงเท่าไหร่นัก แต่ว่า ถ้าดูตัวเลขเฉพาะสินค้าอาหารและพลังงานนั้น ขึ้นไปกว่า 20%แล้ว ถ้าเรายอมรับความจริงตรงนี้ และรัฐบาลไม่มีนโยบายอะไรชัดเจนในการดูแล จะมีปัญหาซ้ำเติมเศรษฐกิจ

          อย่างไรก็ดี เขายังมองว่า ไทยจะไม่เจอปัญหา Stagflation แบบรุนแรงมาก เพราะว่า เราเป็นประเทศที่มีความพอเพียง เชื่อว่า ในที่สุดธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม และ หัวใจ คือ ตราบใดที่ความสามารถในการบริโภคไม่ขึ้น ปัญหานี้ก็ไม่เกิด ที่จะเกิดขึ้นได้ คือ ต้นทุนจากพลังงานอาหารเพิ่ม แต่เป็นการเพิ่มขึ้นชั่วคราว แต่ปีถัดไป เงินเฟ้อพื้นฐานจะเริ่มนิ่ง ดังนั้น โอกาสที่จะเกิดปัญหานี้จะน้อย แต่กรณีที่จะเกิดขึ้นได้ คือเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่อง 2 ปี

          หนี้ครัวเรือนพุ่ง

          นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยขณะนี้ ยังประสบกับปัญหาหนี้สินครัวเรือน ซึ่งเพิ่มขึ้น เรื่อยๆ ถ้าหนี้สินนั้น เพิ่มเพื่อการบริโภค ไม่เป็นไร แต่กลับไปเพิ่มเพื่อการชำระหนี้นอกระบบ เพื่อการเป็นหนี้ และเราไม่มีวิธีการกำจัดเจ้าหนี้นอกระบบ ซึ่งเกิดขึ้นมาก ในช่วงโควิด-19 สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่มองว่า เราเจอปัญหาที่ไม่สามารถเยียวยา และ ทำให้ปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจบลง ยากมาก

          "ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา เศรษฐกิจโตเฉลี่ย 2-3% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าทุกประเทศรอบบ้านที่โตได้ 5-6% ก็มีคำถามว่า อะไรเกิดขึ้นกับประเทศเรา ความสามารถในการแข่งขันของเราทำไมหายไป ฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือการเร่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ"

          ทบทวนยุทธศาสตร์พึ่งพาตัวเอง

          นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังโควิด-19 เริ่มผ่านพ้นไป จะเห็นว่า หลายประเทศเริ่มฟื้นตัวแล้วและกลับไปสู่ภาวะปกติในเกือบทุกเรื่อง ขณะที่ สงครามรัสเซียกับยูเครนได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่องที่มีผลกระทบกับเรา อันดับแรก ที่จะส่งผลให้ประเทศต้องทบทวนคือเรื่องโลกาภิวัฒน์ หลายสิบปีที่ผ่านมา ทุกคนมุ่งเข้าหา Globalization เต็มตัว แต่เมื่อเจอโควิดกับสงคราม ทำให้ทุกคนต้องกลับมาทบทวนยุทธศาสตร์ การพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้น

          "มีหลายเหตุผล เริ่มจากเรื่องการเมือง การที่ประเทศตะวันตกสามารถคว่ำบาตรเศรษฐกิจรัสเซียได้ และ ขู่แม้แต่จีนได้ว่า ถ้าจีนมีส่วนร่วมช่วยเหลือรัสเซีย อาจโดนคว่ำบาตรไปด้วย ทำให้ทุกประเทศกลับทบทวนไม่ว่า ระบบการเงิน ซึ่งแม้แต่ทุนสำรองจะเก็บไว้ที่ไหน ยังต้องเอามาทบทวน สะท้อนให้เห็นว่า ยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่ใช้กันทำให้ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหลายประเทศต้องปรับตัว"

          นอกจากนั้น ผลกระทบโดยตรงคือ ราคาพลังงาน ทำให้ทุกประเทศต้องทบทวนนโยบายโดยไทยก็ได้รับผลกระทบ วันนี้ พลังงานไฟฟ้ายังพึ่งพาแก๊สเป็นพลังงาน เชื้อเพลิง ทุกครั้งที่ได้มีการหารือเรื่อง พลังงานทดแทน แต่ก็ไม่มีความจริงจังในเรื่องนี้

          "แม้แต่ประเทศเราที่เป็นประเทศส่งออก อาหาร แต่ก็ไม่วายที่จะได้รับผลกระทบ ก็ต้อง กลับมาทบทวน แม้เราจะเป็นประเทศผลิตอาหาร แต่ปัจจัยในการผลิต เช่น ปุ๋ยที่ใช้ เรานำเข้าทั้งสิ้น ฉะนั้น โดยรวมต้องนำไปสู่ การปรับยุทธศาสตร์ต่างๆ"

          อุ้มกลุ่มเปราะบาง

          ทั้งนี้ ในส่วนท่าทีของไทยต่อสงครามดังกล่าวนั้น ตนเห็นว่า เป็นท่าทีที่เหมาะสม และเรามีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง ในฐานะที่เราเป็นมิตรกับทุกคน ทำให้เราได้ประโยชน์จากการเป็นซัพพลายเชนในหลายอุตสาหกรรมให้ทุกประเทศทั่วโลก

          อย่างไรก็ดี สำหรับปัญหาเฉพาะหน้าที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้คือประชาชนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปัญหาค่าครองชีพ และไม่เห็นความหวังจากนโยบายของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ภาครัฐเป็นเพียงภาคเดียวที่มีความสามารถในการเข้าไปช่วยเหลือ โดยเฉพาะปัญหาภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหนี้สิน ที่เกิดขึ้นนอกระบบ

          นอกจากนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่เป็นห่วงคือ แม้เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้น แต่เขาก็ไม่สามารถที่จะลุกขึ้นมาได้เหมือนเดิม เพราะเขาใช้ทุนไปหมดแล้ว รัฐบาลสามารถเตรียมเงินกองทุนให้ผู้ประกอบการฟื้นตัวได้

          แนะตั้งกองทุนรีบูท

          ทั้งนี้ ตนแนะนำให้รัฐบาลตั้งกองทุน รีบูทหรือกองทุนเพื่อการเริ่มต้นใหม่ เพื่อให้ธุรกิจที่ปิดตัวในช่วงโควิด-19 ที่ต้องการเปิดตัวธุรกิจหรือซ่อมแซมได้เข้ามาใช้เงินจากกองทุนนี้ โดยให้ธุรกิจเอาหุ้นมาฝากขาย เมื่อบริหารแล้วมีผลกำไร ก็มีสิทธิกลับมาซื้อหุ้นในราคาเดิม ซึ่งรัฐบาลก็ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น

          สำหรับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระดับมหภาคนั้น เขากล่าวว่า ขณะนี้ ถือว่ารัฐบาลมีกำลังเงินที่ถือว่าดีมาก โดยดูได้จากภาระหนี้ต่องบประมาณในปี 2566 ยังอยู่ในระดับ 9% ถือว่าค่อนข้างต่ำ จากเกณฑ์ที่กำหนดไม่ให้เกิน 15% แสดงว่า รัฐบาลยังแบกรับภาระหนี้ได้อีก

          "เราต้องยอมรับว่า ในจังหวะที่รัฐบาลสามารถกู้ได้ และกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก รัฐบาลมีหน้าที่ด้วยซ้ำที่ควรกู้เงินเพื่อที่จะนำมาสร้างงานสร้างรายได้ เพื่อลดความจำเป็นของประชาชนที่ต้องเป็นหนี้ โดยภาระหนี้ประชาชนสูงมาก เมื่อเทียบหนี้ครัวเรือนของไทยปัจจุบันสูงสุด ส่วนใหญ่เป็นหนี้ของคนจน แต่หนี้ของรัฐบาลกลับเป็นหนี้ต่ำสุดประเทศหนึ่งในโลก ถามว่าขณะนี้ ใครควรเพิ่มภาระหนี้เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ใช่ประชาชน แต่คือรัฐบาล"
 
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ