คลัง ยืนยันไม่ลดภาษีที่ดิน ลดภาระชดเชยรายได้ท้องถิ่น
Loading

คลัง ยืนยันไม่ลดภาษีที่ดิน ลดภาระชดเชยรายได้ท้องถิ่น

วันที่ : 17 มกราคม 2565
กระทรวงการคลังจะไม่พิจารณาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2565 หลังจากลดภาษีดังกล่าวมา 2 ปีแล้ว เพราะการลดภาษีดังกล่าวถือเป็นภาระทางการคลัง โดยมีการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ในปี 2563-2564 ทำให้รัฐบาลเสียรายได้ปีละ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นภาระที่สูง
          "คลัง" เผยไม่ลดภาษีที่ดิน  ชี้เป็นภาระชดเชยรายได้ท้องถิ่น หลังลดมา 2 ปี "สรรพากร" เล็งปรับลดสิทธิลดหย่อนภาษีคนรวย เพิ่มให้ผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อย

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะไม่พิจารณาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2565 หลังจากลดภาษีดังกล่าวมา 2 ปีแล้ว เพราะการลดภาษีดังกล่าวถือเป็นภาระทางการคลัง โดยมีการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ในปี 2563-2564 ทำให้รัฐบาลเสียรายได้ปีละ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นภาระที่สูง ดังนั้น กระทรวงการคลัง จึงเสนอไม่ลดภาษีดังกล่าวอีก และให้กลับไปใช้อัตราตามกฎหมาย

          สำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นภาระที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้จัดเก็บและเป็นรายได้ของท้องถิ่นที่นำไปพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งเมื่อรัฐบาลประกาศลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ทำให้กระทรวงการคลังต้องชดเชยรายได้ให้ท้องถิ่น

          หลังจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทั่วโลกตั้งแต่ปี 2563 ได้กระทบเศรษฐกิจในประเทศรุนแรง คนตกงาน ผู้ประกอบการไม่มีรายได้ ซึ่งทำให้ในเดือน มิ.ย.2563 รัฐบาลลดภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ของภาระภาษีที่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ต้องจ่าย โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลเลื่อนเวลาให้เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต้องชำระภาษีนี้ในทุกเดือน เม.ย.ของทุกปี เป็นเดือน ส.ค.เพราะกฎหมายลูกยังไม่พร้อมใช้ และจะกลับมาชำระภาษีในทุกเดือน เม.ย.นับตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป

          สำหรับอัตราภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างปี2565-2566 กำหนดว่า

          1.การประกอบเกษตรกรรม อัตราภาษีจัดเก็บปัจจุบัน 0.01-0.1%

          2.ที่อยู่อาศัย อัตราภาษีจัดเก็บปัจจุบัน 0.02-0.1% โดยที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา อัตราภาษีจัดเก็บปัจจุบัน 0.03-0.1% ส่วนสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน อัตราภาษีจัดเก็บปัจจุบัน 0.02-0.1% และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยกรณีอื่นนอกเหนือจากนี้มีอัตราภาษีจัดเก็บปัจจุบัน 0.02-0.1%

          3.การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม อัตราภาษีจัดเก็บปัจจุบัน 0.3-0.7% 

         4.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ อัตราภาษีจัดเก็บปัจจุบัน 0.3-0.7%

          ทั้งนี้ บ้านและที่ดินที่เป็นบ้าน หลังหลักหรือบ้านหลังแรกที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับยกเว้นภาษี ส่วนที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับยกเว้นเช่นกัน

          นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า หนึ่งในแผนการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ คือ การปรับปรุงค่าลดหย่อนทางภาษี ซึ่งแนวทางการลดหย่อนทางภาษีจะให้ น้ำหนักการลดหย่อนเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อคนรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อยมากขึ้น และจะตัดสิทธิ์ประโยชน์ของคนรายได้สูงให้เหลือน้อยลง

          ทั้งนี้ เพราะปัจจุบันค่าลดหย่อนทางภาษีที่ให้ผู้เสียภาษีมีความ เหลื่อมล้ำระหว่างคนรายได้สูงกับ คนรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อยมาก โดยคนที่รวยในกลุ่ม 20% แรก ได้ใช้ประโยชน์จากค่าลดหย่อนทางภาษี ที่รัฐให้อย่างเต็มที่ หรือ 80-90% ของค่าลดหย่อนที่รัฐให้ ขณะที่คนรายปานกลางถึงรายได้น้อยใช้ประโยชน์ไม่มากเท่าที่ควร

          สำหรับแนวทางการปรับลดค่าลดหย่อนทางภาษีดังกล่าวนั้น คาดว่าจะทำให้กรมฯ มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยจะใช้หลักคิดคล้ายกับกรณีที่กรมสรรพากรยกเลิกการให้ค่าลดหย่อนทางภาษี แก่เงินที่ลงทุนใน LTF โดยกำหนดให้นำค่าลงทุนใน LTF มาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกินปีละ 5 แสนบาท/คน ซึ่งคนที่รายได้สูงจะได้รับประโยชน์มากกว่าคนรายได้น้อย เพราะ 15% ของคนรายได้สูงจะมากกว่า 15% ของคนรายได้ปานกลางถึงต่ำ

          "การปรับโครงสร้างภาษีในเรื่องค่าลดหย่อนทางภาษีนั้น จะปรับเพิ่มผลประโยชน์ให้คนรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อย เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางภาษี ขณะเดียวกันคาดว่าการปรับปรุงค่าลดหย่อนทางภาษีดังกล่าวจะทำให้กรมสรรพากรมีรายได้สูงขึ้น"