เจริญ-บิ๊กอสังหาฯกำเงิน 6.2 หมื่นล้านลุยช็อปที่ดินถูก
Loading

เจริญ-บิ๊กอสังหาฯกำเงิน 6.2 หมื่นล้านลุยช็อปที่ดินถูก

วันที่ : 6 พฤษภาคม 2564
บิ๊กอสังหาฯฉวยจังหวะโควิดระบาด-ภาระภาษีที่ดิน กำเม็ดเงินช็อปที่ดินถูก กทม.ยันหัวเมืองใหญ่ 62,866 ล้าน
         เจ้าสัวเจริญ-บิ๊กอสังหาฯฉวยจังหวะโควิดระบาด-ภาระภาษีที่ดิน กำเม็ดเงินช็อปที่ดินถูก กทม.ยันหัวเมืองใหญ่ 62,866 ล้าน เฟรเซอร์ส เป้า 20 แปลง ปิดดีลทำเลกลางเมืองพัฒนาโปรดักต์ใหม่ "ซิตี้โฮม" ขาย 15-40 ล้านบาท เอพีเพิ่มงบ 2 เท่าตัว เอสซี 30 แปลง ด้านพฤกษา ประกาศรับซื้อแนวรถไฟฟ้า-ชานเมืองยอมรับทำเลเกรด B ในซอยร่วง 10% เซ็นจูรี่ 21 สำรวจปี 64 กระแสซื้อทรัพย์เพิ่ม

          แม้ในช่วงปี 2563-2564 และอาจล่วงเลยไปถึง ปี 2565 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ภาพรวม ยังอยู่ในช่วงขาลง ผู้ประกอบการพักเบรก เพื่อประเมินแผนการลงทุนใหม่ที่เหมาะสมต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ได้ลุยกว้านซื้อที่ดิน แข่งขันกันอย่างร้อนแรงเหมือนช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ยังพบผู้ประกอบการกลุ่มพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยรายใหญ่ 10 ราย ยังคงมีการตั้งงบประมาณ เพื่อจัดหาที่ดิน ไว้รองรับการพัฒนาโครงการในอนาคตอยู่ไม่น้อยรวมแล้ว 62,866 หมื่นล้านบาท เพราะ 1. มองเป็นจังหวะดี คู่แข่งน้อย ไม่ต้องตั้งราคาซื้อสูงเพื่อแข่งขันอย่างในอดีต 2. การขยายตัวของทำเล ที่ยึดโยงกับแผนพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าในอนาคต ทำให้โอกาสเลือกซื้อมีมากขึ้น  3.ราคาที่ดินเปล่า อยู่ในช่วงขาลง โดยทำเลในกรุงเทพฯปริมณฑล ณ ไตรมาส 1 ปี 2564 ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ สำรวจเปิดเผย มีค่าดัชนีเท่ากับ 326.2 จุด ซึ่งแม้เทียบกับปีก่อน ยังเพิ่มขึ้น 11.2 % แต่นับเป็นสัญญาณที่ราคาเริ่มลดลงอย่างมาก จากค่าเฉลี่ยของอัตราการเปลี่ยนแปลงในรอบ 5 ปี (2559-2563) ที่อยู่ประมาณ 17.7 % ต่อไตรมาส และ 4 . จากผลกระทบทางเศรษฐกิจ แลนด์ลอร์จรายใหญ่ รวมไปถึงเจ้าของที่ดินรายย่อย ที่เดิมทีไม่มีความจำเป็นต้องประกาศขาย แต่สถานการณ์ทางการเงินที่บีบบังคับ ทำให้บางรายยอมลดราคา ขายทิ้ง กำเงินสดแทน แม้แต่การเปลี่ยนมือระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน ด้วยไฟท์บังคับ ก็มีมาก เพื่อหวังปลดล็อกเงินทุนจากการถือครอง รวมถึงลดภาระทางภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วย

          ทั้งนี้ หากเจาะลึกเทรนด์ความต้องการที่ดินในการพัฒนาโครงการในปี 2564 กว่า 70% ผู้ประกอบการระบุ ไว้เพื่อรองรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบ ประเภทบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม ราคาขายราว 3-7 ล้านบาท เป็นหลัก เพราะมองโอกาสการเติบโตของดีมานด์แนวราบ น่าจะดีอย่างนี้ไปอีก 2 ปี โดยบริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน)เปิดเผย แผนการซื้อที่ดิน ตั้งงบไว้สูงถึง 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นนับ 2 เท่าตัว หลังจากปี 2563 ใช้ไปเพียง 4.5 พันล้านบาทเท่านั้น โดยมองเห็น ว่าหลังสถานการณ์โควิด ทำให้ราคาที่ดินในทุกทำเลปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย กลายเป็นโอกาสในการซื้อเก็บ ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด หัวเมืองสำคัญ

          ขณะ บริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด(มหาชน) ปีนี้ตั้งงบ7 พันล้านบาท โดยพบประกาศ รับซื้อที่ดิน เพื่อทำคอนโดมิเนียมในหลายทำเล ระบุ พื้นที่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า, ถนนซอยกว้างไม่ต่ำกว่า 6 เมตร, ขนาดที่ดิน 1.5-5 ไร่  เช่น ห้าแยกลาดพร้าว-BTS รัชโยธิน-BTS สะพานควาย, MRT ศูนย์วัฒนธรรม- MRT ลาดพร้าวและBTS วงเวียนใหญ่กรุงธนบุรี ถ.เจริญนคร ถ.สมเด็จ เจ้าพระยา ถ.ประชาธิปปก เป็นต้น

          นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตทระบุว่า ช่วงสถานการณ์โควิดส่งผลให้ที่ดินบางแปลงมีราคาลดลงไม่ต่ำกว่า 10% โดยเฉพาะทำเลเกรด B ในซอย ขณะที่ดินเกรด A ติดถนนสายหลักรถไฟฟ้าสายสำคัญราคาอาจทรงตัว บริษัทจึงให้ความสำคัญ ซื้อเก็บไว้รอพัฒนาในปี 2565 แต่หากแปลงไหนมีความจำเป็นต้องพัฒนาทันทีทำเลบลูโอเชี่ยนก็จะดำเนินการในปีนี้

          ด้านอสังหาฯครบวงจรรายใหญ่ ภายใต้พอร์ตเจ้าสัวเจริญสิริวัฒนภักดี บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้  นอกจากจะไล่ช้อป รวบหุ้น คว้าสินทรัพย์จากรายย่อยเข้ามือ เพื่อขยายในเชิงพาณิชย์แล้ว ในส่วนของธุรกิจย่อยที่อยู่อาศัย เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม ก็น่าจับตาไม่น้อย ถึงแผน การไล่ล่าหาแปลงที่ดินประมาณ 20 แปลง เพื่อรองรับการพัฒนาโครงการในอนาคตอีก 2 ปี รวมงบประมาณที่ตั้งไว้ 10,720 ล้านบาท โดยความต้องการสูงสุด คือ การปิดดีลที่ดินในเมือง เพื่อพัฒนาโปรดักส์ใหม่ "ซิตี้โฮม" เพื่อขายราคา 15-40 ล้านบาท แต่ล่าสุด ระบุ ยังหาไม่ได้ในระดับราคาที่เหมาะสม

          ปิดท้ายที่ค่ายบ้านหรู เอสซี แอสเสท ระบุ ในรอบ 2 ปี (ปี 2564-2565) เตรียมงบ 2.5 หมื่นล้านบาท เพื่อจัดหาที่ดินไม่ต่ำกว่า 30 แปลงไว้รอการพัฒนา ลุยเปิดโครงการในกลุ่มโครงการแนวราบ เป็นต้น

          ย้อนไปก่อนหน้า บริษัท เซ็นจูรี่ 21 (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ เคยเปิดเผยว่า ตลาดคอนโดมิเนียมที่ชะลอตัว จากวิกฤติโควิด ทำให้ตลอดทั้งปี 2563 นั้น ยอดธุรกรรมการซื้อขายที่ดินลดลงมาก ขณะปี 2564 คาดการซื้อขายที่ดิน บางเซ็กเมนต์ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เช่น ที่ดินในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ และประเภทมิกซ์ยูส (Mixed Used)

          ปี2564 คาดการณ์ซื้อขายที่ดินบางเซ็กเมนต์ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เช่นที่ดินในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ และประเภทมิกซ์ยูส
 
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ