สร้างแล้วทางด่วน ย่างกุ้ง-กรุงเทพฯ เชื่อม ติลาหว่า เข้าโครงข่าย EWEC
Loading

สร้างแล้วทางด่วน ย่างกุ้ง-กรุงเทพฯ เชื่อม ติลาหว่า เข้าโครงข่าย EWEC

วันที่ : 28 ธันวาคม 2563
สร้างแล้วทางด่วน'ย่างกุ้ง-กรุงเทพฯ' ช่วง "พะโค-ไจก์โท" เชื่อม 'ติลาหว่า' เข้าโครงข่าย EWEC
          สื่อพม่าพร้อมใจเผยแพร่ภาพการก่อสร้างทางด่วนสาย "ย่างกุ้ง-กรุงเทพฯ" ช่วง "พะโค-ไจก์โท" มูลค่า 483 ล้านดอลลาร์ ที่เพิ่งได้เงินกู้จาก ADB เพื่อเชื่อมเขตเศรษฐกิจติลาหว่า กับโครงข่าย EWEC และต่อลงมาถึงกรุงเทพฯ

          หลายวันมานี้ สื่อหลายแห่งในพม่าต่างพร้อมใจกันเผยแพร่ภาพการก่อสร้างถนนสายหนึ่ง ที่สื่อทุกแห่งเรียกเส้นทางสายนี้ว่าทางด่วน "ย่างกุ้ง-กรุงเทพฯ" โดย ถนนที่กำลังก่อสร้างเป็นเฟสแรก เชื่อมระหว่างเมืองพะโค (หงสาวดี) เมืองหลักของภาคพะโค กับเมืองไจก์โท ในรัฐมอญ

          เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ อู จ่อ ลิน รองรัฐมนตรีกระทรวงก่อสร้างพม่า ได้เปิด เผยถึงโครงการทางด่วนสายนี้ ซึ่ง JICA (Japan International Cooperation Agency) กับธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) กำลังพิจารณาเงินกู้ที่จะให้แก่รัฐบาลพม่า โดยตอนนั้น รองรัฐมนตรีกระทรวงก่อสร้าง ยังเรียกเส้นทางสายนี้เป็นทาง ด่วนเชื่อมระหว่างย่างกุ้ง-พะโค-รัฐมอญ

          ทางด่วนสายนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเริ่มจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ ติลาหว่า เมืองสิเรียม (Thanlyin) กรุงย่างกุ้ง ไปยังเมืองพะโค คาดว่าต้องใช้เงินลงทุน 160 ล้านดอลลาร์ (228.5 พันล้านจั๊ต) โดย JICA ให้การสนับสนุน

          ส่วนที่ 2 จะสร้างจากพะโคไปยังเมืองไจก์โท รัฐมอญ คาดว่าต้องลงทุนประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ มี ADB ให้การสนับสนุน

          เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เพิ่งอนุมัติเงินกู้จำนวน 483 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 624 พันล้านจั๊ต แก่กระทรวงก่อสร้างพม่า สำหรับสร้างทางด่วนเฟสแรกระหว่างพะโค-ไจก์โท ที่เริ่มการก่อสร้างทันทีหลังได้รับเงินกู้ ตามภาพที่กำลังถูกเผยแพร่อยู่ตามสื่อต่างๆ

          ชื่อทางด่วน "ย่างกุ้ง-กรุงเทพฯ" เพิ่งมาถูกเรียกในเดือนพฤศจิกายน หลังมีข่าว ADB อนุมัติเงินกู้ก้อนแรกนี้ออกมาแล้ว

          ในทางด่วนช่วงพะโค-ไจก์โท ต้องมีการสร้างสะพานยาว 2.3 กิโลเมตร ข้ามแม่น้ำสะโตง ซึ่ง JICA ได้อนุมัติเงินกู้จำนวน 27.28 พันล้านเยน หรือประมาณ 342.18 พันล้านจั๊ต ให้แก่กระทรวงก่อสร้างพม่า เพื่อสร้างสะพานแห่งนี้แล้ว

          ส่วนทางด่วนช่วงติลาหว่ามายังพะโค จะสร้างในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำพะโค เพื่อไม่ต้องผ่านเข้าไปในตัวเมืองย่างกุ้ง แนวเส้นทางเริ่มจากสิเรียมขึ้นไปยังเมืองโตงคัวะ เมืองคะยาน เมืองตะนะปิน ปลายทางที่พะโค คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างเป็นลำดับถัดไป

          อู จ่อ ลิน บอกในการให้สัมภาษณ์เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ว่า ทางด่วนช่วง จากย่างกุ้งไปยังเมืองพะโค และไจก์โท ใน รัฐมอญ คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จในปี 2569

          ทางด่วนย่างกุ้ง-กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งใน โครงข่ายถนนของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) ที่ประเทศญี่ปุ่นพยายามผลักดันอย่างเต็มที่ ผ่านสถาบันการเงินในสังกัด ทั้ง JICA หรือ ADB

          EWEC เป็นเส้นทางเชื่อม 4 ประเทศ จากท่าเรือดานัง เวียดนาม ผ่านแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว เข้าไทยทางจังหวัดมุกดาหาร ผ่านขอนแก่น พิษณุโลก ตาก ข้ามชายแดนไทยที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เข้าไปยังจังหวัด เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง โดยมีปลายทาง ที่ท่าเรือเมาะละแหม่ง รัฐมอญ

          ทางด่วนย่างกุ้ง-กรุงเทพฯ ยาว 570 ไมล์ โดยเมื่อเส้นทางจากย่างกุ้ง- พะโค-ไจก์โท สร้างเสร็จแล้ว จะไปเชื่อมเข้ากับโครงข่ายถนน EWEC ที่เมืองเมาะละแหม่ง และต่อมายังเมืองเมียวดี เพื่อเชื่อมเข้ากับโครงข่ายถนนในประเทศไทย ที่อำเภอแม่สอด ผ่านจังหวัดตาก ลงมาถึงกรุงเทพฯ

          ตามข่าวที่สื่อพม่านำเสนอ นอกจาก ทางด่วนย่างกุ้ง-กรุงเทพฯ จะช่วยเพิ่มมูลค่า ทางเศรษฐกิจแก่ประเทศต่างๆ ในอนุภูมิภาค ลุ่มแม่น้ำโขงแล้ว ถนนสายนี้ยังเป็นปลายทางแก่นักแสวงบุญจากประเทศไทย สามารถเดินทางไปสักการะพระธาตุอินทร์แขวน (ไจก์ทีโย) ในเมืองไจก์โท และต่อไปสักการะมหาเจดีย์ชเวดากอง ที่กรุงย่างกุ้งได้ภายในการเดินทางเที่ยวเดียว

          ส่วนนักแสวงบุญจากพม่าสามารถใช้เส้นทางนี้เดินทางจากกรุงย่างกุ้ง เพื่อมาสักการะพระแก้วมรกตในกรุงเทพฯ
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ