ใครว่าโควิด-19 พ่นพิษร้ายกาจบ้านเดี่ยว-ทาวน์เฮาส์ยังขายดี
Loading

ใครว่าโควิด-19 พ่นพิษร้ายกาจบ้านเดี่ยว-ทาวน์เฮาส์ยังขายดี

วันที่ : 20 เมษายน 2563
ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ชี้ดัชนีราคาบ้านจัดสรรใหม่ กทม.-ปริมณฑลสูงขึ้น 2.6% ส่งผลบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ปรับราคาเพิ่ม
         
          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้จัดทำรายงานดัชนีราคาที่อยู่อาศัยใหม่ ที่อยู่ระหว่างการขายในกรุงเทพฯและปริมณฑลไตรมาส 1 ปี 2563 พบว่า ดัชนีราคาบ้านจัดสรรใหม่ที่อยู่ระหว่างการขาย ได้แก่ บ้านเดี่ยว และทาวน์เฮาส์ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยมีค่าดัชนีเท่ากับ 128.4 จุด เพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

          ทั้งนี้ เมื่อจำแนกตามพื้นที่แล้ว พบว่ากรุงเทพฯมีค่าดัชนีเท่ากับ 127.4 จุด เพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนและเพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่วนเขตปริมณฑลมีค่าดัชนีเท่ากับ 129.2 จุด เพิ่มขึ้น 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

          "ราคาที่อยู่อาศัยแนวราบทั้งบ้านเดี่ยว และทาวน์เฮาส์ยังมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบจะประสบกับปัจจัยลบรุมเร้ามากกว่าปัจจัยบวก ทั้งทางเศรษฐกิจและโรคระบาดจากโควิด-19 เนื่องจากมีผู้ต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงมากกว่าการซื้อเพื่อลงทุนจึงส่งผลให้มีความต้องการที่อยู่อาศัยประเภทนี้อยู่มาก จึงทำให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น"

          นอกจากนี้ในไตรมาสนี้ ผู้ประกอบการยังได้ใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการขายตลาดบ้าน โดยช่วยผู้ซื้อจ่ายค่าใช้จ่ายในวันโอนกรรมสิทธิ์ หรือฟรีค่าส่วนกลาง เพื่อจูงใจให้ผู้ซื้อที่ไม่ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการลดค่าโอน จากเดิม 2% เหลือ 0.01% และค่าจำนองของอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01% ของภาครัฐ ที่ประกาศในเดือน พ.ย.2562 ซึ่งให้สิทธิ์เฉพาะผู้ซื้อบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท และให้ของแถมต่างๆเช่นเครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์ ผ้าม่าน ปั๊มน้ำ แท็งก์ เป็นต้น เพื่อเป็นแรงจูงใจผู้ซื้อ มากกว่าการลดราคาขายโดยตรง

          ส่วนดัชนีราคาห้องชุดใหม่ที่อยู่ระหว่างการขาย พบว่ามีค่าดัชนีเท่ากับ 153.4 จุด เพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งเป็นปีที่มีการริเริ่มจัดทำดัชนี แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าพบว่าดัชนีขยายตัวลดลงเป็นไตรมาสแรกถึง 0.3%

          ทั้งนี้ ตลาดที่อยู่อาศัยประเภทห้องชุดได้รับผลกระทบเชิงลบมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ตั้งแต่การประกาศใช้มาตรการกำกับการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย(LTV)ภาวะสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกา รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังฉุดกำลังซื้อห้องชุดให้ลดลงอย่างรวดเร็วในไตรมาสนี้ ทั้งกำลังซื้อคนไทยและคนต่างด้าว โดยเฉพาะชาวจีน ซึ่งเป็นกลุ่มคนต่างด้าวที่เป็นผู้ซื้อหลักของตลาดอาคารชุดในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

          ดังนั้นในไตรมาสนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 41.8% จึงใช้กลยุทธ์ลดราคาห้องชุดที่เหลือขายและห้องชุดที่นำกลับมาขายใหม่(ห้องชุดหลุดดาวน์)โดยลดราคาขายลง 10.0-36.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จึงส่งผลให้ดัชนีราคาห้องชุดที่อยู่ระหว่างการขายในไตรมาสนี้ลดลงเป็นไตรมาสแรกนับตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งเป็นปีที่ริเริ่มจัดทำดัชนีราคาห้องชุด
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ