ไวรัสน็อก บ้านดีมีดาวน์ จัดสรรขอยืดถึงสิ้นปี
Loading

ไวรัสน็อก บ้านดีมีดาวน์ จัดสรรขอยืดถึงสิ้นปี

วันที่ : 23 มีนาคม 2563
โควิด-19 น็อกมาตรการรัฐ บ้านดีมีดาวน์ อยู่หมัด
          โค้งสุดท้ายไตรมาส 1/63 โควิด-19 น็อกมาตรการรัฐ "บ้านดีมีดาวน์" อยู่หมัด "ศุภาลัย" ชี้ต้นเดือน ก.พ. กำลังจะเป็นตัวช่วยแต่เจอโรคระบาดดับมู้ดผู้บริโภค "เสนา-NC-แสนสิริ-ออริจิ้น" จี้รัฐขยายเวลาถึงสิ้นปี นายกคอนโดฯขอตัวช่วยเว้นโอน-จำนองขยับราคาจาก 3 ล้าน เป็น 5 ล้าน

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำรวจธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงไตรมาส 1/63 โดยเฉพาะช่วงโค้งสุดท้ายก่อนจะหมดอายุมาตรการ "บ้านดีมีดาวน์" ในวันที่ 31 มีนาคม 2563 พบว่าสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เป็นปัจจัยถ่วงสำคัญที่สุดทำให้บรรยากาศการซื้อขายที่อยู่อาศัยลดความคึกคักอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ยอดผู้ใช้สิทธิบ้านดีมีดาวน์ยัง ไม่ถึงเป้า 1 แสนราย ดังนั้นดีเวลอปเปอร์จึงมีข้อเสนอให้รัฐบาลต่ออายุมาตรการออกไปจนถึงสิ้นปี 2563

          โดยอัพเดตข้อมูลมาตรการบ้านดีมีดาวน์จากกระทรวงการคลัง ณ 16 มีนาคม 2563 มียอดลงทะเบียนขอรับสิทธิ 113,056 ราย ผ่านเกณฑ์รอบแรก 62,645 ราย (พิจารณาจากคุณสมบัติผู้กู้มีรายได้ไม่เกินปีละ 1.2 ล้านบาท ดูจากหลักฐานการยื่นภาษีบุคคลปี 2562) โดยรัฐช่วยดาวน์รายละ 50,000 บาท มีการโอนแล้ว 12,242 ราย วงเงิน 612 ล้านบาท จากเป้าบ้านดีมีดาวน์ 5,000 ล้านบาท

          โควิดทุบมู้ดบ้านดีมีดาวน์

          นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ไตรมาส 1/63 ข้อมูลที่พอจะ บอกได้คือ 2 เดือนแรกปี 2563 ยอดขายดีกว่า 2 เดือนแรกปี 2562 คาดว่าเป็นเพราะบ้านดีมีดาวน์จะ หมดอายุสิ้นเดือนมีนาคม ทำให้ยอด วิ่งเข้ามาเยอะช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตามสถานการณ์พลิกด้านในเดือนมีนาคมจึงทำให้ยอดรวมรายไตรมาสผันผวนได้

          สำหรับบ้านดีมีดาวน์ที่กำลังจะหมดอายุมาตรการ นายไตรเตชะกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ประเมินว่าบ้านดีมีดาวน์จะเป็นตัวช่วยทำให้ยอดขายกระเตื้องขึ้น 10% อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมลูกค้าจะช็อปซื้อตอนโค้งสุดท้ายหรือ last minute เมื่อเจอโควิดระบาดทำให้ทุกอย่างพลิกไปจากแผน จึงเป็นเรื่องน่าเสียดาย

          "บ้านดีมีดาวน์ถ้ารัฐจะต่ออายุมาตรการก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร เพราะเท่าที่ ผมทราบ ยอดผู้ขอรับสิทธิยังไม่ถึง 1 แสนรายที่รัฐบาลตั้งไว้"

          จี้รัฐต่อเวลาถึงสิ้นปี 2563

          ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ไตรมาสแรกปีนี้ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ยังมียอดลูกค้าวิสิตไซต์เฉลี่ย 30-40 ราย/เดือน/ไซต์ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 ในเดือนมีนาคมมีผลทำให้ยอดวิสิตไซต์ลด 40-50% โดยมีอัตราการตัดสินใจซื้อเฉลี่ย 3:1 ถึง 4:1 กล่าวคือ ผู้เยี่ยมชมไซต์ 3-4 คนตัดสินใจซื้อ 1 คน

          "ทำเลฮอตโซนรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปแบริ่ง สมุทรปราการ ถือว่าคนยัง วิสิตไซต์เยอะ บางโครงการที่ฮอตจริง ๆ ขึ้นไปถึง 100 คน/สัปดาห์ แต่พอเข้ามีนาคมทุกอย่างดูนิ่งไปหมด ไซต์ไหนที่ยังมีลูกค้าวอล์กเข้ามาถือว่าเก่งแล้ว"

          ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล อยากให้พิจารณาต่ออายุมาตรการบ้านดีมีดาวน์ จากกำหนดเดิมหมดอายุ 31 มีนาคมนี้ ให้ขยายเวลาไปถึงสิ้นปี 2563

          "ตอนนี้ทุกคนเฝ้ารอคำสั่งรัฐบาลจะปิดหรือไม่ปิด โซนกรุงเทพฯ-ปริมณฑลที่ปิดกิจการบางประเภท 18-30 มีนาคม in the way นั่นคือ signal ของภาครัฐที่บอกว่ายังเป็นวิกฤตเรื่องโควิด-19 เหมือนเดิมแต่สถานการณ์เริ่มหนักกว่าเดิม" รศ.ดร.เกษรากล่าว

          แสนสิริ-ออริจิ้นเร่งตุนยอด

          นางศุภลักษณ์ จันทร์พิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริทาเนีย จำกัด บริษัทลูกในเครือออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ เปิดเผยว่า โปรดักต์บริทาเนียเป็นบ้านแนวราบทั้งหมด ราคาหลัก 3-7 ล้านบาท ทำให้เป็นจุดแข็งในยุคเศรษฐกิจชะลอตัวและดูดซับปัจจัยลบต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา โดยไตรมาส 1/63 ตั้งเป้ายอดขายรวม 1,020 ล้านบาท ปัจจุบัน (20 มีนาคม) มียอดขายเกือบ 1,200 ล้านบาท สูงกว่าเป้า 15%

          "พี่ alert เรื่องโควิด-19 มาตั้งแต่ต้นแล้ว พอจะรู้ว่าระบาดง่าย พี่เป็นคนแรกในบริษัทออริจิ้นที่เร่งเด็กหมดเลย หนึ่งใน strategy คือ make it happens NOW ตัวใหญ่ ๆ เพราะตอนนี้เราไม่รู้ว่าอะไรข้างหน้าจะเกิดขึ้น อารมณ์ลูกค้าโดนกระทบได้ตลอดเวลา รีบทำวันนี้ก่อน อย่าไปหวังไตรมาสหน้า การขายอสังหาฯ ไม่เหมือนเดิม"

          นายปิติ จารุกำจร รองกรรมการ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาโครงการแนวสูงและบริหารกลยุทธ์โครงการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้ม ไตรมาส 1/63 แสนสิริทำยอดขายทะลุเป้าแน่นอน เป็นผลมาจากการปรับราคาขายล้อไปตามสถานการณ์ โดยคอนโดฯ ทุกแบรนด์มียอดขายน่าพอใจ ทั้งเดอะเบส ราคา 2-3 ล้านบาท, เดอะไลน์ 5-8 ล้านบาท และโมนูเมนต์ราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป

          ซึ่งมาตรการบ้านดีมีดาวน์เป็นตัวช่วย ที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะลูกค้าซื้อบ้านหลังแรก, คนที่ไม่คุ้นเคยกับการซื้อ ที่อยู่อาศัย ซึ่งมาตรการบ้านดีมีดาวน์ไม่ใช่แค่การให้สิทธิประโยชน์รัฐช่วย เงินดาวน์ 5 หมื่นบาท แต่มาเป็นแพ็กเกจ ที่จะต้องมีสถาบันการเงินและแพ็กเกจสินเชื่อ เพราะต้องมีการกู้แบงก์ มีการโอนก่อนจึงจะได้รับสิทธิ

          "จริง ๆ แล้วการทำบ้านดีมีดาวน์เป็นการทำแคมเปญที่จริงจัง ผมว่าทุกคนที่วิสิตไซต์เจอเจ้าหน้าที่แบงก์ก็ถามเลย ผมกู้ได้อย่างไร เท่าไร เตรียมเอกสารมา ผมเชื่อว่าเหมือนได้ one stop service เทียบกับในอดีตส่วนใหญ่มักจะรู้ว่าซื้อห้องนี้ แต่ตอนนี้เดินเข้ามาก็ถามแบงก์ว่า เครดิตติดอะไรบ้าง นั่นคือบ้านดีมีดาวน์ reverse นิดนึงตรงที่ คุณเดินเข้ามาปุ๊บรู้เลยว่าซื้อหลังไหน ยูนิตไหนได้บ้าง"
          ขยับโอน-จำนองราคา 5 ล้าน

          ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย และประธานกรรมการบริหาร บริษัทริชี่ เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในภาพใหญ่ประเมินผลกระทบ โควิด-19 ทำให้ยอดลูกค้าวิสิตไซต์อาจลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/62

          สำหรับบ้านดีมีดาวน์เป็นตัวช่วยทำให้ลูกค้าตัดสินใจโอนเร็วขึ้น เช่น จำนวน 10 ยูนิตที่สร้างเสร็จพร้อมโอน มี 1-2 รายที่รับทราบมาตรการนี้ก็ตัดสินใจยื่นกู้ ได้เลย แต่สินเชื่ออนุมัติหรือไม่ขึ้นกับเครดิตลูกค้าอยู่ดี

          ในฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทย ดร.อาภากล่าวว่า วิกฤตโควิดทำให้เป็นสถานการณ์พิเศษ ดังนั้นจึงเสนอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการกระตุ้นอสังหาฯ 2 ข้อ ได้แก่ 1.ยืดอายุมาตรการบ้าน ดีมีดาวน์ถึงสิ้นปีนี้ และ 2.มาตรการลดค่าโอน-จำนอง จาก 3% เหลือ 0.01% หรือจากล้านละ 3 หมื่นบาท เหลือล้านละ 300 บาท ถึงแม้จะกำหนดอายุยาวถึง 24 ธันวาคม 2563 แต่มีข้อจำกัดคือให้เฉพาะบ้าน-คอนโดฯ ไม่เกิน 3 ล้านบาท ข้อเสนออยากให้ขยับเพดานราคาเป็นไม่เกิน 5 ล้านบาท

          "ถ้าเว้นโอน-จำนองเพดานราคา 3 ล้าน จะช่วยระบายซัพพลายในตลาดได้ 60% แต่ถ้าขยับราคา 5 ล้านจะช่วยซัพพลายได้ถึง 80% ของตลาดรวม" ดร.อาภากล่าว
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาครัฐ อื่นๆ