ตลาดสินเชื่อรายย่อยแข่งเดือด
Loading

ตลาดสินเชื่อรายย่อยแข่งเดือด

วันที่ : 11 มีนาคม 2563
แบงก์ชาติเผยปี 62 ธุรกิจ นาโนไฟแนนซ์ ชะลอหนัก สินเชื่อคงค้าง-จำนวนผู้กู้ วูบทุกไตรมาส
          นาโนไฟแนนซ์วูบ2หมื่นล.- กรุงศรี ปรับเกมสู้

          เปิดข้อมูลแบงก์ชาติเผยปี'62 ธุรกิจ "นาโนไฟแนนซ์" ชะลอหนัก "สินเชื่อคงค้าง-จำนวนผู้กู้" วูบทุกไตรมาส TMB Analytics ชี้ตลาดแข่งขันดุเดือดมากขึ้น "แบงก์-น็อนแบงก์" โดดลงมาแข่งมากขึ้น ขณะที่ "กรุงศรี เฟิร์สช้อยส์" เบรก "สินเชื่อเถ้าแก่ทันใจ" ชี้ต้นทุนสูง-ไม่คุ้มค่า หันเปลี่ยนโมเดลปล่อยสินเชื่อใหม่จับมือพันธมิตรดึงข้อมูลฐานลูกค้า นำร่องปล่อยกู้ "ช่าง-รับเหมารายย่อย" ลูกค้า "Mega Home" ตั้งเป้าสินเชื่อปีแรก 2 หมื่นล้าน ฟาก "FSMART" ขอเริ่มปล่อยกู้ปีหน้า ปีนี้ลุยจำนำทะเบียนรถก่อน

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากรายงาน ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับสถิติสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้กำกับ (นาโนไฟแนนซ์) จนถึง ณ สิ้นปี 2562 พบว่า มีจำนวนบัญชีทั้งสิ้นอยู่ที่ 1,172,889 บัญชี ยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 19,318 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าที่มีจำนวนบัญชี 2,038,841 บัญชี และยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 35,635 ล้านบาท ส่วนสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไป (NPL) อยู่ที่ 1,485 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน ปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 803 ล้านบาท และมีจำนวนผู้ประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ทั้งสิ้น 40 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มี 32 ราย

          นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตลาดสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ในปี 2562 ชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด ทั้งจำนวนบัญชีที่ลดลงเกือบ 1 ล้านบัญชี และยอดสินเชื่อคงค้าง ที่ลดลงไปเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเหตุผลของการชะลอตัว ไม่น่าจะเป็นเพราะคุณภาพหนี้ เนื่องจากตัวเลขเอ็นพีแอล แม้จะเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนก็ยังไม่ได้สูง แต่น่าจะมาจาก การที่ลูกค้ารีไฟแนนซ์ไปใช้สินเชื่ออื่น ในระบบธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) มากกว่า

          "ดูแล้วแนวโน้มในปี 2563 นี้ ธุรกิจนาโนไฟแนนซ์คงจะลำบาก ต้องเจอภาวะที่แข่งขันยากขึ้น เพราะที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ก็หันมาปล่อยสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อไม่มีหลักประกันมากขึ้น เพราะต้องบริหารจัดการส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝาก (NIM) ดังนั้น ก็จะดึงลูกค้าตลาดนาโนไฟแนนซ์ไป พอสมควร เพราะดอกเบี้ยนาโนไฟแนนซ์ถือว่าแพง เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยแบงก์ กับน็อนแบงก์ นอกจากนี้ การปล่อยสินเชื่อ นาโนไฟแนนซ์ หากจะให้ต้นทุนต่ำ คงต้องปรับไปใช้ช่องทางดิจิทัล มากกว่าจะใช้โมเดลปล่อยกู้แบบเดิมที่ใช้บุคคลปล่อยสินเชื่อ รวมถึงตามเก็บหนี้"

          นางสาวญาณี เผือกขำ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่อ ส่วนบุคคลและบัตรเครดิตภายใต้แบรนด์ "กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์" กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า บริษัทได้หยุดให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ภายใต้ชื่อ "เถ้าแก่ทันใจ" ไปแล้ว เนื่องจากมี ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับรายได้ โดยเฉพาะในส่วนของค่าใช้จ่ายพนักงานที่ไปสำรวจตลาด ตรวจสอบลูกค้า และติดตามเรียก เก็บเงิน

          โดยสินเชื่อที่ปล่อยไปก่อนหน้าหนี้ ปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้างเหลืออยู่ที่ 43 ล้านบาท จำนวนลูกค้าคงเหลือ 2,700 บัญชีเท่านั้น ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างเรียกเก็บหนี้ ส่วน NPL อยู่ที่ 11%

          "เราไม่ได้ทิ้งใบอนุญาต (ไลเซนส์) นาโนไฟแนนซ์ แต่เราจะเปลี่ยนวิธีและโมเดลการปล่อยสินเชื่อใหม่ เพราะตอนนี้ สามารถใช้ data (ข้อมูล) ในการปล่อยกู้ได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายน้อยกว่าวิธีเดิม" นางสาวญาณีกล่าว

          ทั้งนี้ บริษัทจะเปลี่ยนจากการปล่อย สินเชื่อ "เถ้าแก่ทันใจ" เป็นสินเชื่อ "เฟิร์สช้อยส์บิซ" (FirstchoiceBiz) โดยหันมาปล่อยสินเชื่อผ่านฐานข้อมูลลูกค้าของพันธมิตร (partnership based lending) ซึ่งจะใช้ข้อมูลอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากข้อมูลทางการเงินมาใช้ในการประกอบการวิเคราะห์สินเชื่อ เช่น พฤติกรรมผู้กู้ เป็นต้น ซึ่งเรียกว่า "information based lending"

          นางสาวญาณีกล่าวว่า ภายในกลางเดือน มี.ค.นี้ บริษัทจะเริ่มทดลองปล่อยสินเชื่อ โดยร่วมกับ Mega Home ศูนย์รวมสินค้าบ้านและวัสดุก่อสร้างครบวงจร ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ HomePro โดยในช่วงทดลองระยะแรก บริษัทจะคัดกรองคุณสมบัติลูกค้าออกเป็นเกรด ซึ่งจะพิจารณาจากข้อมูลการสั่งซื้อสินค้า ประเภทสินค้า สภาพคล่อง ในการซื้อสินค้าแต่ละครั้ง และช่องทาง การซื้อผ่านสมาชิก เป็นต้น

          "เราจะทดลองปล่อยสินเชื่อให้กับสมาชิกที่เข้ามาซื้อของใน Mega Home ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบธุรกิจ กลุ่มช่าง และกลุ่มรับเหมารายเล็ก ซึ่งเบื้องต้น ฐานลูกค้ากลุ่มนี้มีราว 2 แสนราย โดยคาดว่าจะมีลูกค้าเข้าเกณฑ์ ประมาณ 5-6 หมื่นราย แต่บริษัทตั้งเป้าเข้าไปปล่อยสินเชื่อปีแรกที่ 2 หมื่นราย วงเงินเฉลี่ย 4-5 หมื่นบาทต่อราย ซึ่งวงเงินสินเชื่อขึ้นอยู่กับข้อมูลลูกค้า" นางสาวญาณีกล่าว

          นางสาวญาณีกล่าวอีกว่า ภายใน ปีนี้บริษัทจะขยายการปล่อยสินเชื่อไปยังกลุ่มลูกค้าต่าง ๆ ผ่านทางพันธมิตร รายอื่นเพิ่มเติมอีก 2-3 ราย ซึ่งจะอยู่ในกลุ่มธุรกิจรายย่อย (retail) กลุ่มแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ Grab เป็นต้น และกลุ่มช็อปปิ้งออนไลน์

          นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) ผู้ให้บริการตู้เติมเงิน ออนไลน์ "บุญเติม" กล่าวว่า บริษัทได้ไลเซนส์นาโนไฟแนนซ์มาตั้งแต่ปลายปี 2562 แต่คาดว่าจะเริ่มปล่อยกู้ในปี 2564 เนื่องจากในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จะเริ่มขยายธุรกิจปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถก่อน