คอลัมน์ จับกระแส: โควิด-19 ตัวเร่ง ปิดดีลธุรกิจออนไลน์
Loading

คอลัมน์ จับกระแส: โควิด-19 ตัวเร่ง ปิดดีลธุรกิจออนไลน์

วันที่ : 9 มีนาคม 2563
ปรากฏการณ์ดิสรัปของโลกออนไลน์
          ประกายดาว แบ่งสันเทียะ

          เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต จนแจ้งเกิดการซื้อขายออนไลน์เติบโต อย่างรวดเร็ว ตลาดนัดออนไลน์ ไลฟ์สดขายของบน โซเชียลมีเดียโดยเฉพาะเฟซบุ๊ค ทำเงินให้พ่อค้าแม่ค้ารวยขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือแม้กระทั่งเว็บท่าขายของ (Market Place) อย่างชอปปี้ ลาซาด้า และเว็บไซต์อื่น

          รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่างขนส่งสินค้าจึงเติบโตตาม ทั้ง เคอร์รี่, เบสท์ โลจิสติกส์ ยังไม่รวมถึงส่งด่วนอาหารจากทุกเจ้าทั่วกรุงเทพฯ อย่าง แกร๊บ เก็ท และลาว่า มูฟ เข้ามาเป็นตัวช่วยยุค Lazy Economy

          ทั้งหมดเป็นปรากฏการณ์ดิสรัปของโลกออนไลน์ แต่ยังมีห้างไทยขยายตัวต่อเนื่องไม่ถูกดิสรัปจากยุคดิจิทัล เพราะเมืองไทยเมืองร้อน ห้างจึงเป็นศูนย์รวมเติมเต็มประสบการณ์มากกว่าการซื้อสินค้า

          ทว่าเมื่อการระบาดของโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เริ่มลุกลามเข้าใกล้ตัวคนไทยมากขึ้น ยังมีโอกาสเพิ่มจำนวนจากการเคลื่อนย้ายแรงงานผิดกฎหมาย หรือผีน้อย ที่ไปอาศัยอยู่ในเกาหลีอีก 5,000 คนกลับมาในไทย จุดเปลี่ยนในการบริหารจัดการที่สุ่มเสี่ยงต่อการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ

          คนไทยจึงออกจากบ้านน้อยลง ห้างสรรพสินค้าจึงได้รับ ผลกระทบอันดับแรก ผู้บริโภคเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาทำงานและซื้อสินค้า รวมถึงการทำธุรกรรมผ่านออนไลน์มากขึ้น แม้กระทั่งงานอีเวนท์หลายงานต้องเลื่อนออกไป รวมถึงงานสัปดาห์หนังสือ ครั้งที่ 48 ระหว่าง 25 มี.ค.-5 เม.ย.2563 ทำให้นักอ่านเปลี่ยนพฤติกรรมเคยหยิบจับ ซื้อหนังสือผ่านงานแฟร์มาช้อปผ่านหน้าเพจออนไลน์ 24 ชั่วโมงแทน รวมถึงงานอีเวนท์ใหญ่แห่งปีอย่างมอเตอร์โชว์ก็ต้องเลื่อนออกไปเป็นปลายปี

          ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักอีกหนึ่งก็คือภาคอสังหาริมทรัพย์ สถิติจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า สิ้นปี 2562 มียอดสินค้า พร้อมขาย (สต็อก) ทั่วประเทศ มีจำนวน 258,000 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 1.37 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูง ทำให้ปี 2563 เป็นปีที่นักพัฒนาอสังหาฯ เปิดโครงการใหม่ลดลง หันไประบายสต็อกเก่า เมื่อมาเจอกับพิษโควิด-19 จีนและต่างชาติเดินทางมาไทยน้อยลง จึงยากที่จะขายของระบายสต็อก

          แฟรงค์ ข่าน กรรมการบริหารและหัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาโครงการที่พักอาศัย บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด เอเจนซี่ขาย อสังหาฯ ทั้งคอนโดในไทยให้ต่างชาติ และนำคนไทยไปซื้ออสังหาฯ ในต่างประเทศ เช่น ลอนดอน ประเมินสถานการณ์โดยใช้โรคซาร์สเป็นฐานอ้างอิง ใช้เวลา 3 ไตรมาสในการสิ้นสุดสถานการณ์ นั่นเท่ากับว่า ภาคอสังหาฯ ต้องรอสิ้นสุดเดือน ต.ค. ลูกค้าจะเดินทางมาดูโครงการ เอเจนซี่ไม่สามารถปล่อยให้เหตุการณ์ลากยาวได้จึงวางกลยุทธ์ที่จะขายของและเจรจาผ่านวีดิโอคอลล์ ส่งข้อมูลไปให้ลูกค้าตัดสินใจ เขาเพิ่งปิดดีล ขายห้องพักที่ลอนดอนให้กับคนไทยไปในสัปดาห์ที่ผ่านมา

          เทคโนโลยีดิจิทัลจึงเป็นตัวช่วยในการดีลซื้อขาย ทางเลือกจำเป็นเสริมกลยุทธ์ในช่วงคนยังกังวลกับโควิด-19
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ