ที่ดินย่านรถไฟฟ้าแพง27%
Loading

ที่ดินย่านรถไฟฟ้าแพง27%

วันที่ : 28 มกราคม 2563
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ประจำไตรมาส 4 ปี 62 มีค่าเท่ากับ 284.7 จุด เพิ่มขึ้น 11%
          ฝันปีหนูอสังหาฯสร่างไข้

          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ประจำไตรมาส 4 ปี 62 มีค่าเท่ากับ 284.7 จุด เพิ่มขึ้น 11%  เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และปรับเพิ่มขึ้น 27.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยทำเลที่ราคาเพิ่มมากส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลายสายรถไฟฟ้าที่มีแผนจะเปิดให้บริการในอนาคตอันใกล้ รวมถึงทำเลที่มีแผนก่อสร้างในอนาคต โดยมีการเลือกพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรไว้รองรับ

          ทั้งนี้ ทำเลที่ดินเปล่าแนวรถไฟฟ้าที่ราคาเพิ่มสูงสุด 5 อันดับแรก ดังนี้ สายสีเขียวเหนือ คูคต-ลำลูกกา ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของสายสีเขียว หมอชิต- สะพานใหม่-คูคต  มีราคาเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 66% ซึ่งบริเวณนี้มีการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินมากที่สุดต่อเนื่องมาหลายไตรมาสแล้ว รองลงมาเป็นสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ราคาเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 34.8% ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยรวมมีความคืบหน้าการก่อสร้างไปแล้ว 48.1%

          ส่วนทางด้านสายสีแดงอ่อน ตลิ่งชัน-ศาลายา ซึ่งเป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต ราคาเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.8% สายสีเขียวใต้ สมุทร ปราการ-บางปู เป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายจากสายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) รวมถึงสายสีเขียวใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ  ราคาเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.7% และสายสีเทา วัชรพล-พระราม9-ท่าพระ ซึ่งเป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคตมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.6%

          นายวิชัยกล่าวว่า ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในพื้นที่กรุงเทพฯปริมณฑล รวม 6 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม โดยเริ่มตั้งแต่ปี55 เป็นปีฐาน และจัดทำดัชนีเป็นรายไตรมาส

          ทั้งนี้ในการศึกษาจะใช้ข้อมูลการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเปล่าของกรมที่ดิน จะคัดเลือกเฉพาะที่ดินเปล่าไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง ที่มีขนาดที่ดินตั้งแต่ 200 ตารางวาขึ้นไป และใช้ข้อมูลเฉพาะการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ผู้โอนหรือผู้รับโอนที่เป็นนิติบุคคลเท่านั้น เนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นราคาซื้อขายจริง ซึ่งบริษัทพัฒนาอสังหา ริมทรัพย์จะต้องบันทึกค่าใช้จ่ายหรือรายได้ให้ถูกต้องเพื่อสามารถคำนวณภาษี และค่าใช้จ่ายในแต่ละปี

          นายวิชัย กล่าวว่า แนวโน้มภาคอสังหาริมทรัพย์ในปี 63 เป็นปีเพิ่งฟื้นไข้ เพราะฉะนั้น ดีเวลอปเปอร์จำเป็นต้องลงทุนอย่างระมัดระวัง โดยผู้ประกอบการจะพิจารณาให้ตอบโจทย์ศักยภาพผู้ซื้อมากขึ้น โดยเฉพาะบ้านราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาทที่มีกำลังซื้อเยอะ สะท้อนจากยอดการโอนเพิ่มขึ้นจาก 3,000 ยูนิต เป็น 16,000 ยูนิต โดยนโยบายรัฐบาลจะต้องเข้ามามีส่วนช่วยหลังจากตลาดที่อยู่อาศัยราคาระดับกลางและสูงเริ่มมีแนวโน้มอิ่มตัว

          ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้ผ่อนปรนมาตรการแอลทีวีสำหรับผู้ซื้อที่อยู่อาศัย ผู้ประกอบการต่างก็เห็นว่าจะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจมีอัตราการขยายตัวได้อย่างแน่นอน เนื่องจากจะทำให้สามารถเป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น
 
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ