สมคิด สั่ง บีโอไอ ถกคลัง อัดแพ็คลงทุนลดบาทแข็ง
Loading

สมคิด สั่ง บีโอไอ ถกคลัง อัดแพ็คลงทุนลดบาทแข็ง

วันที่ : 14 มกราคม 2563
"สมคิด" สั่ง บีโอไอ หารือ คลัง ฉวยช่วง บาทแข็งทำมาตรการกระตุ้นการลงทุน เน้นนำเข้าสินค้าทุน -เครื่องจักร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดผลกระทบบาทแข็ง แนะเพิ่ม 4 มาตรการ 4 ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ "ดวงใจ" ชี้ยอดลงทุนปี 62 ทะลุเป้า จีนแซงหน้าญี่ปุ่น
        "สมคิด" สั่ง บีโอไอ หารือ คลัง ฉวยช่วง บาทแข็งทำมาตรการกระตุ้นการลงทุน เน้นนำเข้าสินค้าทุน -เครื่องจักร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดผลกระทบบาทแข็ง แนะเพิ่ม 4 มาตรการ 4 ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ "ดวงใจ" ชี้ยอดลงทุนปี 62 ทะลุเป้า จีนแซงหน้าญี่ปุ่น
รัฐบาลมีนโยบายที่จะเร่งการลงทุนเพื่อให้เกิดการนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าทุนในช่วงเงินบาทแข็งค่า โดยที่ผ่านมาได้เร่งรัดรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง เช่น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกำลังเร่งรัดการลงทุนในส่วนเอกชน
        นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยระหว่างการตรวจเยี่ยมสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) วานนี้ (13 ม.ค.) ว่า มอบหมายให้บีโอไอ หารือกับกระทรวงการคลัง ทำมาตรการเร่งรัดการลงทุนช่วง 6 เดือนข้างหน้า เพื่อให้นักลงทุนไทยให้ลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าทุน ซึ่งควรส่งเสริมให้เกิดการลงทุนมากขึ้นในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่า
        ทั้งนี้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้กับผู้ประกอบการไทยและจะช่วยแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าได้รวมทั้งช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศในช่วงการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า และให้นำมาตรการเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในต้นเดือน ก.พ.นี้
        หนุนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
        นอกจากนี้ มอบนโยบายให้บีโอไอออกมาตรการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ  ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งต้องส่งเสริมให้ขึ้นมาเป็นภาคส่วนที่รองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการหลายประเทศมีสัดส่วนใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจ และการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอเรื่องนี้ต้องไม่จำกัดอยู่ในธุรกิจโรงแรมแต่ต้องขยายไปธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้วย
        2.การส่งเสริมการลงทุนเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative economy) ซึ่งเป็นสิ่ง ที่ไทยได้เปรียบเพราะมีเอกลักษณ์ด้าน ศิลปวัฒนธรรม โดยบีโอไอควรทำงานร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานส่งเสริม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)
        3.การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ "BCG" ที่ภาคเอกชนให้ความสนใจมากขึ้นทั้งเรื่องอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Economy)
        4.การส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากและภาคเกษตร ซึ่งมอบหมายให้ บีโอไอหารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) สนับสนุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฐานราก เช่น โรงไฟฟ้าชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน
หวังเอกชนเร่งลงทุน
        นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง กล่าวว่า มาตรการที่บีโอไอจะออกมาเป็นมาตรการที่ เหมาะสม เพราะช่วงที่เงินบาทแข็งค่าถือเป็นจังหวะที่ดีในการลงทุน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับในช่วงที่วัฏจักรเศรษฐกิจกลับมาเป็นขาขึ้น ซึ่งหากนักลงทุนเตรียมความพร้อมจะได้ประโยชน์ช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว และช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
        รวมทั้ง ภายในสัปดาห์นี้บีโอไอจะหารือกับหน่วยงานของกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า ส่งออกและ การจัดเก็บภาษี ได้แก่ กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิต เพื่อจัดทำมาตรการดังกล่าว โดยมาตรการที่จะออกมาจะช่วยให้เอกชนตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติมได้ง่ายขึ้น
มั่นใจ ธปท.ดูแลค่าบาท
        สำหรับของบทบาทของธนาคาร แห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการรับมือกับค่าเงินบาทที่แข็งค่า นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท.ดูแลค่าเงินบาทแล้วเห็นได้จากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2562 ดังนั้นในส่วนที่จะทำได้คือการร่วมมือกับกระทรวงการคลังในการออกมาตรการเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน เพิ่มเติมในส่วนของสินค้าทุนที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศจะเป็นอีกส่วนที่ช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
ส่วนการออกไปลงทุนของนักลงทุนชาวไทยในต่างประเทศ (Out bound) ถือว่ามีตัวเลขที่เติบโตขึ้น โดยเฉพาะช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาคเอกชนของไทยส่วนหนึ่งมีความเข้มแข็งถออกไปลงทุนต่างประเทศได้ ซึ่งช่วยกระจายการลงทุนของผู้ประกอบการไทยไปยังซัพพลายเชนอื่นนอกเหนือไปจากการลงทุนในประเทศ
จีนลงทุนแซงหน้าญี่ปุ่น
        นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนปี 2562 มีมูลค่ารวม 756,100 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายการส่งเสริมการลงทุนที่วางไว้ในปีก่อนที่ 7.5 แสนล้านบาทเล็กน้อย และสูงขึ้นกว่าในปี 2561 ประมาณ 7% โดยมูลค่าส่งเสริม การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายอยู่ที่ 286,520 ล้านบาท คิดเป็น 38% ของมูลค่า คำขอส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด และ เป็นการขอส่งเสริมการลงทุนในเขต พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 457,890 ล้านบาท
        ทั้งนี้ ประเทศที่ยื่นขอคำขอส่งเสริมการลงทุนสูงที่สุด คือ จีน ซึ่งเป็นปีแรกจีนยื่นขอส่งเสริมการลงทุนสุดมูลค่า 2.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีมูลค่า 2.1 แสนล้านบาท เพราะยื่นขอส่งเสริมการลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 1.6 แสนล้านบาท รวมทั้งยื่นลงทุนเพิ่มขึ้นจากการย้ายฐานการผลิตจากผลกระทบของสงครามการค้า
        ส่วนอันดับ 2 คือ ญี่ปุ่น ยื่นขอส่งเสริมการลงทุน 7.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ปี 2561 ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท
สำหรับเป้าหมายการขอส่งเสริมการลงทุนปี 2563 จะเสนอบอร์ดบีโอไอต้นเดือน ก.พ.นี้ โดยมีแนวโน้มที่ดีเพราะบีโอไอปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนหลายด้าน
ม.หอการค้าหั่น"จีดีพี"ปีนี้
        นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ศูนย์พยากรณ์ฯ ลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 จากเดิมขยายตัว 3.1% เหลือ 2.8% เพราะได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น
        โดยเฉพาะผลกระทบจากการ แข็งค่าเงินบาทที่จะทำให้มูลค่าส่งออก ไทยลดลง 70,000-80,000 ล้านบาท ผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ-อิหร่านทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นและคนไทยต้องจ่ายเงินเพิ่ม 25,000-30,000 ล้านบาท และภัยแล้งที่จะกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร 10,000 ล้านบาท หรือกระทบจีดีพี 0.03 %
        นอกจากนี้ มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องความ ไม่มั่นคงทางด้านการเมืองที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติรวมถึงการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็จะ มีผลต่อนโยบายต่างๆของรัฐบาลชุดนี้ได้ดำเนินการ เช่น อีอีซี โดยหากเกิดความรุนแรงถึงขั้นประท้วงจะเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่ง