ธปท.จ่องัดมาตรการเพิ่มดูแล บาท
Loading

ธปท.จ่องัดมาตรการเพิ่มดูแล บาท

วันที่ : 11 ตุลาคม 2562
"แบงก์ชาติ" เตรียมงัดมาตรการดูแลค่าเงินบาท เพิ่มเติม เน้น"3กลุ่ม"โดยเปิดเสรี เงินทุนเคลื่อนย้ายมากขึ้น จ่อไฟเขียว ผู้ส่งออกพักเงินไว้ต่างประเทศได้ พร้อมเล็งดูแลการซื้อขายทองคำ ป้องค่าเงินผันผวนแรง ลุยแก้ปัญหาเชิง โครงสร้าง ลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงต่อเนื่อง
        "แบงก์ชาติ" เตรียมงัดมาตรการดูแลค่าเงินบาท เพิ่มเติม เน้น"3กลุ่ม"โดยเปิดเสรี เงินทุนเคลื่อนย้ายมากขึ้น จ่อไฟเขียว ผู้ส่งออกพักเงินไว้ต่างประเทศได้ พร้อมเล็งดูแลการซื้อขายทองคำ ป้องค่าเงินผันผวนแรง  ลุยแก้ปัญหาเชิง โครงสร้าง ลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงต่อเนื่อง

          ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เตรียมออก "มาตรการ" ดูแลค่าเงินบาทเพิ่มเติม โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 1-2 เดือนนี้ โดยการส่งสัญญาณดังกล่าว มีขึ้นหลังจากที่ค่าเงินบาท กลับมาแข็งค่าอีกครั้งและทำสถิติ แข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ ธปท. ส่งสัญญาณดังกล่าว ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงทันที  มาปิดตลาดวานนี้(10 ต.ค.) ที่ระดับ 30.39 บาทต่อดอลลาร์

          นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ถือเป็นประเด็นที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ให้ความกังวล เพราะมีผลต่อผู้ส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่ง ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยอยู่ระหว่างพิจารณาออกมาตรการดูแลเพิ่มเติมใน 3 กลุ่ม ซึ่งบางมาตรการจะมีความชัดเจนใน 1-2 เดือนนี้

          กลุ่มแรกคือทำให้การเคลื่อนไหวของค่าเงินมีความสมดุลมากขึ้น ระหว่าง เงินไหลเข้าไหลออกเช่นการเปิดเสรี มากขึ้น เพื่อให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ ทั้งบุคคลและนักลงทุนสถาบัน รวมถึงพิจารณาให้ผู้ส่งออก ที่ต้องนำเงินตราต่างประเทศ เข้ามาในประเทศไทย สามารถ พักเงิน และบริหารจัดการอยู่ในต่างประเทศได้ ไม่ต้องนำเข้ามา ในประเทศ อันนี้สามารถลดแรงกดดัน ที่มีต่อค่าเงินบาทได้ รวมถึงการ ส่งเสริมให้ฝากเงินตราต่างประเทศในบัญชี(FCD) ที่สามารถทำเพิ่มเติม ได้อีก

          นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการ ส่งเสริมให้มีผู้ประกอบธุรกิจ โอนเงิน  แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ  เข้ามาทำธุรกิจในไทยได้หลากหลาย มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนและ การโอนเงินลงได้ ซึ่งมาตรการในกลุ่มที่ 1 นี้คาดว่าจะมีความชัดเจนในระยะ1-2 เดือนข้างหน้านี้

          จ่อดูแลการซื้อขายทองคำ

          ส่วนมาตรการกลุ่มที่สอง เกี่ยวกับทองคำ โดยหากดูตั้งแต่ต้นปี จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีการส่งออกทองคำสูงถึง 4.5 พันล้านดอลลาร์ ทำให้มีเงินตราต่างประเทศเข้ามา ที่สร้างแรงกดดันและซ้ำเติมให้ เงินบาทแข็งค่า ดังนั้นธปท.จะไป ดูว่าจะทำอย่างไรให้การซื้อขายทองคำ ไม่มีผลกระทบ หรือมีแรงกระแทกที่เข้ามากระทบต่อเงินบาท แต่ไม่ใช่การเข้าไปควบคุม หรือการหยุดซื้อขายทองคำ อันนี้คงไม่ใช่

          ส่วนกลุ่มที่ 3 คือการเข้าไปดูประเด็นเชิงโครงสร้าง ที่มีผลต่อดุลบัญชีเดินสะพัด เนื่องจากปัจจุบันไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง โดยปีนี้คาดว่าเกินดุล 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 6.3 % และคาดว่าปีหน้า น่าจะเกินดุลอยู่ ดังนั้นก็ต้องไปดูว่า จะทำอย่างไรได้บ้าง เช่นการให้ภาครัฐ เร่งการลงทุน และนำเข้าสินค้าทุน รวมถึงการผลักดันการลงทุนของภาคเอกชน ในส่วนเศรษฐกิจดิจิทัล เหล่านี้จะสามารถลดแรงกดดันการเกินดุลของบัญชีเดินสะพัดได้

          "ปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า มีหลายปัจจัย หลักๆ มาจากปัจจัยต่างประเทศ ทั้งเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าการเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในบริษัทจดทะเบียน ซึ่งกดดันทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าช่วง 2-3 วันนี้"

          สำหรับภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ในปีนี้มาอยู่ที่ 2.8% และปีหน้า ที่ 3.3% ถือเป็นการเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจไทย แต่ไม่ได้แปลว่าเศรษฐกิจไทยถดถอยหรือกำลังเกิดวิกฤติ เพียงแต่เป็นการขยายตัวระดับต่ำเท่านั้น

          ส่วนเป้าหมายเงินเฟ้อ ล่าสุด ธปท.อยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงการคลังขั้นตอนสุดท้าย เพื่อกำหนดกรอบเป้าหมายร่วมกันในอนาคต เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป ซึ่งคาดว่า จะมีความชัดเจนภายใน 1 เดือนข้างหน้านี้

          ไม่ปักธงดอกเบี้ยต่ำสุด1.25%

          ด้านเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า กรณีที่มีการตั้งคำถามว่า การดำเนินนโยบายดอกเบี้ย สามารถลงไปต่ำถึง 1.25% ได้หรือไม่นั้น มองว่าอัตราดอกเบี้ยที่ 1.25% ถือเป็นระดับต่ำที่สุดเท่าที่เคยมี แต่การดำเนินนโยบายของกนง.ใช้หลักการพิจารณาตาม Data dependent หากในอนาคตมีความจำเป็น หรือสถานการณ์เปลี่ยนก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ ดังนั้นดอกเบี้ยที่ระดับ 1.25% จึงไม่ใช่ Magic number ซึ่งต้องพิจารณาถึงสถานการณ์และความจำเป็นข้างหน้า และต้อง บาลานซ์ระหว่างเป้าหมายการเติบโต เสถียรภาพระบบการเงิน และเงินเฟ้อ ที่ต้องช่างน้ำหนักว่าด้านใดเป็นสิ่งที่กังวลมากกว่ากัน

          "ล่าสุดที่กนง.มีมติคงดอกเบี้ยที่ 7 ต่อ 0 ไม่ได้หมายความว่าครั้งหน้า จะเป็นอย่างนั้น เพราะทุกอย่าง ดูตามข้อมูลเศรษฐกิจที่มองไป ข้างหน้า เรามองว่าความเสี่ยงที่มองไป ข้างหน้ามีอีกเยอะเลย และรูมที่ดำเนินนโยบายการเงินได้ จะใช้เมื่อมีความจำเป็นจริงๆเพราะเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต"

          เกาะติดอุปทานคงค้างคอนโด

          ด้านนายทิตินันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ยังมีหลายจุดที่ต้องติดตาม ภายใต้ดอกเบี้ยต่ำ ทั้งการออกไปแสวงหาผลตอบแทนของนักลงทุนเพิ่มขึ้น รวมถึงต้องติดตามอุปสงค์คงค้างในประเทศ โดยเฉพาะคอนโด หลังธปท.มีการ ออกมาตรการกำกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย (แอลทีวี) หลังดีมานด์ในประเทศและต่างประเทศชะลอตัว และติดตามผลของมาตรการอย่างต่อเนื่อง

          รวมถึงการติดตามหนี้ครัวเรือนที่ถือเป็นประเด็นที่กังวล โดยปลายปีนี้ จะมีการติดตามดูข้อมูลภาระหนี้ ต่อรายได้(DSR) ของธนาคารพาณิชย์ เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่า ไส้ใน เป็นอย่างไรบ้าง เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดในอนาคต ทั้งนี้มองว่าภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอ ควรใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (ไมโครพลูเด็นเชียล) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบ การเงิน(แมคโครพลูเด็นเชียล) ร่วมกันอย่างเหมาะสม เพื่อให้ดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต

          จับตาศึกการค้าฉุดเศรษฐกิจปีหน้า

          นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีหน้า เชื่อว่าปัจจัยสำคัญจะมาจากการ ใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนเอกชน และ การลงทุนในอีอีซี ที่จะเห็นความ ชัดเจนมากขึ้น เช่นเดียวกับภาคการ ส่งออกที่คาดว่า หากไม่รวมทองคำ จะกลับมาขยายตัวได้ในปีหน้า ที่ระดับ 1.7 %

          แต่มุมมองเศรษฐกิจโลกปีหน้า คาดว่าจะจะแย่กว่าปีนี้ ซึ่งยังมี หลายปัจจัยที่ต้องติดตาม อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างจีน และสหรัฐ หากมีการยืดเยื้อหรือสถานการณ์เลวร้ายลง อาจกระทบต่อประมาณการณ์ของธปท.

          หนุนธปท.ดูแลซื้อขายทอง

          นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวว่า เชื่อว่า บางมาตรการของธปท.ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา เพื่อลดแรงกดดัน การแข็งค่าของเงินบาท ถือเป็นมาตรการที่ดีเช่นมาตรการที่จะดูแลการซื้อขายทองคำ เพราะหากดูการนำเข้าและส่งออกในปัจจุบันพบว่า อยู่ในระดับสูง

          โดยตั้งแต่ตั้งแต่ม.ค.ถึงส.ค. พบว่าสัดส่วนการส่งออกทองคำอยู่ในระดับสูงถึง 6 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 4% ของยอดส่งออกทั้งหมด ขณะที่ การนำเข้าพบว่าอยู่ที่ 4.1 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.2 แสนล้านบาท ดังนั้นหากสามารถทำมาตรการ ที่ดูแลเงินที่มาจากการซื้อขายทองคำได้ เพื่อลดผลกระทบต่อค่าเงินบาทได้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เช่น การทำให้การซื้อและขายทองคำ สามารถ นำมาทำ Fx Matching กันได้หรือ นำมาหักสุทธิ โดยอาศัยตัวกลางเข้ามาช่วย เพราะหากสามารถ นำมาหักสุทธิกันได้ จะทำให้ ปริมาณซื้อขายที่เข้ามาจริงๆ ลดลง และมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน น้อยลง

          ส่วนมาตรการลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่มีการสนับสนุนให้เกิดการออกไปลงทุนต่างประเทศ หรือมีการหนุนให้เกิดการนำเข้ามาขึ้น แต่ในภาวะปัจจุบัน การหนุนให้เอกชนนำเข้า หรือลงทุนมากขึ้น แต่หากดูการลงทุนเอกชนในปัจจุบัน พบว่า อยู่ในระดับต่ำมาก ในภาวะที่เศรษฐกิจ ชะลอตัว ดังนั้นแรงกระตุ้นแต่อาจทำได้ไม่มากนัก

          "ส่วนมาตรการที่จะหนุนให้มีการออกไปลงทุนต่างประเทศ อันนี้มองว่า ยังไม่เหมาะ เพราะเป็น การส่งเสริมให้นำเงินออมไปลงทุนต่างประเทศในภาวะผันผวน แทนที่จะ หนุนให้เกิดการลงทุนในประเทศ ที่มองว่าจำเป็นมากกว่า"