อสังหาฯห่วง ศก.-ลงทุน ฉุด ดัชนีเชื่อมั่น ต่ำสุดรอบ5ปี
Loading

อสังหาฯห่วง ศก.-ลงทุน ฉุด ดัชนีเชื่อมั่น ต่ำสุดรอบ5ปี

วันที่ : 9 กรกฎาคม 2562
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น ของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ประจำไตรมาส 2 ปี 2562 ที่ได้จากการสำรวจผู้ประกอบการ พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวม 5 จังหวัด ได้แก่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม
          ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น ของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ประจำไตรมาส 2 ปี 2562 ที่ได้จากการสำรวจผู้ประกอบการ พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวม 5 จังหวัด ได้แก่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม

          การสำรวจครั้งนี้ สำรวจทั้งจาก ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) และบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  ครอบคลุมความเชื่อมั่นเกี่ยวกับผลประกอบการ ของบริษัท ยอดขาย สถานการณ์การลงทุน การจ้างงาน ต้นทุนการประกอบการ และการเปิดโครงการใหม่

          โดยการสำรวจครั้งนี้ ค่ากลางของดัชนีเท่ากับ 50.0 จุด ดังนั้น หากค่าดัชนีสูงกว่า ค่ากลางหมายถึงผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่น และมีมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์ธุรกิจ ในทางตรงกันข้าม หากค่าดัชนีต่ำกว่าค่ากลาง จะหมายถึงผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นลดลง และมีมุมมองเชิงลบต่อสถานการณ์ธุรกิจ

          จากผลสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่น ของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) ไตรมาส 2 ปี 2562 มีค่าเท่ากับ 42.2 จุด (ต่ำกว่าค่ากลาง ดัชนีที่ 50.0 จุด) ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีค่าดัชนีอยู่ที่ 50.4 จุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงระดับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการฯ ที่ลดลงจากความไม่มั่นใจต่อทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศไทยในปัจจุบัน ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่ยังรอความชัดเจนในเชิงนโยบายที่จะมีผลธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย และอสังหาริมทรัพย์ในภาพรวม จากรัฐบาลชุดใหม่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศ

          ตัวเลขดัชนีฯที่ลดลงอย่างชัดเจนในไตรมาสนี้ เป็นผลจากโมเมนตัมของระดับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการฯกลุ่มที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์(Listed Companies) ที่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าอย่างชัดเจนจาก 52.2 จุด ลดลงเหลือ 41.9 จุด(ต่ำกว่าค่ากลางที่ 50.0 จุด) และเป็นค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่ต่ำกว่าค่ากลางอีกครั้ง ของผู้ประกอบการกลุ่ม Listed Companies นับจากไตรมาส 1 ปี 2557 ซึ่งมีค่าดัชนีฯ อยู่ที่ 45.5 จุด ซึ่งเป็นช่วง ที่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในระหว่างนั้น

          ส่วนผู้ประกอบการกลุ่มที่ไม่ได้ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Nonlisted Companies) มีความเชื่อมั่นลดลง ในไตรมาสนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าเช่นกัน โดยมีค่าดัชนีเท่ากับ 42.7 จุด ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 47.7 จุด  (ต่ำกว่าค่ากลางที่ 50.0 จุด) อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Non-listed Companies มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่ำกว่า ค่ากลางที่ 50.0 จุดมาอย่างต่อเนื่องทุกไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2558

          สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือน ข้างหน้า(Expectations Index)ในไตรมาส 2  ปี 2562 มีค่าเท่ากับ 58.0 ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 58.4 จุด แต่ยังคงสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 จุด แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังมีมุมมอง ที่เป็นบวกต่อทิศทางของธุรกิจการพัฒนา ที่อยู่อาศัย โดยยังให้ความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจ จะมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นภายหลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว

          โดยผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 61.3 จุด เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 59.9 จุด ผู้ประกอบการฯกลุ่มนี้ให้ความเชื่อมั่นว่า ภายหลังจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้น และจะ ส่งผลให้ยอดขายและผลประกอบการ ของบริษัทขยายตัวขึ้น

          ในขณะที่ผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Non-listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 53.1 จุด ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 56.1 จุด แต่ยังคงสูงกว่า ค่ากลางที่ระดับ 50.0 จุด สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการฯกลุ่มนี้ก็ยังคงให้ความ เชื่อมั่นว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะมีทิศทาง ที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน แต่ยังคงลดลงกว่า ไตรมาสก่อนหน้า

          สำหรับดัชนีราคาห้องชุดใหม่ที่อยู่ระหว่างการขาย ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 2 ปี 2562  พบว่ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ ชะลอตัวลง โดยมีสาเหตุมาจากแนวโน้มอุปทานห้องชุดใหม่คงเหลือขายในตลาด ที่เพิ่มขึ้น และอัตราดูดซับที่ลดลง

          รวมทั้งการเริ่มบังคับใช้มาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคาร แห่งประเทศไทย (Macro Prudential) เมื่อต้นเดือนเม.ย.2562 ทำให้ผู้ซื้อชะลอ การตัดสินใจ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงเร่งรัดการตัดสินใจผู้ซื้อด้วยการเพิ่มรายการ ส่งเสริมการขายในไตรมาสนี้มากขึ้น ส่งผลให้ดัชนีราคาห้องชุดในไตรมาสนี้จึงมี ค่าดัชนีเท่ากับ 150.5 จุด (ปี 2555 = 100.0) เพิ่มขึ้น 8.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

          โดยกรุงเทพฯมีค่าดัชนีเท่ากับ 151.9 จุด เพิ่มขึ้น9.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.9%  เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ปริมณฑล มีค่าดัชนี เท่ากับ 143.7 จุด เพิ่มขึ้น 4.7% เมื่อเทียบกับ ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

          ในด้านรายการส่งเสริมการขายในไตรมาสนี้ อันดับ 1 กว่า 59.7%  จะเร่งรัดการตัดสินใจของผู้ซื้อด้วยของแถม เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ อันดับ 2 หรือ 27%  เป็นส่วนลดเงินสด และอันดับ 3 หรือ13.3 จะช่วยผู้ซื้อจ่ายค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์  เมื่อเทียบกับช่วงในไตรมาส 1 ปี 2562 ที่ส่งเสริมการขาย อันดับ 1 หรือ 46.2%  เป็นส่วนลดเงินสด อันดับ 2 กว่า 38.5%  ให้ของแถม และอันดับ 3  หรือ 15.4% ช่วยผู้ซื้อจ่ายค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์

          ส่วนทำเล โครงการอาคารชุดสร้างใหม่ ที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นสูงสุด 5 อันดับแรก ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2562 เมื่อเทียบกับ ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ 1.พญาไท- ราชเทวี 2. บางซื่อ-ดุสิต 3. สุขุมวิทตอนปลาย 4.สุขุมวิทตอนต้น และ 5.ชานเมืองฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ
          "ภายหลังตั้งรัฐบาลใหม่ ภาวะเศรษฐกิจ-การลงทุนในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยอีก6เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้น"
 
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ