คมนาคมเร่งประมูลที่บางซื่อ
Loading

คมนาคมเร่งประมูลที่บางซื่อ

วันที่ : 9 กุมภาพันธ์ 2562
เร่งประมูลที่ดินบางซื่อ รองรับเปิดใช้สถานีกลางปี 2564 พร้อมเร่งสรุปไฮสปีด 3 สนามบินในเดือน ก.พ.นี้
          เร่งประมูลที่ดินบางซื่อ รองรับเปิดใช้สถานีกลางปี 2564 พร้อมเร่งสรุปไฮสปีด 3 สนามบินในเดือน ก.พ.นี้

          นายไพรินทร์  ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ว่า ขณะนี้งานโยธาเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างติดตั้งวางระบบไฟฟ้าระบบราง คาดจะสามารถเปิดเดินรถช่วงดังกล่าว และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน-ศาลายา ได้ในช่วงต้นปี 2564

          สำหรับด้านโยธาสถานีกลางบางซื่อ มีความคืบหน้าประมาณ 60-70% โดยโครงสร้างหลักเกือบเสร็จทั้งหมด เหลือเพียงเก็บงาน เช่น ปูพื้น เป็นต้น ถือว่าเป็นสถานีกลางมาตรฐานที่น่าจะดีที่สุดและใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ตัวอาคารสถานีดังกล่าวมีความยาวประมาณ 600 เมตร ซึ่งเป็นความยาวที่เพียงพอต่อการรองรับรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่วิ่งให้บริการระหว่างประเทศในอนาคตที่ในสายยาวจะมีประมาณ 14-16 ขบวน

          ทั้งนี้ เมื่องานโครงสร้างใกล้แล้วเสร็จ สิ่งที่ต้องเร่งทำต่อไปคือเรื่องการพัฒนาและเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์แปลงเอ 32 ไร่ มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท และแปลงอี ซึ่งอยู่ติดกับสถานีกลางเพื่อให้เป็นย่านการค้าและร้านอาหารรองรับการเดินทางของผู้โดยสารที่จะมารวมกันในสถานีแห่งนี้ โดยตั้งเป้าการพัฒนาให้เสร็จพร้อมกับเปิดบริการใช้ตัวสถานี

          อย่างไรก็ตาม การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างพิจารณาใช้เป็นสถานีของรถไฟฟ้าทั้งหมด โดยรถไฟฟ้าสายยาวอาจจะมีการเปลี่ยนหัวรถจักรดีเซลก่อนใช้หัวรถจักรลากขึ้นมา หรือใช้หัวรถจักรที่เป็นทั้งหัวรถจักรดีเซลและไฟฟ้าในตัวเดียวกันเพื่อที่จะให้บริเวณชั้น 2 ไม่มีกลิ่นและควันจากหัวรถจักรดีเซลเพื่อลดมลภาวะ ส่งผลให้สถานีแห่งนี้เป็นสถานีรถไฟปลอดมลพิษ

          นายไพรินทร์ กล่าวถึงการเจรจากับเอกชนผู้ยื่นประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอีอีซีนั้น ยังไม่ทราบผลการเจรจา แต่เชื่อว่าจะ ได้ข้อสรุปภายในเดือน ก.พ.นี้ ซึ่งหลังจากนั้นจะดำเนินการในส่วนที่ขาดตอน (Missinlink) โดยส่วนดังกล่าวเมื่อออกจากสถานีกลางบางซื่อแล้วจะเป็นระดับใต้ดินวิ่งตรงไปทางยมราช เพื่อแยกเส้นทางไปหัวลำโพงและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต่อไป เพื่อให้ทัศนียภาพบริเวณที่ผ่านพระราชวังสวนจิตรลดาดูสวยงามและไม่ตัดผ่านเส้นทางจราจรตรงบริเวณแยกยมราช รวมถึงไปเชื่อมต่อกับเส้นทางที่มาจากตลิ่งชัน-ศาลายา ทำให้ระบบรถไฟฟ้ามีความสมบูรณ์ขึ้น

          สำหรับรูปแบบอาคารสถานีมีทั้งหมด 4 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นใต้ดิน เป็นลานจอดรถที่สามารถรองรับได้กว่า 1,700 คัน ชั้น 1 เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋ว พื้นที่พักคอยผู้โดยสาร เขตร้านค้า พื้นที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และจุดเชื่อมต่อรถโดยสาร ขสมก. และ บขส. ชั้น 2 และชั้น 3 เป็นชานชาลาของรถไฟสายต่างๆ รวมทั้งหมด 24 ชานชาลา
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ