กฤษฎีกาแยกประเภทที่ดินรกร้างให้รัฐเก็บภาษีเพิ่ม0.5%ทุก3ปี
คณะกรรมการกฤษฎีกา แบ่งประเภทที่ดินตามร่าง พ.ร.บ.เป็น 4 ประเภท หวังเพิ่มความชัดเจนการใช้ประโยชน์ จับแยกที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ออกจากประเภทที่ดินเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม โดยกำหนด 3 ปี ปรับภาษีเพิ่ม 0.5% แต่สูงสุดไม่เกิน 5% "วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ" ระบุ คลัง-มหาดไทย หารือรายละเอียดเงื่อนไขเก็บภาษีเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์และโฮมสเตย์ เพื่อเตรียมทำกฎหมายลูก
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณารายละเอียดตามร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... จากคณะกรรมการกฤษฎีกาหลังร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้วไปว่า จะมีการแยกที่ดินรกร้างไม่ได้ประโยชน์ตามควรออกมาเป็นที่ดินอีกประเภทหนึ่ง
โดยหากเจ้าของที่ดินไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินประเภท ดังกล่าวกำหนดให้ต้องให้มีการปรับการจัดเก็บภาษีเพิ่ม 0.5% ในทุกๆ 3 ปี แต่การปรับเพิ่มภาษีสูงสุดต้องไม่เกิน 5% สำหรับวัตถุประสงค์ที่พิจารณาให้แยกประเภทออกมานั้นก็เพื่อต้องการสร้างความแตกต่างของการใช้ประโยชน์ในที่ดินในแต่ละประเภทให้มีความชัดเจนมากขึ้น
ทั้งนี้ ในร่างกฎหมายเดิมนั้นได้กำหนดประเภทที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกเป็น 3 ประเภทคือ 1. ที่ดินเพื่อการเกษตร 2.ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย และ 3.ที่ดินประเภทอื่นๆ ซึ่งหมายรวมถึงที่ดินที่ใช้ประโยชน์เพื่อการพาณิชย์, ที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม, และที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามสมควรแต่การแบ่งประเภทของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในครั้งล่าสุดนี้จะทำให้มีที่ดิน 4 ประเภทคือ 1. ที่ดินเพื่อการเกษตร 2. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อการอยู่อาศัย 3. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม และ 4. ที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามสมควร
"การแยกที่ดินรกร้างออกมาอีกประเภทต่างๆ หากนั้นเพราะวัตถุประสงค์การใช้ที่ดินในประเภทที่ 3 จะมีทั้งเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรมซึ่งจะมีความแตกต่างจากที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือรกร้างว่างเปล่า" นายวิสุทธิ์ กล่าว
ส่วนการกำหนดอัตราภาษีสำหรับที่ดินรกร้างว่างเปล่าตามร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวนั้น จะกำหนดเพดานสูงสุดไม่เกิน 2% ของราคาประเมินของกรมธนารักษ์ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเริ่มมีผลบังคับใช้แล้วการกำหนดอัตราภาษีที่ใช้จริงอาจจะต่ำกว่าอัตราตามเพดานก็ได้
ทั้งนี้ การพิจารณาปรับเพิ่มภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่าทุกๆ 3 ปีนั้นถือว่าได้ให้เวลาเจ้าของที่ดินค่อนข้างจะนาน เนื่องจากการปรับจะอัตราจนเต็มเพดานสูงสุดตามกฎหมายกำหนดที่ 2% หรืออาจจะปรับเพิ่มให้ถึง 5% ซึ่งเป็นอัตราสำหรับบทลงโทษเจ้าของที่ดินว่างเปล่าก็ยังต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปี ซึ่งระยะเวลาที่ยาวนานเช่นนี้ก็เชื่อว่าคงไม่มีเจ้าของที่ดินรายใดจะปล่อยให้ที่ดินของตนต้องเป็นที่รกร้างอยู่อย่างนั้น
นอกจากนี้ นายวิสุทธิ์ ยังกล่าวถึงการเตรียมออกกฎหมายลูกเพื่อกำหนดเนื้อหารายละเอียดต่างๆ ให้สอดคล้องตามร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เช่น กรณีผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านหรือห้องชุดได้นำบ้านหรือห้องชุดของตนไปให้ผู้อื่นเช่าแล้วควรจะถูกจัดเก็บภาษีให้เช่าเพื่อที่อยู่อาศัยหรือให้เช่าเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งหากเก็บภาษีในเชิงพาณิชย์แล้วผู้ให้เช่าก็อาจจะผลักภาระภาษีไปยังผู้เช่าได้
แต่หากกำหนดให้การเช่าดังกล่าวถือเป็นการเช่าเพื่อการอยู่อาศัยแล้วการเสียภาษีก็จะต่ำกว่าการให้เช่าเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งอาจจะมีช่องโหว่ให้อาคารประเภท Service Apartment หรือ Home Stay เสียภาษีในอัตราการให้เช่าเพื่อที่อยู่อาศัยแทนที่จะจ่ายตามอัตราในเชิงพาณิชย์ ทั้งๆ ที่วัตถุประสงค์การให้เช่าของอาคารประเภทดังกล่าวมีไว้เพื่อการพาณิชย์ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยยังจะต้องมีการหารือกันเพื่อกำหนดเงื่อนไขเหล่านี้ให้มีความชัดเจนอีกด้วย
ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา