สตาร์ทอัพเนื้อหอม อสังหาฯจับมือร่วมลงทุน
Loading

สตาร์ทอัพเนื้อหอม อสังหาฯจับมือร่วมลงทุน

วันที่ : 8 มีนาคม 2560
สตาร์ทอัพเนื้อหอม อสังหาฯจับมือร่วมลงทุน

โชคชัย สีนิลแท้

ในยุคดิจิทัลได้มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาหรือส่งเสริมการใช้ชีวิตของคนเมืองให้ดีขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการพยายามที่จะยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นครอบคลุมในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการอยู่อาศัย การเดินทาง การทำงาน สุขภาพและการเงิน จึงเห็นการพัฒนาเทคโนโลยีในรูปแบบพร็อพเพอร์ตี้เทค หรือเออร์เบินเทคถูกหยิบยกมาใช้

บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และแก้ปัญหาให้กับธุรกิจในทุกด้าน จึงวางกลยุทธ์ทางด้านนวัตกรรม เพื่อผลักดันบริษัทไปสู่เออร์เบินเทค โดยใช้กลยุทธ์ 3 ส่วน ได้แก่ 1 อีโคซิสเต็มซัพพอร์ต Ecosystem Support คือการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในวงการสตาร์ทอัพเพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีและแนวคิดใหม่ๆ เป็นต้น 2.ฟันด์ ออฟ ฟันด์ Fund of Funds หรือการลงทุนใน VC ทั่วโลกที่มีศักยภาพ เพื่อทำความรู้จักกับผู้ร่วมลงทุน และ 3.คอร์ปอเรท เวนเจอร์ แคปิตอล Corporate Venture Capital หรือการลงทุนโดยตรงในบริษัท เทค สตาร์ทอัพ ซึ่งทั้ง 3 ส่วนจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้านนวัตกรรม

พร้อมเปิดตัวอนันดา เออร์เบินเทค ที่นำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนายกระดับการขับเคลื่อนองค์กรและโครงการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อให้ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาดและผู้บริโภค เริ่มจากการพัฒนาอนันดา แคมปัส สำนักงานชาญฉลาดที่จะสร้างรายได้ให้แก่บริษัทได้ 300% ในอีก 3 ปีข้างหน้า เปิดตัวโครงการนำร่อง บริการระบบ ฮอปคาร์ (Haupcar) หรือบริการ Car-Sharing ในโครงการไอดีโอคิวจุฬา-สามย่านและไอดีโอ โมบิ สุขุมวิทอีสท์เกสต์ พร้อมจับมือกับพันธมิตรอีกหลายราย อาทิ Hubba, Seedstars, Sasin, Builk ที่เชี่ยวชาญทางด้านสตาร์ทอัพมาร่วมกันคิดค้นนวัตกรรม

ฮอปคาร์ ซึ่งเป็นแนวคิดบริการคาร์แชร์ริ่ง คือหนึ่งในโซลูชั่นการประหยัดพลังงาน เป็นการแบ่งปันรถยนต์กันใช้ ในต่างประเทศมีรูปแบบการให้บริการคาร์แชร์ริ่ง 2 รูปแบบ คือ กรณีที่มีรถยนต์ส่วนตัว สามารถแบ่งให้ผู้อื่นมาเช่ารถของตนเองได้ และสอง กรณีที่มีแพลตฟอร์มเปิดให้เช่ารถยนต์ ซึ่งฮอปคาร์คือบริการในรูปแบบที่ 2 คือเปิดให้สามารถเช่ารถยนต์ตามจุดสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ ขับไปยังสถานที่ต่างๆ และจ่ายตามการใช้งานจริง เริ่มจากการดาวน์โหลดแอพ ทำการเลือกสถานที่ที่ใกล้ และเลือกเวลาที่ต้องการ หลังจากนั้นยืนยันการจอง พอถึงเวลาที่ต้องเดินทางสามารถใช้แอพ บัตรฮอปการ์ด ในการเปิด/ปิดประตู หลังจากนั้นก็ขับไปที่ไหนก็ได้ เพียงแต่เวลาคืนรถต้องนำกลับมาคืนจุดเดิม ซึ่งการคิดราคาจะรวมค่าน้ำมัน ประกัน การดูแลรักษาตามอัตราจริง

สรณัญช์ ชูฉัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) เปิดเผยว่า บริษัทเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพวงการยานยนต์ ได้เปิดตัวรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อบริการสาธารณะ ซึ่งออกแบบและพัฒนาโดยทีมงานคนไทยเพื่อเจาะกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ที่มีอยู่กว่า 3 แสนรายทั่วประเทศ ด้วยรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ที่ให้เช่าเดือนละ 3,500 บาท โดยใช้พลังงานไฟฟ้าแทนน้ำมันประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 50% ด้วยการออกแบบด้วยรูปลักษณ์ใหม่ ที่สะดวกสบายทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร

"เราเป็นสตาร์ทอัพที่ต้องการแก้ปัญหาด้านบริการขนส่งสาธารณะให้กับคนไทย เนื่องจากพิจารณาแล้วพบว่าตลาดยังสามารถเติบโตได้อีกมาก ตั้งเป้าผลิตในปีแรกจำนวน 200 คัน จากการสำรวจวินมอเตอร์ไซค์จำนวน 400 ราย แล้วพบว่าตลาดมีความต้องการ โดยในเดือน ก.ย.นี้จะเริ่มเปิดตัว คาดว่าภายใน 3 ปี จะครองส่วนแบ่งตลาดได้ 5% ของตลาดจักรยานยนต์รวม พร้อมกันนี้มีแผนจะจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งภาครัฐและเอกชนขยายสถานีแบตเตอรี่ไฟฟ้ากระจายทั่วกรุงเทพฯ ตามแนวรถไฟฟ้าให้ได้ 60 สถานี ภายในปีนี้" สรณัญช์ กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ จำนวนเงินเบื้องต้น 300 ล้านบาท เพื่อพัฒนารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อบริการสาธารณะให้เช่าในชื่อ ETRAN PROM (อีทราน พร้อม) เจาะกลุ่มผู้ใช้งานในกรุงเทพฯ เป็นปีแรก โดยเริ่มจากกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ ขณะเดียวกันก็ได้มีการเริ่มเจรจาว่าจะเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อใช้ในโครงการคอนโดมิเนียม ซึ่งมีลักษณะการให้บริการแบบวิ่งเป็นรอบเพื่อเชื่อมต่อการขนส่ง

สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าของบริษัทออกแบบเครื่องยนต์ขนาด 5kw ให้ความเร็วสูงสุด 80 กม./ชม. แบตเตอรี่ชนิด LifeP04 ขนาดความจุ 3Kwh ใช้งานได้ถึง 60 กม. ที่ความเร็วคงที่ 70 กม./ชม. มีแบตเตอรี่ให้สามารถเปลี่ยนได้ 3 ก้อน ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นดังกล่าวบริษัทมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 4.5 หมื่นบาท/คัน หลังจากบริษัทผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว ภายใน 3 ปีจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า จากนั้นมีแผนจะผลิตเรือข้ามฟากและเรือยอชต์ไฟฟ้า เป็นต้น

ไผท ผดุงถิ่น กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง บริษัท บิลค์ เอเชีย ผู้พัฒนาโปรแกรมบริหารธุรกิจก่อสร้างออนไลน์ บิลค์ สำหรับงานรับเหมาก่อสร้าง เปิดเผยว่า จากการพัฒนาโปรแกรมออนไลน์ทางด้านธุรกิจก่อสร้างมานาน 7 ปี พบว่าผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างรายขนาดกลาง-เล็กให้ความสำคัญกับการใช้โปรแกรมดังกล่าวเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานและลดต้นทุนการดำเนินงาน โดยปีที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการผ่านช่องทางดังกล่าวคิดเป็นมูลค่า 2.39 หมื่นล้านบาท และประเมินว่าปี 2560 ปริมาณการใช้งานผ่านช่องทางออนไลน์ของบิลค์นั้นจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท

"ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขยายตัวมากขึ้นทำให้ผู้ประกอบการต่างต้องเร่งปรับตัวหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ อย่างเช่น บิลค์ เพื่อควบคุมต้นทุน โดยมีฟีเจอร์อัพเดทสถานะการชำระเงินผ่านระบบ แมชีน เลิร์นนิ่ง สามารถตรวจสอบราคาวัสดุก่อสร้างออนไลน์ได้ทั่วประเทศ เป็นต้น" ไผท กล่าว ทั้งนี้ในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้รับเหมาก่อสร้างทั่วประเทศ 9 หมื่นราย และลงทะเบียนใช้บริการ บิลค์จำนวน 1.8 หมื่นราย จากปี 2559 ที่ใช้บริการจำนวน 6,699 ราย

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

 

 

 

ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ