ผ่าภาระเงินกู้รายย่อย ดอกเบี้ยสูง-ค่าต๋งแพง เชียร์คลังสางส่วนต่าง
สเปรดดอกเบี้ยฝาก-กู้8%
ชำแหละภาระเงินกู้กลุ่มรายย่อย-ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีทางเลือกน้อย ถูกแบงก์คิดดอกเบี้ยแพง แถมเจอค่าธรรมเนียมสูง พ่วงถูกบังคับซื้อประกัน และเรียกหลักทรัพย์คุ้มมูลหนี้ ต่างจากรายใหญ่ที่ได้รับการดูแลอย่างดี เชียร์แนวคิด รมว.คลังสางส่วนต่างดอกเบี้ยให้เป็นธรรม
กรณีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารคิดจากลูกค้ารายย่อยในอัตรา 7-8% ขณะที่ลูกค้ารายใหญ่จะคิดในอัตรา 1-2% เท่ากับมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยราว 5-6% แม้การคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงสามารถทำได้ แต่ขอฝากเป็นการบ้านให้สถาบันการเงินทบทวนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมนั้น
แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ยอมรับและเห็นด้วยกับแนวทางของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ขอให้ธนาคารในระบบทบทวนอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะการคิดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อย
ปัจจุบันธนาคารยังคิดอัตราดอกเบี้ยรายย่อยค่อนข้างสูง ซึ่งบางส่วนอาจจะอ้างถึงการบวกค่าความเสี่ยงโดยคิดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดีหรือ MRR บวก 3% หรือ บวก 5% ซึ่งแล้วแต่ละธนาคารจะกำหนด
"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ท่านเคยเป็นแบงเกอร์ เป็นประธานสมาคมแบงก์ผ่านมาแล้ว จึงย่อมเห็นแจ้งแทงตลอด เหมือนไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ โดยที่นายแบงก์ไม่สามารถจะปฏิเสธความเป็นจริงและการออกมาให้ข่าวครั้งนี้ เชื่อว่า รมว.คลังต้องการให้แบงก์และสมาคมแบงก์ได้ทบทวนการคิดอัตราดอกเบี้ยสำหรับรายย่อย เพราะแบงก์บวกดอกเบี้ยรายย่อยสูงมาก และที่ผ่านมาแบงก์ยังมีกำไรสูง ผมจึงเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ แบงก์ควรจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาเพื่อให้รายย่อยเขายังชีพได้"
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จะกำหนดกติกาให้ระบบธนาคารกันสำรองตามเกณฑ์บาเซล 3 เพื่อให้แต่ละธนาคารมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอย่างเพียงพอ ขณะเดียวกันปัจจุบันแต่ละธนาคารต้องดำรงเงินกองทุนเพิ่มเติมเพื่อสำรองยามฉุกเฉิน หรือเมื่อมีภาวะสินเชื่อขยายตัวมากเกินควร (Countercyclical Buffer) และเพื่อสำรองไว้ใช้ในภาวะเศรษฐกิจขาลง เหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนในการกันสำรองที่สูงขึ้นของระบบธนาคาร แต่ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันทุกธนาคารต่างระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อซึ่งเห็นได้จากไตรมาสแรกของปี2560 ทั้งสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อรายใหญ่แทบไม่โตสำหรับสินเชื่อรายใหญ่นั้น เป็นวงเงินใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ฯที่มีการบริการจัดการและความสามารถในการทำกำไรค่อนข้างดี ทำให้มีทางเลือกหลากหลายโดยไม่จำเป็นจะต้องกู้สินเชื่อจากระบบธนาคารอย่างเดียว แต่รายใหญ่มีทางเลือกในการระดมทุน ไม่ว่าจะออกตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ หรือตั๋วแลกเงิน (บี/อี) ก็ได้ ดังนั้นรายใหญ่จึงมีอำนาจต่อรองค่อนข้างสูง ที่ผ่านมาธนาคารในระบบจึงแข่งกันเสนออัตราดอกเบี้ยค่อนข้างถูกกับลูกค้ารายใหญ่
ทั้งนี้นอกจากอำนวยสินเชื่อหมุนเวียน(Working Cap) พวกเทรดไฟแนนซ์ แม้ต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำ แต่ธนาคารเจ้าหนี้ยังคาดหวังรายได้ที่มาจากการบริหารจัดการเงินสด (Cash Management)
ส่วนกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกมาระบุว่า ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ในระดับต่ำ 1-2% นั้น เชื่อว่าคงต้องการส่งสัญญาณยืนยันให้เห็นว่าในตลาดสินเชื่อยังมีการคิดอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันโดยไม่น่าจะมีเจตนาให้ธนาคารไปปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยรายใหญ่แต่อย่างใด
ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่มีทางเลือกหลากหลาย แต่ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ซึ่งหากเกิดความเสียหายก็จะมีมูลค่ามากกว่าลูกค้ารายย่อยๆ จึงเชื่อว่ารัฐมนตรีว่าการกระ ทรวงการคลังต้องการให้ธนาคารทบทวนดอกเบี้ยสำหรับรายย่อยมากกว่า และอาจจะรวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องรับอัตราดอกเบี้ยสูง แต่ธนาคารยังมีการคิดค่าธรรม เนียมบริการ หรือค่าประกัน (ชีวิต)และหลักประกันอีกต่างหาก หากพิจารณาบนความเป็นจริงต้นทุนที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแบกไว้ในระดับสูงเหล่านี้ทำให้เอสเอ็มอีไม่สามารถทำกำไรมาชำระดอกเบี้ยได้
แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวเพิ่มเติมว่า หากพิจารณาเฉพาะหมวดสินเชื่อรายย่อยนั้นจะพบว่าทั้งระบบยังมีการคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูง ไม่ใช่เฉพาะธนาคารพาณิชย์ แต่รวมถึงธนาคารต่างประเทศ และผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) รวมถึงสินเชื่อรถหมุนเงิน หรือรถแลกเงิน หรือบัตรเครดิตบางแห่งคิดอัตราดอกเบี้ย MRR+6% แม้กระทั่งแหล่งเงินกู้ของรายย่อย อย่างสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์คิดดอกเบี้ยอัตรา 3% ต่อเดือนหรือ36% ต่อปีสำหรับวงเงินกู้ 5 หมื่นล้านบาท เป็นต้น
นอกจากนี้ที่ผ่านมาตลาดได้ท้วงติงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างเงินกู้และเงินฝาก ซึ่งยังห่างกันมาก โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ประมาณ 7-8% หรือ 9% แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ยกว่า 1% เศษ
ด้านแหล่งข่าวอีกรายกล่าวว่า แนวคิดเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้น หากเทียบกับต่างประเทศจะเห็นว่าส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างรายใหญ่และรายย่อยแคบลงตามสภาพปัจจัยแวดล้อมของแต่ละธนาคารหรือถ้าดูในระบบธนาคารอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกยิ่งห่างกันมากเรียกว่าทำธุรกิจแทบจะลำบาก แต่ในไทยเราเป็นประเทศพัฒนาแล้วน่าจะปรับลดลงได้ เพราะหากย้อนกลับไป 15-20 ปีก่อนจะเห็นเป็นอัตรา 2 หลัก และได้ปรับลดลงมาปัจจุบัน ส่วนการจะปรับลดนั้นต้องดูแนวทางของ ธปท.และข้อจำกัดระหว่างธนาคารขนาดใหญ่กับเล็กด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ