ชงเก็บภาษีบ้านราคาสูงกว่า10ล้าน ลดลงจากข้อเสนอเดิมที่50ล้าน หวังขยายฐานโกยรายได้เข้ารัฐ
Loading

ชงเก็บภาษีบ้านราคาสูงกว่า10ล้าน ลดลงจากข้อเสนอเดิมที่50ล้าน หวังขยายฐานโกยรายได้เข้ารัฐ

วันที่ : 2 มิถุนายน 2560
ชงเก็บภาษีบ้านราคาสูงกว่า10ล้าน ลดลงจากข้อเสนอเดิมที่50ล้าน หวังขยายฐานโกยรายได้เข้ารัฐ

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลังสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยในงานสัมมนาเรื่อง "การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ภายใต้กรอบ พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" ซึ่งจัดโดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ว่า ล่าสุดคณะกรรมาธิการการเงินการคลังสภานิติบัญญัติ (สนช.) มีข้อเสนอให้ทบทวนอัตราภาษี สำหรับที่อยู่อาศัยจากราคาบ้าน 50 ล้านบาทต่อหลังขึ้นไป ลดลงมาเหลือ 10 ล้านบาทขึ้นไปถึงจะเสียภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งขณะนี้ สศค.กำลังอยู่ระหว่างหารือกับ สนช.เพิ่มเติม

 

ทั้งนี้ จากการสำรวจของ สนช.พบว่า บ้านอยู่อาศัยที่มีราคาเกินกว่า 50 ล้านบาท มีจำนวน 11,000 หลัง หากปรับลดลงมาเป็นบ้านต่ำกว่า 10 ล้านบาทได้รับการยกเว้นภาษี จะทำให้ฐานภาษีมีมากขึ้น โดยบ้านที่ราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปจะต้องเสียภาษี ซึ่งปัจจุบันจากข้อมูลพบว่า บ้านที่อยู่อาศัยทั้งระบบกว่า 90% มีราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวนี้ต้องศึกษาข้อมูลร่วมกันเพื่อสรุปอีกครั้งก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในปี 62

 

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ผ่านการพิจารณาจาก ครม.ได้กำหนดเพดานอัตราภาษี 3 อัตราคือ อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั่วไปไม่เกิน 0.5% ของมูลค่า โดยอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัยของตนเองไม่เกิน 0.1% ของมูลค่า ภาษีที่ดินที่ใช้ประกอบเกษตรกรรมไม่เกิน 0.05% ของมูลค่า

 

ส่วนแนวทางการจัดเก็บภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้น ต้องมีเครื่องมือในการประเมินสำรวจที่ดินจากการลงทะเบียนเกษตรกร เช่น การใช้ที่ดินปลูกพืชต้องปลูกกล้วยเกิน 200 ต้นต่อไร่ขึ้นไป จึงถือว่ามีอาชีพทำเกษตรเพื่อป้องกันการเลี่ยงภาษี จากผู้ไม่มีอาชีพเกษตรกรรม กรณีที่ดินว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดิน ใน 3 ปีแรกให้เสียภาษีในอัตราไม่ต่ำกว่าอัตราภาษีทั่วไปที่คณะกรรมการฯกำหนด แต่ไม่เกิน 0.5% ของราคา โดยคลังมองว่า เมื่อกฎหมายภาษีที่ดินบังคับใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้าจะผลักดันให้เอกชนได้ร่วมกันพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น

 

นายพรชัยยัง ได้กล่าวถึงแนวทางจัดเก็บภาษีที่ดินฯ กรณีที่ที่ดินมีมูลค่าสูงขึ้นเพราะได้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐหรือที่เรียกว่าภาษีลาภลอยนั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป เบื้องต้นกำหนดจัดเก็บภาษีอัตราไม่เกิน 5% ของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยจะจัดเก็บก็ต่อเมื่อมีการซื้อขายเปลี่ยนมือ หรือลงทุนเพิ่มเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ เหมือนกับภาษีมรดกจะเสียภาษีเมื่อมีการโอน ไม่ใช่การจัดเก็บรายปีในระหว่างครอบครอง

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

 

 

 

ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ