ลุยฟังความเห็นภาษีลาภลอย
คลังเปิดรับฟังความเห็นภาษีลาภลอย ชี้โครงการรัฐดันราคาประเมินที่ดินโดยรอบพุ่ง 150%
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ได้เปิดรับฟังความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. ... หรือที่รู้จักกันว่า การเก็บภาษีลาภลอย
สำหรับสาเหตุที่ออกกฎหมายนี้ เนื่องจากรัฐบาลได้ลงทุนโครงสร้าง พื้นฐานทั้งในปัจจุบันและอนาคตจำนวนมาก ทำให้มูลค่าที่ดินและห้องชุดบริเวณโครงการเพิ่มสูงขึ้น เห็นได้จากราคาประเมิน 2559-2562 เพิ่ม 100-150% เทียบกับราคาประเมิน 4 ปี ก่อนหน้า จึงเห็นว่าควรเก็บภาษีลาภลอย
ทั้งนี้ สาระสำคัญของกฎหมาย กำหนดผู้เสียภาษีลาภลอย คือ ผู้ขายที่ดินหรือห้องชุด เจ้าของที่ดินหรือ ห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในที่ดินเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท และ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของห้องชุดรอการขาย ซึ่งอยู่รอบพื้นที่ ที่มีโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ
นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษีจะมี 2 กรณี คือ 1.จัดเก็บระหว่างการดำเนินโครงการโดยจะเก็บจากการขายหรือ ที่ดินหรือห้องชุดทุกครั้ง รอบพื้นที่โครงการในรัศมีที่กำหนด และ 2.จัดเก็บเมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จ จากที่ดินหรือห้องชุดใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์มูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท ยกเว้นใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำเกษตรกรรม และเก็บจากห้องชุดของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่รอจำหน่าย โดยเก็บภาษีในปีถัดจากปีที่โครงการแล้วเสร็จเพียงครั้งเดียว
ขณะที่พื้นที่จัดเก็บภาษีกำหนดขอบเขตไว้ ดังนี้ 1.โครงการและพื้นที่ ที่อยู่ในรัศมีของโครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 2.5 กิโลเมตร (กม.) รอบสถานี 2.โครงการและพื้นที่ ในรัศมีสนามบิน 5 กม. จากแนวเขตห้ามก่อสร้างของสนามบิน 3.โครงการและพื้นที่ ที่อยู่ในรัศมีท่าเรือ 5 กม. จากแนวเขตที่ดินของท่าเรือ และ 4.โครงการและพื้นที่ในรัศมีโครงการทางด่วนพิเศษ 2.5 กม. รอบทางขึ้นและทางลง
ทั้งนี้ ผู้จัดเก็บภาษีคือ กรมที่ดิน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อัตราภาษีกำหนดเพดานสูงสุด 5% แต่จัดเก็บจริงจะพิจารณากำหนดโดยคณะกรรมการพิจารณากำหนดพื้นที่จัดเก็บภาษี โดยออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้ต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์