เปิดโมเดลค้าปลีก24ชม.ปั้นสามย่าน มิตรทาวน์
Loading

เปิดโมเดลค้าปลีก24ชม.ปั้นสามย่าน มิตรทาวน์

วันที่ : 8 มิถุนายน 2560
เปิดโมเดลค้าปลีก24ชม.ปั้นสามย่าน มิตรทาวน์

"โกลเด้นแลนด์" โชว์ยูนีคโมเดลโซนค้าปลีกสามย่านมิตรทาวน์ ชูจุดขายร้านค้า 24 ชั่วโมงศูนย์รวมอาหารควบเวิร์กช็อปพัฒนาอาชีพ เร่งเดินหน้าเจรจาคู่ค้าแม็กเนตเล็งเปิดชื่อปลายปีนี้ พร้อมทุ่ม 300 ล้านบาทขุดอุโมงค์เชื่อมรถไฟใต้ดิน ตอบโจทย์นิสิตจุฬาฯ-พนักงานออฟฟิศย่านพระราม 4 มั่นใจดึงลูกค้าเฉลี่ยเกิน 2 หมื่นต่อวัน คาดคืนทุนใน 10 ปี

นายธนพล ศิริธนชัย ประธานอำนวยการ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์ กล่าวว่า โครงการมิกซ์ยูสค้าปลีก-ออฟฟิศ-ที่พัก "สามย่านมิตรทาวน์" ขนาด 13 ไร่ มูลค่า 8,500 ล้านบาท ซึ่งบริษัทร่วมลงทุนกับทีซีซี แลนด์ในสัดส่วน 49% และ 51% นั้นคืบหน้าตามกำหนดเปิดบริการได้ช่วงปลายปี 2562 ส่วนงานโครงสร้างที่เป็นในส่วนของฐานรากได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว

คาดว่าพื้นที่รีเทลจำนวน 6 ชั้น รวม 36,000 ตร.ม. ซึ่งเป็นไฮไลต์จะซอฟต์ลอนช์ได้ในไตรมาส 4 ปี 2562 ด้วยจุดขายศูนย์รวมร้านอาหาร ร้านค้า เปิด 24 ชั่วโมงและเวิร์กช็อปฝึกอาชีพ อาทิ การทำอาหารและงานศิลปะ ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะมีจำนวนมากกว่า 37,000 คน ทั้งนิสิตจุฬาฯ ที่ต้องการแหล่งแฮงก์เอาต์พบปะสังสรรค์

รวมถึงบุคลากรของมหาวิทยาลัย คนทำงานและพนักงานออฟฟิศย่านพระราม 4 ที่มองหาร้านอาหารราคาย่อมเยาและภายในโครงการยังมีพื้นที่สำหรับสถาบันฝึกอบรมเพื่ออัพเกรดความสามารถหรือหาอาชีพเสริมให้กับคนที่สนใจ

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ลงทุน 300 ล้านบาทสำหรับเชื่อมอุโมงค์ที่มีความยาว กว่า 200 เมตรระหว่างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสามย่านเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าและคนทั่วไป

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับ คู่ค้าระดับแม็กเนตหลายรายทั้งกลุ่ม ซูเปอร์มาร์เก็ไต ร้านค้าและร้านอาหารเพื่อเป็นแม่เหล็กดึงดูดทั้งคู่ค้ารายย่อยและผู้บริโภค ซึ่งจะได้เห็นความชัดเจนภายในปีนี้

นอกจากนี้กำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะดึงร้านค้าดังจากย่านเยาวราชและสามย่านเข้ามาในศูนย์เพื่อสร้างฮับค้าปลีกบนเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินรองรับผู้บริโภคจาก กทม.ชั้นในและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนด้านของการบริหารศูนย์นั้นบริษัทจะเป็นผู้ดูแลเอง ในขณะที่ด้านการจัดการ อาทิ ความปลอดภัยจะใช้เอาต์ซอร์ซ

"ค้าปลีกยุคต่อไปต้องมองทั้งคนในและนอกพื้นที่ โดยเน้นที่คอนเซ็ปต์ ใครที่มีความชัดเจนและตอบโจทย์ ผู้บริโภคได้ตรงที่สุดจะสามารถดึงลูกค้าทั้งในและนอกพื้นที่เข้ามาได้ เห็นได้จากบรรดางานอีเวนต์-เอ็กซ์โปต่าง ๆ ที่ผู้บริโภคยอมเดินทางไปร่วม เมื่อรวมกับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าใต้ดินจะช่วยให้สามารถดึงผู้บริโภคได้ถึง 20,000-25,000 คนต่อวัน"

สำหรับอาคารสำนักงานพื้นที่ 48,000 ตร.ม.และที่พักซึ่งแบ่งเป็นคอนโดฯ 554 ยูนิตกับโรงแรมขนาด 104 ห้องที่เน้นรองรับนิสิตและบุคลากรจุฬาฯนั้นจะแล้วเสร็จในช่วงเวลาใกล้เคียงกับโซนค้าปลีก แต่ขณะนี้ยังไม่กำหนดเชนโรงแรมที่จะมาบริหาร เช่นเดียวกับค่าเช่าของทั้งค้าปลีก สำนักงานและคอนโดฯเนื่องจากต้องรอราคาอ้างอิงช่วงใกล้เปิดบริการอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าด้วยกลยุทธ์นี้จะสามารถชิงความได้เปรียบจากโครงการคู่แข่งในย่านพระราม 4 ที่จะทยอยเปิดตัว ในอีก 3-8 ปีและดึงดูดลูกค้าทั้งในพื้นที่ จุฬาฯ-สามย่าน สีลมรวมถึงเยาวราชได้แน่นอน และช่วยให้สามารถคืนทุนได้ภายใน 10 ปีตามที่ตั้งเป้าไว้

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

 

 

 

ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ