จ่อชงครม.รีดภาษีธุรกิจออนไลน์15%
สรรพากรเตรียมเสนอคลังพิจารณา ร่างก.ม.เก็บภาษีอี-บิสซิเนส เดือนก.ค.นี้ ยืนแนวทางจัดเก็บภาษีทุกธุรกรรม ที่มีการซื้อขายสินค้าและโอนเงินที่เกิดขึ้น ในไทย พร้อมกำหนดเพดานอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายสูงสุด 15% ของรายได้
กรมสรรพากรอยู่ระหว่างเปิดรับฟัง ความคิดเห็นจากประชาชน(เฮียริ่ง) ต่อร่างกฎหมายเรียกเก็งภาษีจากการทำธุรกิจผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร เพื่อนำความเห็นมาปรับปรุงร่างกฎหมายให้รอบคอบมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กำหนดให้การออกกฎหมายใหม่ฉบับใด จะต้อง เปิดรับฟังความเห็นประชาชนในระยะเวลา 15 วัน ทำให้การเสนอร่างกฎหมายให้ระดับนโยบายพิจารณาต้องเลื่อน ออกไปจากกำหนดเดิมที่จะเสนอ ภายในเดือนมิ.ย.2560
สรรพากรได้ใช้เวลาร่างกฎหมายนานหลายเดือน โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมวางแนวทางจัดเก็บภาษี ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารพาณิชย์ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องต่อการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีและการค้าขายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ จากภาครัฐและเอกชน
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดี กรมสรรพากร กล่าวว่า ขั้นตอนการเสนอร่างกฎหมายจะต้องผ่านกระบวนการ เฮียริ่ง ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อน ดังนั้น กำหนดเวลาที่จะเสนอร่างกฎหมายเพื่อพิจารณาในระดับนโยบายจึงต้องเลื่อนออกไป แต่มั่นใจว่า จะเสนอร่างกฎหมายให้ระดับนโยบายพิจารณาภายในเดือนก.ค.นี้
แนวคิดของการจัดเก็บภาษี e-Business เกิดขึ้น เมื่อธุรกิจการค้า มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยมีการ ค้าขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบออนไลน์กันมากขึ้น มูลค่าการ ซื้อขายบนโลกออนไลน์เท่าที่พอประเมินได้สูงนับล้านล้านบาท
สาระสำคัญของร่างกฎหมาย คือ ธุรกรรมการซื้อขายสินค้าและการโอนเงินที่เกิดขึ้นในไทย รวมถึงการดำเนินธุรกิจ บนวัตรกรรมการเงินรูปแบบใหม่อื่นๆ แม้ผู้ประกอบการจะไม่จัดตั้งอยู่ในไทยให้ถือว่า มีสถานประกอบการในไทย เข้าข่ายต้องชำระภาษีเช่นเดียวกันกับผู้ประกอบการในไทย
"เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ ถ้ามีธุรกรรมในไทย ไม่ว่าจะเป็นซื้อหรือขายสินค้าหรือให้บริการโดยเงินโอนในไทย แม้เขาไม่อยู่ในไทยให้ถือว่ามีสถานประกอบการในไทย ซึ่งต้องเสียภาษี อาทิ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม และ ภาษีเงินได้ต่างๆ"
กำหนดอัตราเก็บภาษีสูงสุด15%
สำหรับอัตราการจัดเก็บภาษี e-Business ขณะนี้ มีการปรับปรุงให้มีเพดานอัตราการจัดเก็บสูงสุดที่ 15% ของเงินได้ที่จ่าย จากเดิมที่มีแนวคิดจะจัดเก็บ 5% ของเงินได้ที่จ่าย โดยอัตรานี้ จะอิงตามมาตรา 70 ของประมวลรัษฎากร
อย่างไรก็ดี จะมีหลายอัตรา ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกรรม ซึ่งในร่างกฎหมายจะมีการแยกประเภทของธุรกรรมที่จะมีการจัดเก็บไว้อย่างชัดเจน และ จะมีข้อยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีให้ เช่น กรณีที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศของผู้ทำธุรกรรม
ทั้งนี้ มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากรระบุว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ไม่ได้ ประกอบกิจการในไทย แต่มีแหล่งเงินได้ที่เกิดขึ้นในไทย ที่เป็นเงินได้ที่พึงประเมินตามมาตรา 40(2)(3)(4)(5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในไทย ไม่ว่าบุคคลใดๆ ย่อมมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ตามแหล่งเงินได้ (Source Rule) กำหนดให้ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยผู้มีเงินได้ไม่ต้องมีหน้าที่ปฏิบัติภาษีอื่นใดอีก
การจัดเก็บดังกล่าว ก็เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบ โดยเฉพาะผู้เสียภาษีที่อยู่ในไทย ปัจจุบัน ธุรกิจเหล่านี้ ไม่เสียภาษี ดังนั้น จึงต้องวางแนวทางเก็บ เพื่อให้เข้ามาอยู่ในระบบ
สำหรับวิธีปฏิบัติ ในกฎหมายจะให้อำนาจสถาบันการเงิน เป็นผู้จัดเก็บภาษี หัก ณ ที่จ่าย แทนกรมสรรพากร เมื่อใดที่มีการโอนเงินเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการใดๆ บนโลกออนไลน์ต่างๆ สถาบันการเงินในไทย มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย 5% เพื่อนำไปชำระภาษีให้แก่กรมสรรพากร โดยสถาบันการเงินจะต้องทำหน้าที่ส่งรายการการหักภาษีมายังกรมสรรพากร
"จะมีแบบฟอร์มให้กับธนาคาร เพื่อให้ลูกค้าที่จะมีการทำธุรกรรมการโอนเงินใดๆ ผ่านธนาคารว่า การรับโอนเงินนั้นๆ เป็นการรับโอนตามปกติ หรือมีเป็นการรับโอนในเชิงธุรกิจ ลูกค้าจะเป็นผู้ที่แจ้ง จากนั้น ธนาคารจะส่งแบบฟอร์มนี้กลับมากรมฯ และ กรมฯ เป็นผู้ตรวจสอบ เหมือนกับการ เสียภาษีที่ผู้เสียภาษีจะยื่นแบบแสดงรายได้ ว่า ตนมีรายได้เท่าใด แต่กรมฯ จะเป็น ผู้ตรวจสอบว่าผู้ยื่นมีรายได้จริงตามที่แสดงหรือไม่"
ประเมินยอดธุรกรรมสูงล้านล้านบาท
นายประสงค์ กล่าวว่า การประเมินมูลค่าการทำธุรกรรมบนธุรกิจออนไลน์สูงหลักล้านล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ส่วนที่อยู่ในระบบ เช่น การจองตั๋วเครื่องบินผ่านระบบออนไลน์ หรือการชำระเงินของส่วนราชการและเอกชนต่างๆ และ 2.ส่วนที่ไม่อยู่ในระบบ เช่น การจ่ายค่าโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ค กูเกิล ไลน์ หรือ อูเบอร์ ในส่วนที่ไม่อยู่ในระบบนี้ รัฐบาลไม่ได้รับการชำระภาษีจากธุรกรรมใดๆ เลย
ตัวอย่าง กรณีการให้บริการแท็กซี่ของอูเบอร์นั้น ปัจจุบัน ไม่มีการเสียภาษี แม้จะดูเหมือนว่า อูเบอร์ทำธุรกิจเกี่ยวกับขนส่ง ซึ่งไม่มีภาระภาษี แต่จริงๆ แล้ว อูเบอร์ ไม่ได้ทำธุรกิจขนส่ง แต่กินหัวคิวค่าบริหารจัดการระบบ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ปัจจุบันเงินค่าบริการแท็กซี่ทุกๆ 100 บาท จะถูกโอนไปยังอูเบอร์ประเทศเนเธอร์แลนด์ จากนั้น อูเบอร์จะโอนเงินกลับมาให้คนขับแท็กซี่ 80 บาท ส่วน 20 บาท อูเบอร์จะหักออกเป็นค่าบริหารจัดการ แต่เงินทั้ง 100 บาท ไม่มีการเสียภาษีเลย
ประเมินกันว่า เม็ดเงิน 20 บาทที่ อูเบอร์หักไว้นี้ จะมีเม็ดเงินจริงประมาณ 2 พันล้านบาท แต่เงิน 2 พันล้านบาทนี้ กลับไม่มีการเสียภาษีแต่อย่างใด และรวมถึง เงิน 80 บาทที่คนขับแท็กซี่อูเบอร์ได้รับ ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย
"เงินนี้ ควรอยู่ในไทยไม่ใช่ไปอยู่ ต่างประเทศ ต้องมีการเสียภาษีบ้าง อย่างน้อย ต้องเสียแวต 7% และ หัก ณ ที่จ่าย เพราะถ้าเป็นธุรกิจในไทย ถือเป็นการเก็บภาษีตามมาตรฐานกฎหมายปกติคนที่ทำการค้า แต่ถ้าไม่ตั้งในไทย ต้องแก้กฎหมาย แม้เขาไม่อยู่ในไทย ถ้ามีกิจกรรมเกิดขึ้นในไทย แหล่งเงินได้อยู่ในไทย แม้ไม่อยู่ในไทย ก็ต้องเก็บ"
อย่างกรณีการซื้อโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ค ไลน์ หรือ กูเกิล โดยเม็ดเงินเหล่านี้ ได้ถูกโอนไปยังต่างประเทศ ทั้งที่โฆษณาทำให้ คนไทยได้ดู ซึ่งก็ต้องนับว่าเป็นการทำธุรกิจในไทยด้วยเช่นกัน
ขณะนี้ กรมฯไม่ทราบตัวเลขเม็ดเงินที่ใช้ในการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ดังกล่าว แต่ประเมินจากรายได้ของบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับโฆษณาที่มายื่นแบบชำระภาษีในปี 2559 ว่า รายได้หายไปราว 1 หมื่นล้านบาท นั่นอาจจะหมายความว่า เป็นเม็ดเงินที่ผันไป โฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ดังกล่าวก็ได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ