สั่งลดดอกเบี้ยบัตรเครดิต 2% ธปท.ลดภาระคนไทย 21 ล้านคนก่อหนี้ท่วมตัว
ธปท.ปรับเกณฑ์บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล ลดวงเงินสินเชื่อรายใหม่ คนมีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน กู้ไม่เกิน 1.5 เท่า และคุมเข้มสินเชื่อบุคคลขอได้ไม่เกิน 3 ราย วงเงินสูงสุดไม่เกิน 4.5 เท่า พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตลง 2% มีผลทั้งรายเก่ารายใหม่ ดีเดย์เริ่มวันที่ 1 ก.ย.2560
นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ประชาชนไทยที่มีอายุน้อยและมีรายได้ไม่สูงมากเริ่มก่อหนี้เพิ่มขึ้น และบางรายก่อหนี้จนเกินตัว รวมทั้งไม่สามารถที่จะชำระคืนหนี้ได้ โดยพบว่าปี 2552 คนไทยที่มีหนี้เพิ่มขึ้น 10% จาก 20% ของประชากรรวมเป็น 30% หรือ 21 ล้านคน ขณะที่วงเงินที่เป็นหนี้เพิ่มขึ้นด้วย โดยล่าสุดคนไทยมีหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 150,000 ล้านบาท และในจำนวน 21 ล้านคนนี้ มีลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ หรือเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สูงถึง 3 ล้านคน
ทั้งนี้ จากการศึกษาของ ธปท.พบว่า หนี้ครัวเรือนที่มีอัตราการก่อหนี้และมีความเสี่ยงสูงกว่าประเภทอื่นคือ 1.หนี้บัตรเครดิต และ 2.สินเชื่อบุคคล เพราะเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน สามารถก่อหนี้กับเจ้าหนี้ได้หลายราย ทำให้มีความเปราะบางในการก่อนหนี้ล้นพ้นตัว ขณะเดียวกัน ตัวเลขหนี้เอ็นพีแอลของทั้ง 2 ประเภทยังคงเพิ่มขึ้น โดยสิ้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา หนี้เอ็นพีแอลอยู่ประมาณ 2.9-3% ของสินเชื่อรวมในสินเชื่อทั้ง 2 ประเภท
"ธปท.ได้หารือกับสถาบันการเงิน และผู้ประกอบการบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล เพื่อปรับปรุงเกณฑ์วงเงินการให้สินเชื่อทั้ง 2 ประเภท =เพื่อให้เหมาะสมกับรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของแต่ละบุคคล ซึ่งกรณีนี้จะดำเนินการเฉพาะลูกหนี้ใหม่ที่ยังไม่เคยมีบัตรของธนาคารพาณิชย์ไม่ได้รวมลูกหนี้เดิมที่ได้รับสินเชื่ออยู่แล้ว อย่างไรก็ตามหากลูกหนี้มีความจำเป็นฉุกเฉินในชีวิต สามารถที่จะขอวงเงินสินเชื่อฉุกเฉินกรณีพิเศษเพิ่มเติมได้ซึ่งผู้ประกอบการบัตรเครดิตสามารถอนุมัติวงเงินและขยายเวลาในการชำระหนี้ให้เหมาะสมกับรายได้"
นอกจากนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีกำลังผ่อนหนี้น้อยให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ธปท.จึงได้ปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต และค่าธรรมเนียมลงจากเดิมที่คิดในอัตรา 20% ต่อปี ลงเหลือไม่เกิน 18% ต่อปี ซึ่งกรณีนี้ใช้กับลูกหนี้ทุกรายทั้งรายเดิมและรายใหม่ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2560 เป็นต้นไป
ด้านนายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า หลักเกณฑ์ใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้น ในส่วนของวงเงินสินเชื่อ จากเดิมที่กำหนดรายได้ขั้นต่ำที่ทำบัตรเครดิตได้อยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือน จะได้รับวงเงินสินเชื่อสูงสุดน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 เท่าของรายได้ แต่หลักเกณฑ์ใหม่ รายได้ขั้นต่ำที่ทำบัตรเครดิตได้ยังเป็น 15,000 บาทต่อเดือน แต่ปรับวงเงินสินเชื่อที่จะได้รับหากรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน จะได้รับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ และหากรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน จะได้รับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 3 เท่าของรายได้ แต่หากรายได้เกิน 50,000 บาทต่อเดือน วงเงินสินเชื่อยังเป็นไม่เกิน 5 เท่าของรายได้เช่นเดิม ซึ่งกรณีนี้ใช้เกณฑ์เฉพาะผู้สมัครบัตรใหม่ไม่กระทบผู้ถือบัตรเดิม
ขณะที่ในส่วนของสินเชื่อบุคคลนั้น หลักเกณฑ์จะมีความเข้มงวดมากกว่าบัตรเครดิต เนื่องจากลูกค้าของสินเชื่อส่วนบุคคลจะเป็นผู้มีรายได้ต่ำกว่าลูกค้าบัตรเครดิต โดยกำหนดรายได้ขั้นต่ำที่จะขอสินเชื่อส่วนบุคคล จากเดิมที่สามารถขอสินเชื่อได้ 5 เท่าของรายได้ ธปท.ปรับเกณฑ์ใหม่เป็นผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน จะขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ และกำหนดให้ขอสินเชื่อได้จากผู้บริการไม่เกิน 3 รายเท่านั้น หรือวงเงินสูงสุดที่จะได้คือไม่เกิน 4.5 เท่า แต่หากลูกค้ามีรายได้มากกว่า 30,000 บาท ยังคงได้สินเชื่อไม่เกิน 5 เท่าของรายได้เช่นเดิม ทั้งนี้ สินเชื่อส่วนบุคคลที่เข้าเกณฑ์จะเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันและบัตรกดเงินสดเท่านั้น ไม่รวมสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อมอเตอร์ไซค์ สินเชื่อเพื่อการศึกษา สินเชื่อเพื่อการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ และสินเชื่อสวัสดิการพนักงาน
สำหรับจำนวนบัตรเครดิตสูงสุดที่มีได้ ไม่ได้กำหนดจำนวนใบ แต่เตือนระวังถ้าลูกค้ามาขอใบที่ 4 หรือใบที่ 5 ต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นเนื่องจากผู้ที่มีบัตรเครดิตในปัจจุบันเฉลี่ย 4 ใบต่อคน ซึ่งไม่ได้สูงมากเหมือนที่ผ่านมาที่บางคนมีเป็น 10 ใบ ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลนั้น ผู้ที่สมัครส่วนใหญ่มีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำกว่า จึงต้องมีกำหนดเพื่อให้สอดคล้องกับรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อลดความเปราะบางของหนี้ครัวเรือน
ต่อข้อถามที่ว่า ทำไม ธปท.จึงไม่ลดเพดานดอกเบี้ยของสินเชื่อบุคคลด้วย นางฤชุกร กล่าวว่า เนื่องจากลูกค้าที่มีขอสินเชื่อบุคคลส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่นๆ ดังนั้น หากมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงอาจจะทำให้ผู้ประกอบการบางรายรู้สึกว่า ไม่คุ้มกับความเสี่ยงของลูกค้าบางประเภท ทำให้ลูกค้าไม่ได้รับสินเชื่อในระบบและอาจจะเป็นการผลักลูกหนี้ออกไปเป็นหนี้นอกระบบมากขึ้น