ธปท.หวังเศรษฐกิจครึ่งหลังโตแกร่ง ดัน จีดีพี ทั้งปีขยายตัว 3.5%
Loading

ธปท.หวังเศรษฐกิจครึ่งหลังโตแกร่ง ดัน จีดีพี ทั้งปีขยายตัว 3.5%

วันที่ : 1 สิงหาคม 2560
ธปท.หวังเศรษฐกิจครึ่งหลังโตแกร่ง ดัน จีดีพี ทั้งปีขยายตัว 3.5%

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจการเงินเดือนมิ.ย.และไตรมาส 2 ปี 2560โดยมองว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังไม่แข็งแกร่ง แรงผลักดันการบริโภคในประเทศไม่แข็งแรง หวังการใช้จ่ายงบลงทุนภาครัฐหนุนจีดีพี ครึ่งปีหลังโต3.7% มีรายละเอียดดังนี้

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แถลงว่า  เศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 2 ขยายตัวต่อเนื่อง ใกล้เคียงกับไตรมาสแรกที่ผ่านมาที่ขยายตัวในระดับ 3.3%  มีแรงขับเคลื่อนหลักๆ จากการส่งออกที่เติบโตดี และโตแบบ ทั่วถึงมากขึ้น ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกการส่งออกของไทยมีการเติบโตในระดับ 7.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

"ผ่านมา 6 เดือนการส่งออกขยายตัว ดีกว่า คาดการณ์ของธปท.ที่คาดว่าทั้งปีการส่งออกจะขยายตัวที่ 5% อย่างไรก็ตาม คาดว่าในเดือนก.ค.นี้จะเป็นเดือนสุดท้ายที่เห็นการขยายตัวใกล้เลข 2 หลัก เพราะปีที่ผ่านมาเป็นเดือนที่มีฐานต่ำสุด หลังจากนั้น การส่งออกก็ขยับขึ้น การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจึงน่าจะขยายตัวน้อยลง หรือโตประมาณ 4% ทำให้การส่งออกทั้งปีโตที่ 5%"

สำหรับการบริโภคในประเทศเดือนมิ.ย.ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะในหมวดสินค้าบริการและสินค้าคงทน แต่หากมองทั้งไตรมาส พบว่าชะลอตัวจากช่วงไตรมาสแรก ที่มีการบริโภคสินค้าคงทนสูง ทั้งรถยนต์ และ รถกระบะ เช่นเดียวกับด้านบริการ ที่เห็นการขยายตัวต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ดีเท่าไตรมาสแรก

เมื่อมาดูปัจจัยที่สนับสนุนการบริโภคในประเทศ ดูแล้วไม่ค่อยแข็งแรงมากนัก แม้ว่ารายได้ผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม แต่ถูกถ่วงด้วยความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับลดลง จากความกังวลเรื่องแนวโน้มราคาสินค้าเกษตร และโอกาสในการหางานทำที่ยากขึ้นในอนาคต ส่งผลให้ผู้บริโภคบางส่วนยังระมัดระวังเรื่อง การใช้จ่าย

"จะเห็นได้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในรอบนี้ หลายเรื่องเป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้าง เช่นในอุตสาหกรรมค้าปลีก จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ ลงมาแข่งขัน และทำเรื่องอีคอมเมิร์ซ ทำให้มีคนบ่นว่าหางานยาก ซึ่งก็ไม่แน่ว่า ถึงแม้เศรษฐกิจจะโต 5%แต่ยังจะมีคนบ่นอยู่ เราก็จะไปดูว่าเป็นกลุ่มไหนบ้าง"

ด้านการลงทุนภาคเอกชน ยังคงหดตัว ต่อเนื่อง ซึ่งก็ต้องลุ้นว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ตามคาดการณ์ที่มองว่าการลงทุนเอกชนจะขยายตัว 1.8% หรือไม่ เมื่อมาดูในรายละเอียด พบว่าการลงทุนที่หดตัวหลักๆมาจากภาคการก่อสร้าง เป็นผลมาจากสภาพภูมิอากาศที่ฝนมาเร็ว และโครงการลงทุนรัฐบาลล่าช้า เมื่อการก่อสร้างหด การผลิตเหล็ก วัสดุก่อสร้างไม่ดี ก็เป็นตัวถ่วง ของหลายๆตัว ขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกโดยรวมขยายตัวได้ดี

ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ หรือในช่วงไตรมาส 4ปีที่ผ่านมา และไตรมาส 1 ปีนี้ รัฐบาลได้มีการเร่งการเบิกจ่ายไปมากแล้วแต่ในช่วงครึ่งปีหลังการเบิกจ่ายภาครัฐน่าจะปรับตัวดีขึ้น จากการเบิกจ่ายงบกลางปีและการลงทุนในโครงการต่างๆ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ ในเดือนมิ.ย.อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 0.05% ใกล้เคียง กับที่ติดลบ 0.04% ใน เดือนก่อน ตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และราคาอาหารสดที่ลดลง โดยเฉพาะราคาผักและผลไม้จากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากในปีนี้ และผลของฐานสูงเพราะภัยแล้งในปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.45% ใกล้เคียงกับเดือนก่อน  ส่วนอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลปรับลดลง จากเดือนก่อนเล็กน้อย

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังนั้น การฟื้นตัวน่าจะแข็งแกร่งกว่าในครึ่งปีแรก และทั้งปีขยายตัวที่ 3.5% แม้ว่าภาคการส่งออกจะชะลอตัว ขณะที่ การใช้จ่ายของภาครัฐจะมีเม็ดเงินออกมามากขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยเฉพาะ การเบิกจ่ายงบกลางปี

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนก็น่าจะขยายตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งธปท.มองว่า การลงทุนภาคเอกชนในปีนี้จะขยายตัวได้ที่ระดับ 1.8% จากในช่วงไตรมาสแรกของปีที่ติดลบไป1.1%  และมั่นใจว่าการส่งออกจะเติบโตได้ 5% โดยหากจะทำให้จีดีพีทั้งปี โต 3.5% ในช่วงครึ่งปีหลังจีดีพีจะต้องเติบโตเฉลี่ยประมาณ 3.7% บนพื้นฐานว่าใน ช่วงครึ่งปีแรกจีดีพีโตที่ 3.3%

เกินดุลบัญชีเดินสะพัดพุ้งฉุดบาทแข็ง

กรุงเทพธุรกิจ นายดอน นาครทรรพ  ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. บอกว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดใน เดือนมิ.ย.ยังคงเกินดุลตามดุลการค้าที่ เกินดุลจากมูลค่าการส่งออกสุทธิที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากการออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของภาคธุรกิจไทย และการออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ ต่างประเทศของนักลงทุนไทย ทั้งในตราสารหนี้ และตราสารทุน รวมถึงการนำเงินออกไปฝากในต่างประเทศของสถาบันรับฝากเงินเพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศ และการลงทุนของกองทุนรวม

"เดือนมิ.ย.เรายังเกินดุลสูงถึง 4.3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมีผลทำให้ค่าเงินบาท แข็งค่าขึ้นโดดเด่นกว่าภูมิภาค และมีความผันผวนในระหลังมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 3-4เดือนก่อนหน้า ตามค่าเงินดอลลาร์"

ทั้งนี้ แม้ว่าค่าเงินจะแข็งค่ามากกว่า สกุลอื่น แต่ไม่มีผลต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ส่งออก เพราะค่าเงินบาท ที่แข็งกว่า ถูกหักล้างด้วยเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ต้นทุนเราถูกกว่าที่อื่น ทำให้ดัชนีค่าเงินที่แท้จริงอยู่ในระดับเดียวกัน นั่น เป็นเหตุผลว่าทำไมไทยยังส่งออกได้ดีแม้ว่าค่าเงินบาทแข็งค่า

อย่างไรก็ตามเงินบาทแข็งอาจจะมีผลต่อกำไรของผู้ส่งออกเมื่อแปลงค่าเงินกลับมาเป็นเงินบาท ผู้ส่งออกจึงควรทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ โดยปัจจุบันมีผู้ส่งออกบางรายไม่ประกันความเสี่ยง เพราะมองว่าเงินบาทคงไม่หลุด 33 บาทต่อดอลลาร์

แต่ไม่มีใครบอกได้ว่าค่าเงินจะอยู่ที่เท่าใด เพราะมุมมองตลาดต่อสถานการณ์ต่างๆเปลี่ยนแปลงเร็ว เช่นปัจจุบันตลาดมองว่าโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้มีแค่ 40% แต่ธปท.ยังเชื่อว่าเฟดจะยังขึ้นดอกเบี้ยอีกในปีนี้ เพราะมองพื้นฐานเศรษฐกิจสหรัฐยังไปได้

 
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ