รถไฟทางคู่ สายเหนือ เชื่อมไทย-เอเชีย
Loading

รถไฟทางคู่ สายเหนือ เชื่อมไทย-เอเชีย

วันที่ : 5 กันยายน 2561
"รถไฟทางคู่" สายใหม่ที่ประชาชนในพื้นที่ต่างรอคอยกันมานาน หวังว่าจะช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้การเดินทางสะดวกรวดเร็วมากขึ้น คงหนีไม่พ้นสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323.10 กิโลเมตร (กม.)
โครงการรถไฟทางคู่สายนี้ ถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 ที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการให้ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา

โดยถือเป็นรถไฟสายประวัติศาสตร์สายแรกนับตั้งแต่รัฐบาลในอดีตได้เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2503 และเริ่มศึกษาความเหมาะสม ในการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2507 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 58 ปีแล้วที่รอคอย

มูลค่าของโครงการอยู่ที่ 85,345 ล้านบาท มีจุดเริ่มต้นที่สถานีเด่นชัย จังหวัดแพร่ มุ่งไปทางทิศเหนือผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ ลำปาง พะเยา และสิ้นสุดที่ด่านพรมแดนเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีสถานีทั้งสิ้น 26 สถานี ประกอบด้วย สถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี สถานีขนาดเล็ก 9 สถานี และป้ายหยุดรถ 13 แห่ง

มีลานขนถ่ายสินค้าจำนวน 4 แห่ง และย่านกองเก็บและบรรทุกตู้สินค้า 1 แห่ง ที่สถานีเชียงของ บนพื้นที่ 150 ไร่ พร้อมแนวถนนเชื่อมต่อด่านชายแดนเชียงของ

โครงการนี้มีจุดเด่นที่สำคัญ คือ เป็นโครงการที่ก่อสร้างโดยไม่มีจุดตัดทางแยกรถไฟ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยบนเส้นทาง

มีการออกแบบรั้วกั้นเขตแนวสายทาง และออกแบบสะพานรถไฟ สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ ทางรถยนต์ลอดรถไฟ ทางเชื่อมรวมและกระจายจราจร ตลอดจนสะพานลอย ทางเท้า และทางรถจักรยานยนต์ข้ามและลอดทางรถไฟ รวมประมาณ 254 จุด ตลอดแนวเส้นทาง และยังมีอุโมงค์คู่ตามแนวเส้นทางที่พาดผ่านพื้นที่ภูเขา รวมระยะทางประมาณ 13.9 กม. เพื่อให้สามารถเพิ่มระดับความเร็วในการเดินทางขนส่งได้อย่างปลอดภัย

เบื้องต้น กำหนดการก่อสร้างออกเป็น 3 สัญญา คือ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 104 กม. วงเงิน 26,704 ล้านบาท สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 135 กม. วงเงิน 28,735 ล้านบาท และสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 84 กม. วงเงิน 17,482 ล้านบาท มีค่าเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ 10,660 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษา 1,764 ล้านบาท

หลังจาก ครม.อนุมัติแล้ว การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะต้องเสนอคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง (ซุปเปอร์บอร์ด) ที่มีนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธาน พิจารณาให้ข้อคิดเห็นและให้ความเห็นชอบเรื่องกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เช่นเดียวกับโครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางแรก ตั้งเป้าหมายเปิดประมูลหาผู้รับเหมาเข้ามาก่อสร้างในปีนี้ และใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี

มีการประเมินไว้ว่า เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2566 จะรองรับผู้โดยสารได้ถึง 5,600 คน/วัน และรองรับได้ถึง 9,800 คน/วัน ในปี 2595 สร้างอัตราการเติบโตของผู้โดยสารได้ถึงร้อยละ 1.95 ต่อปี และอัตราการเติบโตของสินค้าประมาณ ร้อยละ 4.65 ต่อปี สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ถึง 413,417 ทีอียูต่อปี ในปี 2566 และเพิ่มเป็น 951,955 อีทียูต่อปี ในปี 2595 จะช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตของมูลค่าการนำเข้า-ส่งออก ผ่านด่านเป็นร้อยละ 30-40 ต่อปี

คาดหวังว่าโครงการนี้จะเป็นเส้นทางสำคัญเพื่อเชื่อมเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ เชื่อมอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟของ สปป.ลาว ที่จะมุ่งตรงสู่เมืองคุนหมิง ประเทศจีน และยังสามารถขนถ่ายสินค้าออกสู่ทะเลทางท่าเรือแหลมฉบังได้ด้วย ยังเป็นการรองรับนโยบายจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย (SEZ) เป็นการเติมเต็มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมของไทยให้สมบูรณ์ และเป็นการพลิกโฉมจังหวัดเชียงรายให้เป็นโลจิสติกส์ ซิตี้ ของภูมิภาคในอนาคต

นายพรเทพ อินทะชัย ประธานหอการค้า จ.เชียงราย ให้ความเห็นต่อการผุดรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น ปกติพื้นที่ภาคเหนือเป็นแหล่งเกษตรกรรมขนส่งพืชผลไปยังกรุงเทพฯ และภาคกลางทางถนนเป็นหลัก ใช้ต้นทุนสูงเฉลี่ยกิโลเมตรละ 1-1.50 บาทต่อตัน แต่หากขนส่งสินค้าไปทางรถไฟแล้วต้นทุนจะต่ำกว่ามาก อาจลดเหลือเพียงกิโลเมตรละเพียง 30 สตางค์ต่อตัน และใช้เวลาขนส่งเร็วกว่า ยังทำให้ จ.เชียงราย เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคเพราะมีเมืองใหญ่ๆ ในประเทศเพื่อนบ้านตั้งอยู่รายรอบไม่ว่าจะเป็นเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ที่อยู่ห่างขึ้นไปประมาณ 600 กิโลเมตร เมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม ประมาณ 1,000 กิโลเมตร เมืองเนปยีดอ ประเทศเมียนมา ประมาณ 1,000 กิโลเมตร และกรุงเทพฯห่างลงไปประมาณ 1,000 กิโลเมตร แต่ละเมืองต่างเป็นเมืองใหญ่ที่ต้องการการเชื่อมโยงถึงกันอยู่แล้ว

ด้าน นายกิตติ ทิศสกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.เชียงราย กล่าวว่า เชียงรายมีรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2560 ประมาณ 27,000 ล้านบาท และในปี 2561 คาดว่าจะโตขึ้นอีกราว 11% นักท่องเที่ยวไปเยือนถึง 3 ล้านคน ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวมาเชียงรายโดยรถยนต์ เครื่องบิน และทางเรือแม่น้ำโขง หากมีเส้นทางรถไฟที่สะดวก รวดเร็ว ราคาถูก จะเป็นทางเลือกช่วยทำให้การท่องเที่ยวของ จ.เชียงราย โตขึ้นถึงกว่า 20%

ด้าน นายสงวน ซ้อนกลิ่นสกุล รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย ฝ่ายโลจิกติกส์และจีเอ็มเอส และเป็นนักธุรกิจที่ อ.เชียงของ กล่าวว่า การขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์จากเชียงรายไปยังจีนตอนใต้ใช้การขนส่งทางรถผ่านถนนอาร์สามเอใน สปป.ลาว หากมีรถไฟสายใหม่เกิดขึ้น ทำให้การขนส่งสะดวกโดยเฉพาะหากมีเส้นทางรถไฟจากจีน-สปป.ลาวมาเชื่อม สินค้าที่มีโอกาสมากคือสินค้าของสดที่ต้องการควบคุมคุณภาพ และแนวโน้มการพัฒนาที่เชียงของดังกล่าวได้ทำให้ราคาที่ดินโดยเฉพาะบนทางหลวง 1020 เชียงราย-เทิง สูงถึงไร่ละ 3 ล้านกว่าบาท และหากใกล้สะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 เชื่อมกับถนนอาร์สามเอก็จะสูงถึงกว่า 6 ล้านบาทเลยทีเดียว

ขณะที่ นายอธิภูมิ กำธรวรรินทร์ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง และประธานสภาอุตสาหกรรม กลุ่มภาคเหนือตอนบน 1 กล่าวว่า หากโครงการรถไฟดังกล่าวเปิดการเดินทางทั้งคน และการขนส่งสินค้า เป็นสิ่งที่ดีมาก แม้จะผ่านพื้นที่อำเภอเดียวของ จ.ลำปาง แต่มองว่าเส้นทางรถไฟดังกล่าวที่ไม่ผ่านตัวกลางจังหวัด ทาง จ.ลำปางก็อาจจะไม่ได้รับประโยชน์มากที่ควร หากผู้ประกอบการหรือประชาชนจะใช้บริการ ก็ต้องเดินทางขึ้นไปยัง อ.งาว ระยะทางอีกกว่า 70 กิโลเมตร จากตัวเมืองลำปาง และเส้นทางไปยังอำเภอดังกล่าวก็คดเคี้ยวที่ต้องผ่านหุบเขาด้วย ดังนั้น การขนส่งสินค้าหรือตั้งใจจะขึ้นไปใช้บริการก็ไม่สะดวกเท่าที่ควร หากเทียบกับโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะผ่านพื้นที่ตอนกลางของลำปางถือว่าจะมีประโยชน์มากกว่า ดังนั้น เส้นทางรถไฟทางคู่ดังกล่าว จึงยังไม่ตอบโจทย์ และเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ จ.ลำปางมากนัก แต่เป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ อ.งาว จ.ลำปางอย่างมาก

จากนี้ไปคงต้องนับถอยหลังเพื่อต้อนรับเส้นทางรถไฟทางคู่มูลค่า 8.5 หมื่นล้านบาท เป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่รอคอยมานานแล้ว เป็นการเชื่อมประเทศไทย เชื่อมเอเชียไว้ด้วยกัน และยังมีผลต่อการเชื่อมเส้นทางทวีปอื่นในอนาคตต่อไป
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ