คลังข่มธปท.-ข้อมูลปึ้ก76จว. ชี้ศก."3ภาค"ฟื้นซัด-ลงทุนพุ่ง
Loading

คลังข่มธปท.-ข้อมูลปึ้ก76จว. ชี้ศก."3ภาค"ฟื้นซัด-ลงทุนพุ่ง

วันที่ : 4 พฤศจิกายน 2561
เผยปีนี้ผุดคอนโดใหม่ในกรุงเทพฯเกือบ 7 หมื่นยูนิต สูงสุดในรอบ 30 ปี โดยเฉพาะจีนซื้อใช้อยู่อาศัยและขายเก็งกำไร ยังไม่พบสัญญาณฟองสบู่ ผู้ประกอบการเงินทุนแข็งแกร่ง
          หอเหนือเผย2ปมสะดุด จี้รัฐอัดฉีดเพิ่มโปรเจ็กต์ อสังหาเร่งเคลียร์%ดาวน์
          เผยปีนี้ผุดคอนโดใหม่ในกรุงเทพฯเกือบ 7 หมื่นยูนิต สูงสุดในรอบ 30 ปี โดยเฉพาะจีนซื้อใช้อยู่อาศัยและขายเก็งกำไร ยังไม่พบสัญญาณฟองสบู่ ผู้ประกอบการเงินทุนแข็งแกร่ง

          'บิ๊กตู่'พอใจคะแนนธุรกิจไทยดีขึ้น
          เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พอใจผลคะแนนความยากง่ายในการทำธุรกิจไทย หรือ Doing Business 2019 รายงานโดยธนาคารโลกล่าสุด ประเทศไทยมีความก้าวหน้า ด้วยคะแนน 78.45 จากคะแนนเต็ม 100 เพิ่มจากปีที่แล้วที่ได้คะแนน 77.39 แม้ว่าอันดับจะตกลงไป 1 อันดับจากอันดับที่ 26 เป็น 27 แต่ยังคงเป็น 30 ประเทศแรกจาก 190 ประเทศทั่วโลก

          "นายกฯเน้นย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการปฏิรูปกฎระเบียบตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพื่อลดช่องว่างของมาตรฐานประเทศไทยกับมาตรฐานระดับสูงของโลก จากรายงานระบุว่า ประเทศไทยปฏิรูปได้ดีใน 4 ด้านสำคัญ คือ 1.การเริ่มต้นธุรกิจ มีค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนลดลง 2.การขอใช้ไฟฟ้าหรือการเข้าถึงไฟฟ้า มีความสะดวกสบายมากขึ้น ปรับลดขั้นตอนการขอเชื่อมไฟฟ้า และเพิ่มความโปร่งใสในการเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมไฟฟ้า 3.การชำระภาษี มีการปรับปรุงระบบการคำนวณและยื่นแบบภาษีรายได้นิติบุคคลทางระบบออนไลน์ และ 4.การค้าระหว่างประเทศ ได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Matching System) มาใช้ในการควบคุมตู้สินค้า ช่วยลดระยะเวลาในการขนถ่ายสินค้าข้ามแดนได้" นายพุทธิพงษ์กล่าว

          กำชับเร่งปรับปรุงทุกด้าน
          นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่มีการปฏิรูปด้านการขอใช้ไฟฟ้ามากที่สุด ได้คะแนนสูงถึง 98.57 คะแนน ใกล้เคียงกับแนวปฏิบัติที่ดีเลิศของโลก ส่วนตัวชี้วัดด้านการแก้ไขปัญหาล้มละลายเป็นประเด็นท้าทายของโลกนั้น ไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 75.64 เมื่อปีก่อน เป็น 76.64 ในปีนี้ ทั้งนี้ นายกฯชื่นชมธนาคารโลกที่ได้สะท้อนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ทำให้ทั่วโลกเห็นความก้าวหน้าของประเทศ ส่วนเรื่องใดที่ไทยยังมีจุดอ่อนก็จะเร่งปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป พร้อมทั้งฝากขอบคุณที่เห็นว่าไทยมีความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงบรรยากาศในการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการเอกชน ซึ่งจะช่วยให้คนไทยมีงานที่ดีขึ้นและนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม รวมทั้งการสนับสนุนในเรื่องต่างๆ ที่ธนาคารโลกมีต่อประเทศไทย

          คลังโต้ธปท.ยันศก.ภูมิภาคขยายตัว
          นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคเหนือและภาคใต้ ระบุว่าเศรษฐกิจทั้ง 2 ภาคไตรมาส 3 ยังไม่ค่อยดีขึ้นว่า สศค.จัดทำรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2561 พบว่าเศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องในหลายภูมิภาค นำโดยภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนรวมถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี ข้อมูลที่ สศค.มีอาจแตกต่างกับ ธปท.เนื่องจากวิธีการเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์อาจไม่เหมือนกัน โดย สศค.ขอให้คลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศรวบรวมข้อมูลตรงของทุกจังหวัด ซึ่งได้รับการสนับสนุนข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

          ชี้ศก.ภาคเหนือฟื้นตัว-3จว.ชัด
          นายพรชัยกล่าวว่า กรณีภาคเกษตรกรรมภาคเหนือที่ข่าวบอกว่าไตรมาส 3 รายได้เกษตรกรชะลอทั้งผลผลิตและราคานั้น จากการสำรวจของ สศค.และกรมบัญชีกลางสำรวจเมื่อเดือนตุลาคมเป็นข้อมูลที่ใหม่กว่าพบว่าผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยเติบโตสูงกว่าเดือนก่อนหน้า เนื่องจากสภาพอากาศที่ดี มีฝนเพียงพอ อีกทั้งยังมีความต้องการส่งออกไปยังต่างประเทศ ส่วนในด้านราคาในภาพรวมโดยเฉลี่ยยังขยายตัวเช่นกัน ส่งผลให้กำไรของเกษตรกรภาคเหนือขยายตัวมากกว่าเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยเฉพาะลำไยจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งผลผลิตและราคาปรับสูงขึ้นทำให้กำไรเกษตรกรเพิ่มขึ้น

          นายพรชัยกล่าวว่า จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือในเดือนกันยายน และไตรมาส 3 ของ สศค.พบว่า ภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือเศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวที่ 2.3% ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดตาก นครสวรรค์ และเชียงใหม่ เป็นต้น ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัว 1.5% ต่อปี เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัว 11.7% ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิกอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 6.7% และ 7.8% ต่อปีตามลำดับ

          นายพรชัยกล่าวว่า นอกจากนี้ เม็ดเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัว 27.8% ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดตากและเชียงใหม่ เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่ 3.6% และ 8.4% ต่อปีตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 0.8% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

          นายพรชัยกล่าวว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคเหนือยังอยู่ที่เกณฑ์ดีที่ระดับ 73.6 โดยจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมและการบริการเป็นหลัก ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวตามแนวโน้มของเศรษฐกิจภูมิภาค และความต้องการสินค้าทั้งภายในและภายนอกประเทศที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของการบริการ คาดว่าเริ่มเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยวจะทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับภาครัฐและภาคเอกชนจะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าภาคบริการจะขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง
          ท่องที่ยว-อุตฯปลุกศก.ภาคใต้

          นายพรชัยกล่าวว่า สำหรับภาคอุตสาหกรรมภาคใต้ที่ในข่าวบอกว่าไตรมาส 3 ชะลอลงนั้น จากผลการสำรวจเดือนตุลาคม ล่าสุดของกระทรวงการคลังพบว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในระดับที่สูงกว่าเดือนกันยายน เนื่องจากยังมีคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) และพบว่ายังมีผู้ประกอบการสนใจเข้ามาประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่ทำให้มีอัตราขยายตัวของจำนวนโรงงานในบางจังหวัดเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามแม้ว่าภาคการเกษตรในภาคใต้ ปัจจุบันจะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่จากการสำรวจความเชื่อมั่นในอนาคตยังพบว่ามีมุมมองที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบันเนื่องจากประชาชนคาดการณ์ว่าสภาพอากาศจะเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก และยังมีความเชื่อมั่นในมาตรการส่งเสริมภาคเกษตรของรัฐ เช่น มาตรการขยายเวลาโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการลงทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกร เป็นต้น นอกจากนี้ยังคาดว่าตลาดทุเรียนและมังคุดของบางจังหวัดในภาคใต้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกด้วย สำหรับภาคบริการ ผลจากการสำรวจของ สศค.แทบจะไม่มีจังหวัดไหนในภาคใต้ตอบว่าหดตัวเลย ทั้งนี้ เพราะมีการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวจำนวนมาก นอกจากนี้การค้าขายก็ยังขยายตัวดีด้วยจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและส่วนหนึ่งเป็นผลจากโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ

          ภาคท่องเที่ยว-บริโภคดันขยายตัว
          นายพรชัยกล่าวว่า จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนกันยายน และไตรมาส 3 ของ สศค.พบว่า ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัว 5.9% ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัว 5.7% ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ที่ขยายตัว 6.6% ต่อปี ในขณะที่ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 หดตัว

          นายพรชัยกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดีการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัว 12.8% ต่อปี สอดคล้องกับเงินทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 818 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและตรัง เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดีแม้จะขยายตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อน ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัว 2.9% และ 6.6% ต่อปีตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ในระดับเอื้อต่อการบริโภคที่ 1.3% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ 1.2% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
          นายพรชัยกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้ยังอยู่ในเกณฑ์ดีอยู่ที่ 68.6 จากแนวโน้มการลงทุนและภาคบริการที่ดี เนื่องจากเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยวและมีจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น และเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากบริษัทเอกชน ภาคบริการเริ่มมีการตื่นตัวในพัฒนาและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในพื้นที่ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ปี 2562 มากขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมห้องพัก และบริษัทนำเที่ยว

          หอการค้ารับศก.ลงไปไม่ถึงฐานราก
          นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ รองประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจของภาคเหนือ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมานั้นเป็นเรื่องจริง ซึ่งยอมรับว่าสวนทางกับภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันมีการกระจายรายได้ไม่ทั่วถึงเศรษฐกิจระดับฐานรากหรือชุมชน เนื่องจากถูกคอน วีเนียนสโตร์เข้าไปครอบงำในทุกพื้นที่ ทำให้เงินที่มีการใช้จ่ายก็ต้องกลับไปยังส่วนกลาง เพราะธุรกิจเหล่านี้มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในส่วนกลาง

          นายณรงค์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของภาคเหนือจะขึ้นอยู่กับ 3 ส่วนคือ ภาคบริการ ภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม โดยภาคบริการคือเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับอานิสงส์จากนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาจำนวนมาก แต่ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจีนมีปัญหาจากกรณีเรือล่มที่ภูเก็ตทำให้ตัวเข้ามาในประเทศไทยลดลง ส่วนภาคเกษตรซึ่งเป็นภาคที่มีเยอะที่สุดนั้นราคาพืชผลทางการเกษตรก็ไม่ดีนัก ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็พอไปได้ เนื่องจากพบว่าตัวเลขการส่งออกในนิคมอุตสาหกรรมลำพูนดีขึ้น แต่ปรากฏว่ากลับมีการนำเข้ามามากขึ้นด้วยเช่นกัน เมื่อนำการส่งออกและนำเข้ามาหักลบกันแล้วเลยไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้

          วอนรัฐลงทุนในพื้นที่บ้าง
          นายณรงค์กล่าวว่า สำหรับการลงทุนของภาครัฐในภาคเหนือนั้นพบว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีการลงทุนจากภาครัฐน้อยมาก เนื่องจากส่วนใหญ่รัฐไปทุ่มการลงทุนในพื้นที่อีอีซีเป็นหลัก ส่งผลให้ในภาคเหนือซึ่งเดิมจะมีโครงการรถไฟความเร็วสูง แต่สุดท้ายโครงการดังกล่าวก็ไม่เกิด ขณะเดียวกันในส่วนของสนามบินแห่งที่ 2 นั้นขณะนี้ก็ยังอยู่ระหว่างการศึกษาจึงยังไม่มีอะไรคืบหน้า ดังนั้น จึงอยากให้ภาครัฐหันมาเดินหน้าโครงการในภาคเหนือบ้าง สำหรับในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนในช่วง ที่ผ่านมาก็พบว่ามีการชะลอตัวลง เนื่องจากติดขัดข้อกฎหมายหลายอย่าง เพราะท้องถิ่นได้มีการออกกฎหมายใหม่บังคับ เช่น กฎหมายผังเมือง ทำให้นักธุรกิจไม่อยากลงทุนเพราะยังไม่มั่นใจ

          นายณรงค์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับทางแก้หรือการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้ท้องถิ่นหรือชุมชนมีความเข้มแข็งนั้น ที่ผ่านมาหอการค้าก็ได้พยายามที่จะดึงทายาทรุ่นใหม่ของผู้ประกอบการเข้ามาสร้างเครือข่ายหรือลิงกิ้งให้มีความเข้มแข็งและสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ขณะเดียวกันอยากให้ภาครัฐและสถาบันการเงินเข้ามาช่วยกลุ่ม ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้เข้มแข็งด้วยการให้กลุ่มนี้เข้าถึงแหล่งทุน และมีดอกเบี้ยที่ถูกเพื่อที่จะป้องกันกลุ่มนี้ไม่ให้ไปกู้เงินนอกระบบ

          แบงก์ชาติระบุศก.อีสานโต
          ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น (ธปท.) นายประสาท สมจิตรนึก ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ตามการอุปโภคและบริโภคของภาคเอกชนที่ขยายตัวตามการใช้จ่ายสินค้าคงทนและสินค้าในชีวิตประจำวัน มีปัจจัยสนับสนุนที่มาจากกำลังซื้อจากรายได้ครัวเรือนในภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่ด้านการลงทุนในภาคเอกชนนั้นมีการขยายตัว ทั้งในหมวดการก่อสร้างและหมวดเครื่องจักร ควบคู่ไปกับการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ที่เน้นไปในกลุ่มภาคการเกษตรเป็นหลัก

          "สำหรับมูลค่าการค้าผ่านด่านศุลกากร ที่ชะลอตัวลงตามการส่งออกที่ลดลง โดยเฉพาะการส่งออกไปจีนตอนใต้นั้นลดลงในกลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ การส่งออกไปยังประเทศเวียดนามในกลุ่มผลไม้ ประเภทลำไยสด ทุเรียน และมังคุด ตามปริมาณผลผลิตผลไม้ของไทยในปีนี้ที่ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.48 สูงขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ สำหรับอัตราว่างงานปรับลดลง โดยมีผู้มีงานทำในด้านของเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น" นายประสาทกล่าว

          นายประสาทกล่าวต่อว่า สำหรับการเบิกจ่ายในภาครัฐ แม้จะหดตัวในรายจ่ายประจำ เนื่องจากในปีก่อนมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ที่มีการเบิกจ่ายสูง หากไม่รวมมาตรการดังกล่าวเท่ากับว่ารายจ่ายประจำยังคงขยายตัวดี ตามหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกรมส่งเสริมการเกษตร สำหรับรายจ่ายลงทุนชะลอลงตามหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวงชนบทและกลุ่มจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่หมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมชลประทานและหมวดครุภัณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

          เปิดขายทีโออาร์มาบตาพุดเฟส3
          น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการประชุมเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 อนุมัติโครงการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนา พิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 4 โครงการ ในวงเงิน 4.7 แสนล้านบาท โดยกำหนดให้ออกเงื่อนไขการลงทุน (ทีโออาร์) และเปิดขายซองภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ กนอ.ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ซึ่งเป็น 1 ในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักในอีอีซี มีกำหนดเปิดขายซองทีโออาร์ตั้งแต่วันที่ 9-21 พฤศจิกายน 2561 จากนั้นจะเปิดให้ภาคเอกชนที่ซื้อซองประกวดราคาเข้ารับฟังเงื่อนไขรายละเอียดของข้อกำหนดในวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2561 และจะมีการพิจารณาเพื่อคัดเลือกบริษัทเอกชนที่ชนะการประมูล คาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลในราวเดือนกุมภาพันธ์ 2562

          น.ส.สมจิณณ์กล่าวว่า ทั้งนี้ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เป็น 1 ใน 5 โครงการเร่งด่วนสำคัญเพื่อรองรับการลงทุนในอีอีซี ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และเขตจังหวัดอื่นที่มีพื้นที่ต่อเนื่องกับ 3 จังหวัดดังกล่าว มีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 55,400 ล้านบาท แบ่งเป็นภาครัฐ 12,900 ล้านบาท และภาคเอกชน 42,500 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่งทางน้ำ สนับสนุนภาคอุตสาหกรรม โดยจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถและเพิ่มความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลว รวมทั้งขยายการให้บริการท่าเทียบเรือสาธารณะเพิ่มขึ้น

          เผยกนอ.ลงทุนร่วมเอกชนก่อน
          น.ส.สมจิณณ์กล่าวว่า สำหรับแผนการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงแรก กนอ.จะร่วมลงทุนกับภาคเอกชนในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และให้เอกชนที่ร่วมลงทุนได้สิทธิในการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือ ประมาณ 200 ไร่ รวมมูลค่าลงทุนประมาณ 47,900 ล้านบาท แบ่งเป็น กนอ.ร่วมลงทุนเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิไม่เกิน 12,900 ล้านบาท และภาคเอกชน 35,000 ล้านบาท ได้แก่ การขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอน 450 ไร่ การขุดลอกร่องน้ำและแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน การติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเรือก๊าซ รองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซได้ 10 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568

          น.ส.สมจิณณ์กล่าวว่า ขณะที่ช่วงที่ 2 จะเป็นการลงทุนก่อสร้างท่าเรือ โดยให้เอกชนลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือสินค้าเหลว รองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าเหลวได้ 4 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 ซึ่งจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,300 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่หลังท่า จำนวน 150 ไร่ เงินลงทุน 3,200 ล้านบาท เพื่อรองรับธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

          "ท่าเรือฯมาบตาพุดระยะ 3 จะเป็นท่าเรือที่ สามารถรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวได้เพิ่มอีก 15 ล้านตันต่อปี ซึ่งนับเป็นท่าเรือสาธารณะที่จะสามารถรองรับการขน ถ่ายวัตถุดิบเหลวที่จะรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี และสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในอนาคตซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานสำคัญที่จะมีส่วนยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนตามแนวทางการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี" น.ส.สมจิณณ์กล่าว

          อยากให้รัฐเข้าใจบช.เดียว
          น.ส.โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ รักษาการประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยถึงกรณีที่กรมสรรพากรยืนยันว่า วันที่ 1 มกราคม 2562 เตรียมเดินหน้าเรื่องเอสเอ็มอีบัญชีเดียวว่า ทางสมาพันธ์ยืนยันว่าตอนนี้เอสเอ็มอี ไทยเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงแล้วแต่อาจจะยังไม่ 100% อาจเป็นเพราะเครื่องมือในการที่จะให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีดำเนินการด้วยตัวเอง ทราบมาว่าตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งทางกรมสรรพากรได้พยายามจัดทำระบบให้ง่ายขึ้น รวมไปถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และสภาวิชาชีพบัญชี ก็อยู่ระหว่างการพัฒนาและตรวจสอบระบบ เพื่อนำมาให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ใช้เช่นเดียวกัน แต่อาจจะเป็นเพราะว่าอาจจะยังไม่ได้มีการเริ่มทำระบบอย่างจริงจัง จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงช้า

          "ในช่วงนี้ได้เห็นความพยายามของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมตัวเอสเอ็มอี อาทิ การจัดงานอบรมเพิ่มความรู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในเรื่องการทำบัญชีด้วยตัวเอง เป็นต้น แต่จำนวนการจัดงานในปัจจุบันยังถือว่าเป็นส่วนน้อย อาจจะต้องมีการขยายความว่าการทำบัญชีเดียว หมายถึงเฉพาะนิติบุคคลหรือเปล่า ถ้าระบุเป็นนิติบุคคลก็ไม่น่าป็นห่วง เพราะคนกลุ่มนี้จะต้องทำบัญชีส่งสรรพากรอยู่แล้ว แต่สำหรับนิติบุคคลที่ยังไม่พร้อมอาจจะเป็นเพราะยังมีความเข้าใจไม่มากพอ จึงอยากให้ภาครัฐและหน่วยการที่เกี่ยวข้องเข้ามาเสริมความรู้ความเข้าใจให้มากกว่านี้ เนื่องจากยังมีกลุ่มคนอีกมากที่ยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้" น.ส.โชนรังสีกล่าว

          ฝาก3เรื่องพิจารณาเป็นพิเศษ
          น.ส.โชนรังสีกล่าวต่อว่า ตอนนี้อยากให้ทางสรรพากรให้โอกาสกับเอสเอ็มอีที่ยังไม่มีความเข้าใจอีกสักระยะหากในวันที่ 1 มกราคม 2562 จะให้เปลี่ยนมาใช้บัญชีเดียวทันทีคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ทางสมาพันธ์จึงอยากขอฝากไว้ 3 เรื่อง คือ 1.ให้โอกาส ในเรื่องของการเปิดใช้ตามกฎหมาย แต่ควรให้โอกาสในการลองผิดลองถูก 2.ให้ความรู้ ในเรื่องของการตระหนักรู้ทางกฎหมาย และ 3.ให้ระบบ ในเรื่องของการชี้แหล่งการทำ หรือแนะนำวิธีทำด้วยตัวเอง โดยบอกรายละเอียดอย่างครบถ้วน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ คงต้องดูแลแตกต่างกันไป แต่อยากให้เข้าไปดูแลผู้ประกอบการรายเล็กเป็นพิเศษ เพราะยังขาดในเรื่องของระบบและเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงอีกมาก

          กม.อีเพย์เมนต์ช่วยเก็บภาษี
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ. . เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (กฎหมายอีเพย์เมนต์) ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยสาระสำคัญของกฎหมายส่วนหนึ่งกำหนดให้สถาบันการเงินธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินของรัฐ และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ รายงานการทำธุรกรรมการเงินของลูกค้าให้กรมสรรพากรรับทราบ หากไม่ปฏิบัติตามปรับ 100,000 บาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท ทั้งนี้ กำหนดให้สถาบันการเงินต้องแจ้งข้อมูลที่เข้าข่ายเป็นธุรกรรม พิเศษ ประกอบด้วย 1.การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปี และ 2.การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 200 ครั้ง และมียอดรวมของกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปนั้น

          นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร มี บาย ทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้กฎหมายดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาจะต้องดูรายละเอียดก่อน อย่างไรก็ตาม หากกฎหมายออกมาบังคับใช้ธนาคารก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ออกมา

          นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า หากมีกฎหมายดังกล่าวออกมาจะช่วยให้ภาครัฐสามารถขยายฐานภาษีได้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ฐานภาษีของภาครัฐค่อนข้างแคบ โดยมีการเก็บภาษีจาก ผู้ประกอบการธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล ทั้งรายใหญ่และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมทั้งจากบุคคลธรรมดาซึ่งฐานผู้เสียภาษีไม่มาก ซึ่งในส่วนการปฏิบัติของสถาบันการเงิน เรื่องนี้ทางสมาคมธนาคารไทยมีการหารือกันอยู่บ้าง แต่หากกฎหมายออกมาก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

          "ภาษีที่ภาครัฐจะจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นจากร้านค้าออนไลน์ยังประเมินตัวเลขได้ไม่ชัดเจน เพราะกรณีที่ให้สถาบันมีการรายงานธุรกรรมการเงินของลูกค้าที่มีจำนวนการรับโอนหรือฝากเงินมากกว่า 3,000 ครั้งขึ้นไป และการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 200 ครั้ง และมียอดรวมของกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะมีกลุ่มคนที่มีธุรกรรมจำนวนมากกว่าน้อยเพียงใด และยอดการทำธุรกรรมเป็นจำนวนเท่าใด" นายเชาว์กล่าว

          ยันคอนโดไม่เป็นฟองสบู่
          นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษา สมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า ซัพพลายคอนโดมิเนียมเปิดใหม่ในกรุงเทพฯ ปีนี้ที่ออกมาเกือบ 7 หมื่นยูนิต เป็นจำนวนเปิดสูงสุดในรอบ 30 ปีนั้น ไม่พบสัญญาณฟองสบู่ เพราะซัพพลายที่เปิดออกมามีการกระจายทำเลในการพัฒนาโครงการของ ผู้ประกอบการหลายราย และปัจจุบันผู้ประกอบการมีความแข็งแกร่งด้านเงินทุน ทั้งนี้ ปัจจุบันนอกจากการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง หรือเรียลดีมานด์ ยังมีความต้องการซื้อเพื่อการลงทุนและความต้องการซื้อของชาวต่างชาติที่เข้ามากระตุ้นตลาด โดยเฉพาะชาวจีน ทั้งซื้อลงทุนและซื้อเพื่อบ้านหลังที่สอง เพราะราคาอสังหาริมทรัพย์ในไทยยังไม่สูงมากกนักเมื่อเทียบกับภูมิภาค ซึ่งผู้ประกอบการมีการเก็บเงินดาวน์ในระดับสูงที่ 30% อยู่แล้ว ซึ่งลูกค้าต่างชาติยังมีการโอนกรรมสิทธิ์ตามปกติ แต่หากมีกรณีทิ้งเงินดาวน์ สามารถนำไปขายใหม่ให้กับกลุ่มเรียลดีมานด์ และใช้เงินดาวน์ส่วนนี้เป็นส่วนลดให้กับกลุ่ม เรียลดีมานด์ได้

          "ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ปัจจุบันมีข้อมูลและมีการวิจัยตลาดก่อนที่จะมีการพัฒนาโครงการออกมา ซึ่งจะไม่มีการเร่งพัฒนาโครงการออกมาจำนวนมากจนล้นตลาดอย่างในปี 2540 และโครงการที่พัฒนาออกมาก็มีดีมานด์รองรับ" นายประเสริฐกล่าว

          ธปท.ควรคุมสินเชื่อปี'63
          นายประเสริฐกล่าวถึงมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังจะออกมาเร็วๆ นี้ ว่าขณะนี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบจากข่าวที่ออกมาทำให้ตลาดชะลอตัว และยิ่งได้รับกระทบหลังจากที่ตลาดการเงินโลกที่ผันผวน กระทบต่อเศรษฐกิจ กระทบต่อตลาดหุ้นและการลงทุนต่างๆ ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ได้รับผล กระทบด้วย ซึ่งแม้จะไม่มีมาตรการของ ธปท. ออกมาตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว มองว่าท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินที่เปลงเร็ว ธปท.อาจจะมีการพิจารณาใช้มาตรการไมโครพรูเด็นเชียล แทนได้หรือไม่ หรือหากจะออกมาตรการควรจะเร่งประกาศเพราะได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไปแล้ว เพื่อสร้างความชัดเจนให้กับตลาดอสังหาริมทรัพย์และผู้บริโภค

          "ธปท.ควรประกาศมาตรการที่ชัดเจนและเร็วที่สุด ซึ่งมองว่าระยะเวลาควรบังคับใช้ในปี 2563 เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ปรับตัว และการเพิ่มดาวน์ควรบังคับใช้กับคอนโดมิเนียมซึ่งเป็นการกู้สัญญาที่ 3 ไม่รวมการกู้บ้านเดี่ยวหรือ ทาวน์เฮาส์ เพราะกลุ่มนี้เป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงไม่มีซื้อเพื่อการลงทุนและการเก็งกำไร" นายประเสริฐกล่าว
 
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ