สถานการณ์ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยจังหวัดภาคกลาง-ภาคตะวันตก ครึ่งแรกปี 2567
Loading

สถานการณ์ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยจังหวัดภาคกลาง-ภาคตะวันตก ครึ่งแรกปี 2567

วันที่ : 20 กันยายน 2567
รายงานสถานการณ์ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังอยู่ระหว่างขายในช่วงครึ่งแรกปี 2567 ภาคตะวันตก 2 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดเพชรบุรี และภาคกลาง 2 จังหวัด
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) รายงานสถานการณ์ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังอยู่ระหว่างขายในช่วงครึ่งแรกปี 2567 ภาคตะวันตก 2 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดเพชรบุรี และภาคกลาง 2 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี พบว่าภาพรวมภาคตะวันตก 2 จังหวัด มีจำนวนที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่ในช่วงครึ่งแรกปี 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 143.7 มีอัตราดูดซับของภาพรวมตลาดอยู่ที่ร้อยละ 4.2 และส่งผลให้ที่อยู่อาศัยเหลือขายลดลงร้อยละ -18.5 REIC คาดการณ์ว่า ในปี 2567 ภาคตะวันตกจะมีที่อยู่อาศัยเข้ามาในตลาดจำนวน 1,695 หน่วย มูลค่า 13,430 ล้านบาท มีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่ 2,227 หน่วย มูลค่า 12,661 ล้านบาท มีหน่วยเหลือขาย 4,513 หน่วย มูลค่า 24,083 ล้านบาท ขณะที่ภาคกลาง 2 จังหวัดมีจำนวนที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่ในช่วงครึ่งแรกปี 2567 ลดลงร้อยละ -63.4 มีอัตราดูดซับของภาพรวมตลาดอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ส่งผลให้จำนวนหน่วยเหลือขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 REIC คาดการณ์ว่า ในปี 2567 ภาคกลางจะมีที่อยู่อาศัยเข้ามาในตลาดจำนวน 1,926 หน่วย มูลค่า 6,322 ล้านบาท มีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่ 2,389 หน่วย มูลค่า 6,227 ล้านบาท มีหน่วยเหลือขาย 7,910 หน่วย มูลค่า 24,440 ล้านบาท

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า การสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยภาคตะวันตก 2 จังหวัด ครึ่งแรกปี 2567 พบว่า จำนวนอุปทานพร้อมขายจำนวนประมาณ 5,620 หน่วย มูลค่า 33,132 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นโครงการอาคารชุด 2,908 หน่วย มูลค่า 17,553 ล้านบาท และเป็นโครงการบ้านจัดสรร 2,712 หน่วย มูลค่า 15,579 ล้านบาท มีที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่เข้าสู่ตลาด 933 หน่วย มูลค่า 8,345 ล้านบาท มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่จำนวน 1,411 หน่วย มูลค่า 9,308 ล้านบาท ส่งผลให้มีหน่วยเหลือขาย 4,209 หน่วย มูลค่า 23,825 ล้านบาท

“เมื่อเปรียบเทียบระหว่างตลาดที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างขายของ 2 จังหวัดนี้ พบว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นจังหวัดที่มีขนาดตลาดเป็นลำดับ 1 ในทุกด้าน ดังจะเห็นได้จากจำนวนและสัดส่วนที่อยู่อาศัยทุกประเภทที่มีการเสนอขาย โดยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีเสนอขาย 3,165 หน่วย มูลค่า 22,534 ล้านบาท และจังหวัดเพชรบุรีมีการเสนอขาย 2,455 หน่วย มูลค่า 10,598 ล้านบาท โดยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีการที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ ประเภทบ้านจัดสรรรวม 195 หน่วย มูลค่า 1,691 ล้านบาท และอาคารชุด 669 หน่วย มูลค่า 6,417 ล้านบาท รวมถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีจำนวนที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่ 988 หน่วย มูลค่า 7,369 ล้านบาท โดยมีอัตราการดูดซับที่โดยรวมของตลาดร้อยละ 5.2 ต่อเดือน ขณะที่จังหวัดเพชรบุรี 423 หน่วย มูลค่า 1,938 ล้านบาท โดยมีอัตราการดูดซับโดยรวมของตลาดที่ร้อยละ 2.9 ต่อเดือน”

สำหรับภาคกลาง 2 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี จากการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัย ครึ่งแรกปี 2567 พบว่าจำนวนอุปทานพร้อมขายจำนวนประมาณ 10,327 หน่วย มูลค่า 33,107 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นโครงการอาคารชุด 1,019 หน่วย มูลค่า 1,576 ล้านบาท เป็นโครงการบ้านจัดสรร 9,308 หน่วย มูลค่า 31,531 ล้านบาท มีที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่เข้าสู่ตลาด 835 หน่วย มูลค่า 4,131 ล้านบาท มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่จำนวน 514 หน่วย มูลค่า 1,519 ล้านบาท ส่งผลให้มีหน่วยเหลือขาย 9,813 หน่วย มูลค่า 31,588 ล้านบาท

“เมื่อเปรียบเทียบระหว่างตลาดที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างขายของ 2 จังหวัดนี้ พบว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีจำนวนและสัดส่วนที่อยู่อาศัยทุกประเภทที่มีการเสนอขาย 7,883 หน่วย มูลค่า 26,015 ล้านบาท และจังหวัดสระบุรีมีจำนวนและมูลค่าอยู่ที่ 2,444 หน่วย มูลค่า 7,092 ล้านบาท จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการเปิดตัวที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ รวม 451 หน่วย มูลค่า 2,881 ล้านบาท จังหวัดสระบุรี เปิดตัวที่อยู่อาศัยใหม่ รวม 384 หน่วย มูลค่า 1,250 ล้านบาท ในด้านภาวะตลาดด้านการขาย จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีจำนวนที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่สูงสุด 430 หน่วย มูลค่า 1,293 ล้านบาท มีอัตราการดูดซับร้อยละ 0.9 ต่อเดือน ขณะที่จังหวัดสระบุรีมีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่ 84 หน่วย มูลค่า 227 ล้านบาท โดยมีอัตราการดูดซับร้อยละ 0.6 ต่อเดือน”...
สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่