สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 1/2566
Loading

สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 1/2566

วันที่ : 17 กรกฎาคม 2566
สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย ไตรมาส 1/ 2566 ยอดขายในภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยลดลงร้อยละ -29.1 สาเหตุหลักจากยอดขายอาคารชุดเพราะขาดแรงส่งจากโครงการใหม่ที่ลดลงจากปีก่อนมาก แต่ยอดขายบ้านแนวราบช่วยพยุงไว้ ส่งผลให้หน่วยที่อยู่อาศัยเหลือขายรวมในตลาดเพิ่มร้อยละ 7.8
สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย ไตรมาส 1/ 2566 ยอดขายในภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยลดลงร้อยละ -29.1 สาเหตุหลักจากยอดขายอาคารชุดเพราะขาดแรงส่งจากโครงการใหม่ที่ลดลงจากปีก่อนมาก แต่ยอดขายบ้านแนวราบช่วยพยุงไว้ ส่งผลให้หน่วยที่อยู่อาศัยเหลือขายรวมในตลาดเพิ่มร้อยละ 7.8

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) รายงานผลสำรวจภาคสนามอุปทานและอุปสงค์ของโครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขาย สำหรับรายไตรมาส 1 ปี 2566 ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล โดยสำรวจเฉพาะโครงการที่มีหน่วยเหลือขายไม่ต่ำกว่า 6 หน่วย ซึ่งพบว่า ในกรุงเทพฯและ 5 จังหวัดปริมณฑล

สถานการณ์ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัย (แนวราบและอาคารชุด) ปรับตัวลงแรง 
ดร. วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยผลการสำรวจภาวะภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยทั้งโครงการแนวราบและอาคารชุด โดยพบว่ามีหน่วยที่เสนอขายที่อยู่อาศัยรวม (บ้านจัดสรรและอาคารชุด) 204,226 หน่วย มูลค่า 989,251 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.3 และ 4.9 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนหน่วยที่เสนอขายนี้เป็นหน่วยเกิดจากโครงการเปิดตัวใหม่เพียง 21,680 หน่วย หรือเพียงร้อยละ 10.62  ของหน่วยที่เสนอขายทั้งหมด มูลค่า 82,246 ล้านบาท หรือเพียงร้อยละ 8.31 ของมูลค่าที่เสนอขายทั้งหมด ซึ่งหน่วยที่เปิดตัวใหม่มีจำนวนและมูลค่าที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -26.0 และ -22.5 ตามลำดับ

เมื่อดูถึงยอดขายใหม่ที่เกิดในไตรมาสจำนวน 21,291 หน่วย มูลค่า 105,768 ล้านบาท พบว่าลดลงร้อยละ -29.1 และ -22.0 และมีอัตราการดูดซับที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 3.5 เดือน หรือระยะเวลาขายหมดประมาณ 26 เดือน (ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 5.0 และระยะเวลาขายหมด 17 เดือน)  

แสดงให้เห็นว่า ภาพรวมของตลาดที่อยู่อาศัยปรับตัวลงค่อนข้างแรงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะการปรับตัวลงของยอดขายอาคารชุด และประกอบกับส่วนต่างของหน่วยเปิดตัวใหม่มากกว่าหน่วยที่ขายได้ใหม่ในไตรมาสนี้ มีจำนวนเพิ่มขึ้น 389 หน่วย ส่งผลให้หน่วยที่เหลือขายภาพรวมที่อยู่อาศัยในตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 182,935 หน่วย มูลค่า 883,484 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.8 และร้อยละ 9.4 ตามลำดับ จากไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ผ่านมา 

สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยประเภทแนวราบ
เมื่อแยกวิเคราะห์เฉพาะตลาดบ้านแนวราบ ในไตรมาส 1 ปี 2566 ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล พบว่า หน่วยที่มีการเสนอขายที่อยู่อาศัยแนวราบ 124,723 หน่วย มูลค่า 679,672 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.9 และร้อยละ 13.0 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งพบว่า ประเภทบ้านที่มีการขยายตัวของหน่วยเสนอขายมากได้แก่ บ้านเดี่ยว และ ทาวน์เฮ้าส์ ที่มีจำนวนหน่วยขยายตัวจากปีก่อนถึงร้อยละ 12.9 และร้อยละ 2.8 โดยมูลค่าขยายตัวร้อยละ 21.5 และร้อยละ 2.0 ตามลำดับ ในจำนวนนี้เป็นหน่วยเกิดจากโครงการแนวราบเปิดตัวใหม่เพียง 8,699 หน่วย หรือเพียงร้อยละ 6.97 ของหน่วยที่เสนอขายทั้งหมด และ มูลค่า 51,473 ล้านบาท หรือเพียงร้อยละ 7.57 ของมูลค่าที่เสนอขายทั้งหมด ซึ่งหน่วยที่เปิดตัวใหม่มีจำนวนและมูลค่าที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -16.8 และ -12.8 ตามลำดับ โดยประเภทที่มีการลดลงมากคือ ทาวน์เฮ้าส์ ที่ลดลงทั้งหน่วยและมูลค่าถึงร้อยละ -23.4 และ -35.3

เมื่อดูถึงยอดขายใหม่ของที่อยู่อาศัยแนวราบที่เกิดในไตรมาส 1 ปี 2566 จำนวน 11,581 หน่วย ขยายตัวร้อยละ 5.1 และ มูลค่า 69,599 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -0.02 และมีอัตราการดูดซับทรงตัวอยู่ในระดับร้อยละ 3.1 ต่อเดือน หรือจะขายหมดในเวลาประมาณ 29 เดือน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบค่อนข้างคงตัวเช่นเดียวกับไตรมาส 1 ปี 2565 ทั้งนี้
  • บ้านแฝด เป็นประเภทที่มียอดหน่วยและมูลค่าการขายได้ใหม่ขยายตัวมากสุดถึงร้อยละ 15.8  และ 11.6 แม้ว่าจะยังมีขนาดของตลาดยังไม่ใหญ่ และยังมีอัตราการดูดซับที่ต่ำสุดเมื่อเทียบกับประเภทอื่น
  • บ้านเดี่ยวมียอดขายใหม่ในไตรมาสนี้ที่ขยายตัวทั้งหน่วยและมูลค่าถึงร้อยละ 8.7 และ 3.2 โดยมีอัตราการดูดซับที่ร้อยละ 3.3 ต่อเดือน ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเภทอื่น หรือระยะเวลาขายหมดประมาณ 27 เดือน (ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนร้อยละ 3.5 ต่อเดือนและระยะเวลาขายหมด 26 เดือน)
  • ทาวน์เฮ้าส์ พบว่า ยอดขายใหม่ แม้จะมีขนาดตลาดที่ใหญ่ และยังมีการขยายตัวของหน่วยขายใหม่ร้อยละ 1.8 แต่มีมูลค่าการขายได้ใหม่ ลดลงร้อยละ -7.4
แสดงให้เห็นว่า ตลาดบ้านเดี่ยว และ ทาวน์เฮ้าส์ ยังคงมีการขยายตัวอย่างอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่ บ้านแฝด เป็นประเภทที่มีการตอบรับที่ดีจากตลาดมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับความสามารถในการซื้อของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน เนื่องจากราคาที่ดิน ค่าวัสดุก่อสร้าง และค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากการที่ยอดขายใหม่ที่เพิ่มขึ้น และมีหน่วยเปิดตัวใหม่น้อยกว่าหน่วยที่ขายได้ใหม่ในไตรมาสนี้ถึง 2,882 หน่วย ส่งผลให้หน่วยที่เหลือขายของที่อยู่อาศัยแนวราบในตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 113,142 หน่วย มูลค่า 610,073 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1  และร้อยละ 14.7 ตามลำดับ จากไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ บ้านเดี่ยว และ บ้านแฝด มีการขยายตัวของหน่วยเหลือขายอย่างมากถึงร้อยละ 13.4 และร้อยละ 15.1 ขณะที่มูลค่าก็มีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 24.2 และร้อยละ 19.5 สำหรับ ทาวน์เฮ้าส์ มีหน่วยและมูลค่าหน่วยเหลือขายขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 2.9 และร้อยละ 3.1 การที่อัตราขยายตัวของมูลค่าที่เพิ่มมากกว่าของจำนวนหน่วยได้สะท้อนเห็นว่าที่อยู่อาศัยแนวราบมีการปรับราคาขึ้นจากปีก่อนอีกด้วย
สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่