BAM ปั้นพอร์ตล้านล้าน แผนเร่งหมุนเวียนทรัพย์
Loading

BAM ปั้นพอร์ตล้านล้าน แผนเร่งหมุนเวียนทรัพย์

วันที่ : 4 กรกฎาคม 2568
BAM ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าพอร์ตสินทรัพย์รวมแตะ 1 ล้านล้านบาท โอกาสจากหนี้เสียในระบบกว่า 1.21 ล้านล้านบาท พร้อมเดินเกมหมุนเวียนทรัพย์เร็วขึ้น (Quick Turn-Around) ลดระยะเวลาถือครองเหลือ 4-4.5 ปี จากเดิม 7.5-8.2 ปี เพื่อยก ระดับ ROA จากต่ำกว่า 2% เป็น 4.5% ขณะที่ตั้งเป้า ขายสินทรัพย์ปีนี้ 17,800 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าการ ซื้อใหม่ มั่นใจผลงานปีนี้ ตามเป้าหลังครึ่งปีแรก โกยยอดขายไปแล้วมากกว่าหมื่นล้านบาท
    ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เปิดเผยว่า บริษัทมีเป้าหมาย สูงสุดคือการเพิ่มมูลค่าพอร์ตสินทรัพย์ภายใต้การบริหารให้เป็น 1 ล้านล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ประมาณ 140,000 ล้านบาท ซึ่งเป็น NPA ประมาณ 75,000 ล้านบาท และ NPL ประมาณ 60,000-70,000 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าตามสิทธิ์ที่แท้จริงรวมอยู่ที่ประมาณ 500,000 ล้านบาท

    ทั้งนี้บริษัทวางแผนที่จะใช้เงินลงทุนซื้อสินทรัพย์ ใหม่เข้ามาปีละ 8,500-11,000 ล้านบาท คาดจะได้สินทรัพย์ใหม่เข้าพอร์ตราว 40,000 ล้านบาทต่อปี ขณะนี้คาดว่าหนี้เสีย (NPL/NPA) ในระบบสถาบันการเงินของไทยอยู่ที่ประมาณ 1.21 ล้านล้านบาท ซึ่งรวมถึงหนี้เสียที่อาจจะเกิดจากกลุ่ม SME ทำให้บริษัทยังมีโอกาสซื้อหนี้เข้ามาได้อีกมาก

    สินทรัพย์รอขาย 7.4 หมื่นล.

    สำหรับเป้าหมายการระบายสินทรัพย์ (การขาย) ในปีนี้อยู่ที่ 17,800 ล้านบาท จากการขายออกมากกว่าที่ได้มาในเชิงมูลค่าเงินลงทุน นำไปสู่การลดลง สุทธิของสินทรัพย์เก่าที่ถือครองมานาน ขณะเดียวกันบริษัทมีทรัพย์สินรอการขายกว่า 24,000 รายการ ราคาประเมินรวมกว่า 74,000 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทยังคงบริหารจัดการสินทรัพย์ที่มูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาทด้วยตนเองผ่านสาขาทั้ง 24 แห่งและ 2 สำนักงานใหญ่ด้วย

    อย่างไรก็ดี บริษัทจะเริ่มทยอยรับรู้รายได้จากการร่วมมือกับพันธมิตรในกลุ่มแรกทั้ง บริษัท วี บียอนด์ ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด หรือ VBOND, บริษัท บางกอก แอสเซท อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BKA ตั้งแต่ไตรมาส 4/2568 ราว 150 ล้านบาท ที่เหลือทยอยรับรู้ปี 2569 เนื่องจากเป็นการนำทรัพย์บ้านเดี่ยวไปปรับปรุงขายต่อทำให้รับรายได้เร็ว

    โดย BAM ได้ให้ระยะเวลาปลอดชำระเงินแก่พันธมิตรที่ซื้อทรัพย์ไปรีโนเวตและนำไปขายต่อ ตามระยะเวลาที่ BAM เห็นว่าเหมาะสม หากพันธมิตรสามารถขายทรัพย์ได้เร็วก็สามารถนำเงินมาชำระคืนให้กับบริษัทได้เร็ว และทำให้ BAM รับรู้รายได้เข้ามาได้เร็วเช่นกัน ส่วนความร่วมมือกับบริษัท ไซมิส แอสเสท จำกัด (มหาชน) หรือ SA อาจจะต้องใช้เวลา 3-4 ปี เพราะเป็นการพัฒนาโครงการจากที่ดินเปล่า

    ชูกลยุทธ์ Quick Turn-around

    อย่างไรก็ดี บริษัทได้วางกลยุทธ์ใหม่ คือ การหมุนเวียนสินทรัพย์อย่างรวดเร็ว (Quick Turn-Around) ซึ่งเคยใช้เวลาถือครองสินทรัพย์ยาวนานถึง 7.5-8.2 ปี มาสู่เป้าหมายการถือครองที่สั้นลงเหลือเพียง 4-4.5 ปี การเปลี่ยนแปลงนี้คาดว่าจะช่วยยกระดับผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) ซึ่งปัจจุบันยังไม่ถึง 2% ให้สูงขึ้นไปถึงประมาณ 4.5%

    โดยโมเดล Partnership Development เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของกลยุทธ์ใหม่ โดยบริษัทจะร่วมมือกับพันธมิตรในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอสังหาริมทรัพย์ทั้งผู้พัฒนาโครงการในรูปแบบ Turnkey Operator สำหรับการพัฒนาที่ดินเปล่า และผู้ที่นำทรัพย์ NPA

    ทั้งบ้านเดี่ยว อาคารพาณิชย์ คอนโดมิเนียม ไปปรับปรุงและขายต่อ เพื่อลดความเสี่ยงพันธมิตรเหล่านี้มีเงื่อนไขผูกพันที่จะต้องซื้อสินทรัพย์คืนหากไม่สามารถขายได้ภายใน 12-15 เดือน ซึ่งเป็นการรับประกันเงินทุนคืนกลับสู่บริษัท กลยุทธ์นี้ช่วยให้บริษัทสามารถปิดจุดอ่อนและใช้จุดแข็งของพันธมิตรได้

    บริหารสินทรัพย์ในมือ

    ทั้งนี้ปัจจุบัน มีพันธมิตรอีกหลายรายที่สนใจเข้ามาร่วมมือกับบริษัทภายใต้โมเดลที่บริษัทจะให้โอกาสที่จะไม่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่เพื่อซื้อสินทรัพย์ แต่จะให้แบ่งจ่ายเงินบางส่วนมาก่อน ซึ่งทำให้บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์หลายรายต้องการนำสินทรัพย์ของบริษัทที่อยู่ในโครงการของเขาไปพัฒนาต่อ

    โดยเฉพาะสินทรัพย์ประเภทห้องชุดที่มีจำนวนมากถึงกว่า 12,000 ยูนิต ซึ่งส่วนใหญ่กระจายอยู่ในโครงการต่างๆ ไม่ได้เป็นทั้งอาคาร เช่น ได้มา 18-27 ยูนิตจากโครงการ 100 ยูนิต เป็นต้น ส่วนโครงการก่อสร้างที่ยังไม่แล้วเสร็จ บริษัทกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการหาพันธมิตรเพื่อมาดำเนินการก่อสร้าง ต่อให้จบเฟสที่เหลืออยู่

 
ข่าวบ้านมือสอง อื่นๆ