แบงก์เข้ม... 'แผ่นดินไหว' สกรีนคอนโดก่อนจำนอง
Loading

แบงก์เข้ม... 'แผ่นดินไหว' สกรีนคอนโดก่อนจำนอง

วันที่ : 1 พฤษภาคม 2568
คุชแมน แอนด์ เวคฟีลด์ ประเทศไทย ประเมินว่า ตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานครในปี 2568 คาดว่าจะมีจำนวนยูนิตเปิดขายใหม่ในระดับที่ไม่แตกต่างจากปีที่แล้วมากนัก และมีความเป็นไปได้ที่จะมีจำนวนยูนิตลดลงหรือประมาณ 20,000 ยูนิตอาจจะมากกว่านี้หรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย โดยหนึ่งในปัจจัยใหม่ที่เข้ามามีผลต่อตลาดคอนโดมิเนียมในประเทศไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร คือ แผ่นดินไหว
   เหตุแผ่นดินไหว วันที่ 28 มีนาคม 2568 ตัวแปรทำให้ตลาดแนวสูงหรือ คอนโดมิเนียมเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ และนำไปสู่การชะลอโอนกรรมสิทธิ์ รวมถึงการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค จากความตื่นตระหนก วิตกกังวล อย่างไรก็ตาม หน่วยงานภาครัฐ องค์กรวิศวกร รวมถึงสามสมาคมอสังหาริมทรัพย์ ประเมินว่าเป็นผลกระทบระยะสั้น เนื่องจากคอนโดมิเนียมในเขตกรุงเทพ มหานคร มีความมั่นคงแข็งแรงไม่ได้รับผลกระทบเสียหายในเชิงโครงสร้างอาคาร  มีเพียงวัสดุพื้นผิวที่ชำรุดแตกร้าวซึ่งสามารถซ่อมแซมได้

   ผู้ประกอบการได้ให้การช่วยเหลือลูกค้าอย่างรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ ดังนั้นสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ซ้ำร้ายสถานการณ์ ที่เกินการควบคุม ภัยพิบัติที่ไม่อาจคาดเดา รวมทั้งนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐ อเมริกา ที่เป็นอีกชนวนการตัดสินใจของผู้บริโภค

   ขณะมาตรการรัฐ ทั้งลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และค่าจดจำนองเหลือ 0.01% ของกระทรวงการคลังสำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในขณะนี้และมาตรการผ่อนคลายเกณฑ์/เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) เป็น 100% ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กำหนดไว้ชั่วคราว มีผลบังคับใช้วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 ซึ่งทั้งสองมาตรการจะสิ้นสุดลงพร้อมกันวันที่ 30 มิถุนายน 2569 จะเข้ามาช่วยพยุงไม่ให้สถานการณ์บอบซ้ำไปกว่านี้

   "ฐานเศรษฐกิจ" สำรวจสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง ที่ดูแลโครงการคอนโดมิเนียมในพื้นที่กว่า 700 อาคาร โดยระบุว่าจากสถานการณ์ แผ่นดินไหว ยอมรับว่าผู้ที่เคยติดต่อโอนกรรมสิทธิ์บางกลุ่ม ได้ขอชะลอโอนออกไป เข้าใจว่าเกิดความวิตกกังวลแม้มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองออกมาใช้แล้ว แต่เนื่องจากยังมีเวลาอีกนาน จึงยังไม่เร่งรีบนอกจากนี้หลายรายอาจอยู่ระหว่างขอสินเชื่อจากธนาคาร

    อย่างไรก็ตามหลังเกิดแผ่นดินไหว ทางธนาคาร จะให้ผู้ซื้อตรวจสอบสภาพอาคารก่อนจำนอง ซึ่ง จะช่วยให้ผู้ซื้อผ่อนคลายความวิตกกังวลมากขึ้นพร้อมกลับมาโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนอง

    ส่วนกลุ่มที่ซื้อคอนโดมิเนียมที่ไม่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว และได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคาร ก็เดินทางมาโอนตามปกติ ปริมาณงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เช่น ปกติโอนวันละ 2 ห้อง ก็เพิ่มเป็น 5-6 ห้อง ซึ่งเข้าใจว่ามี กลุ่มที่ชะลอโอนเพราะรอมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย

   ทั้งนี้เนื่องจากมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง สิ้นสุดอายุลงเดือนมิถุนายน 2569 ยังมีเวลาอีกนาน ที่จะตัดสินใจ ซื้อรวมถึงมาตรการ ผ่อนเกณฑ์ /เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) เป็น 100% โดยเริ่ม มีผลบังคับใช้ 1 พฤษภาคม 2568 จนถึง 30 มิถุนายน 2569 ผู้บริโภคอาจจะรอมาตรการใช้พร้อมกัน รวมและเป็นการดูท่าทีและความเชื่อมั่นของเหตุแผ่นดินไหวว่าจะไม่กลับมากระทบซ้ำอีก รวมถึงได้มองหา โครงการที่สภาพไม่มีรอยร้าว หรือได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ก็จะตัดสินใจซื้อหลังจากนี้ไม่ว่าจะเป็นคอนโดมิเนียมใหม่สร้างเสร็จพร้อมเข้าอยู่ และ คอนโดมิเนียมมือสอง ในอนาคต

    เช่นเดียวกับสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขาห้วยขวาง มีโครงการคอนโดมิเนียมที่ดูแลจำนวนกว่า 400 อาคาร อธิบายว่า ขณะนี้เป็นช่วงต้นของการใช้มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ยังไม่เห็นปริมาณเพิ่มขึ้นของผู้ที่เดินทางมาโอนมากนัก และเนื่องจากเหตุเกิดแผ่นดินไหว ผู้ซื้อบางส่วน ได้ชะลอการโอนออกไป จากเดิมเคยนัดวันจะโอนทั้งธนาคารผู้ประกอบการและผู้ซื้อบางกลุ่มชะลอโอนเพราะรอมาตรการฯ และหากสภาพห้องไม่กระทบเสียหายก็จะเดินทางมาโอนตามปกติ

    ส่วนความนิยมคอนโดมิเนียมมากน้อยแค่ไหนหลังจากเกิดแผ่นดินไหว มองว่า คอนโดมิเนียมส่วนใหญ่โครงสร้างมีความมั่นคงแข็งแรงทุกอาคารมีการเพิ่มแรงต้านทานแผ่นดินไหวตามกฎหมายอยู่แล้ว เชื่อว่า คอนโดมิเนียมยังคงเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการอยู่อาศัยในเมือง

    เมื่อสอบถามว่าพื้นที่ห้วยขวาง ยังมีคนจีนซื้อคอนโดมิเนียมจำนวนมากหรือไม่ แหล่งข่าวกล่าวว่า ช่วงหลังมีคนจีนเข้ามาโอนลดลง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเช่นเดิมวันละ 5คน ปัจจุบันเหลือเพียง2คน ฯลฯ ซึ่งเรื่องนี้ ไม่ทราบแน่ชัดอาจเป็นเพราะ ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจบ้านของตนเอง หรือการนำเงินออกมาใช้นอกประเทศยากขึ้น จึงเป็นไปได้ว่าจีนอาจเป็นอีกประเทศที่ชะลอการซื้อคอนโดมิเนียมในไทยมากขึ้น

    ฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา คุชแมน แอนด์ เวคฟีลด์ ประเทศไทย ประเมินว่า ตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานครในปี 2568 คาดว่าจะมีจำนวนยูนิตเปิดขายใหม่ในระดับที่ไม่แตกต่างจากปีที่แล้วมากนัก และมีความเป็นไปได้ที่จะมีจำนวนยูนิตลดลงหรือประมาณ 20,000 ยูนิตอาจจะมากกว่านี้หรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย โดยหนึ่งในปัจจัยใหม่ที่เข้ามามีผลต่อตลาดคอนโดมิเนียมในประเทศไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร คือ แผ่นดินไหวที่มีผลต่อความเชื่อมั่นในโครงการที่เป็นอาคารสูงชัดเจน ถ้าช่วงหลังจากนี้ไม่มีเหตุการณ์ซ้ำรอย และผู้ประกอบการมีการตอบสนองในเรื่องของการซ่อมแซมทั้งส่วนกลางและภายในของแต่ละยูนิตก็อาจจะไม่มีผลกระทบในระยะยาว