BTS ดึงพันธมิตรอสังหาฯ ร่วมเมืองการบินอู่ตะเภา 'สุริยะ' กางแผนลงทุนเมกะโปรเจกต์ 1.36 แสนล้านบาท
วันที่ : 10 มกราคม 2568
“บีทีเอส กรุ๊ป” เร่งเจรจาพันธมิตรกลุ่มอสังหาฯ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท IRR ของโครงการ 10-11% ถึงจุดคุ้มทุนภายใน 10 ปี คาดได้รับหนังสือให้เริ่มก่อสร้างหลังเม.ย.นี้ หลังบอร์ด EEC ไฟเขียวปลดล็อกแก้ไขสัญญารถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน
ด้านรัฐมนตรีคมนาคม ดันโครงการขนาดใหญ่ปีนี้ 223 โครงการ ทั้งขนส่งทางถนน ทางราง น้ำและอากาศ วงเงินลงทุน 1.36 แสนล้านบาท
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร และผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจ MOVE บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA (บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ถือหุ้น 45%, BTS ถือหุ้น 35% และบริษัท สเตคอน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ STECON ถือหุ้น 20%) คาดว่าจะได้รับหนังสือให้เริ่มงาน (NTP) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ภายหลังจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เริ่มเดินหน้าก่อสร้างในเดือน เม.ย.นี้
“ตอนนี้เราเหลือเรื่องแผนของรถไฟความเร็วสูงที่เขาจะต้องมาคุยกับเราเท่านั้น ซึ่งล่าสุดก็ได้ข่าวมาว่ารถไฟฟ้าจะเริ่มก่อสร้างในเดือน เม.ย.นี้ เพราะฉะนั้น EEC ก็น่าจะออกหนังสือ NTP โครงการเมืองการบินอู่ตะเภาให้ได้หลังจากนั้น” นายสุรพงษ์ กล่าว
โดยกลุ่ม UTA มีความพร้อมที่จะลงทุนในโครงการนี้ และอยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่จะเข้ามาร่วมลงทุนหลังจากได้รับหนังสือให้เริ่มงาน โดยเบื้องต้นประมาณการ IRR ของโครงการเมืองการบินอู่ตะเภาไว้ที่ 10-11% จากรายได้ที่มาจากส่วนของธุรกิจ Non-aero (ดิวตี้ฟรี) และอุตสาหกรรมการบิน รวมทั้งเมืองการบิน ที่มีรายได้เป็นค่าเช่า และจะถึงจุดคุ้มทุนภายใน 10 ปี จากสัญญาที่ทำไว้ 50 ปี
ขณะที่ ปัจจุบัน UTA ได้ทำการออกแบบงานหลักเสร็จเรียบร้อยแล้ว เช่น อาคารผู้โดยสาร ลานจอดอากาศยาน และทางขับ (แท็กซี่เวย์) เป็นต้น ทั้งนี้คาดว่าจะใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท ส่วนที่สองจะเป็นส่วนของเมืองการบิน มูลค่าก่อสร้างประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาท
ก่อนหน้านี้ นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA กล่าวว่า โครงการเมืองการบินอู่ตะเภา เฟสแรก จะใช้เวลาก่อสร้างภายใน 3 ปี เป็นส่วนของอาคารผู้โดยสาร หรือ Terminal ตามสัญญา ซึ่งใช้งบประมาณ 4 หมื่นล้านบาท และหลังจากสร้างเสร็จแล้วจะสร้างรายได้เข้ามาปีละประมาณ 4-5 พันล้านบาท โดยมาจาก 2 ส่วน ในส่วนแรกคือรายได้จากค่าเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์สัดส่วน 40% และรายได้จากค่าจอดเครื่องบินประมาณ 60%
สำหรับแผนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา แบ่งเป็น 6 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 รองรับผู้โดยสาร 12 ล้านคน, ระยะที่ 2 ปี 2570 รองรับผู้โดยสาร 15.9 ล้านคน, ระยะที่ 3 รองรับผู้โดยสาร 22.5 ล้านคน, ระยะที่ 4 ปี 2577 รองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคน, ระยะที่ 5 ปี 2590 รองรับผู้โดยสาร 45 ล้านคน และระยะที่ 6 ปี 2603 รองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคน
EEC ปลดล็อกรถไฟความเร็วสูง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ดอีอีซี เมื่อวันที่ 8 ม.ค.) รับทราบความคืบหน้าของการดำเนินการ เพื่อแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และการหารือร่วมกันเพิ่มเติมระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อยืนยันว่าการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ ครั้งนี้ ยังคงเป็นไปตามหลักการเดิมของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP)
ในการดำเนินการต่อไป รฟท.และเอกชนคู่สัญญาจะเจรจาร่างสัญญาแก้ไข เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารสัญญา คณะกรรมการกำกับดูแล และนำเสนอร่างสัญญาแก้ไขเสนอต่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา จากนั้นรฟท.จะเสนอร่างสัญญาแก้ไขที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด มายังสกพอ. เพื่อเสนอให้บอร์ดอีอีซีและครม.พิจารณาเห็นชอบในการแก้ไข โดยรฟท.และเอกชนคู่สัญญาจะลงนามร่างสัญญาฉบับแก้ไขที่ครม.เห็นชอบ และรฟท.จะสามารถออกหนังสือแจ้งให้เอกชนคู่สัญญาเริ่มงานก่อสร้างโครงการฯ ได้ทันที คาดว่าภายในเดือน เม.ย. 2568
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบการขยายเพิ่มเติมพื้นที่การเปลี่ยนแปลง และการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษใหม่ โดยเพิ่มเติมพื้นที่เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก ประมาณ 714 ไร่ ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุในความดูแลของกองทัพเรือ เพื่อให้เขตส่งเสริมฯ ครอบคลุมพื้นที่ดำเนินโครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 ซึ่งได้ปรับการออกแบบเพื่อเลี่ยงสิ่งกีดขวางทางการบิน บริเวณด้านเหนือ (เขาโกรกตะแบก) และเพื่อใช้สำหรับการปฏิบัติการบิน และเดินอากาศ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยตามมาตรฐานอุตสาหกรรมการบิน
ดัน 223 โครงการ 1.36 แสนล้าน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าในปีงบประมาณ 2568 กระทรวงคมนาคมมีดำเนินโครงการด้านคมนาคมทั้งสิ้น 223 โครงการ วงเงินลงทุน 136,492.43 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการต่อเนื่อง 107 โครงการ วงเงินลงทุน 53,622.78 ล้านบาท และโครงการใหม่ 116 โครงการ วงเงินลงทุน 82,869.65 ล้านบาท ประกอบด้วย
1)การขนส่งทางถนน แบ่งเป็น โครงการต่อเนื่อง 15 โครงการ และโครงการใหม่ 35 โครงการ เช่น โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา), ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 5 ทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5), มอเตอร์เวย์หมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทอง (M9), โครงการก่อสร้างทางพิเศษ จ.ภูเก็ตเฟสที่ 1 ช่วงกะทู้-ป่าตอง
2)การขนส่งทางราง มีโครงการที่สำคัญ 69 โครงการ เป็นโครงการต่อเนื่อง 36 โครงการ เช่น การผลักดันกฎหมายร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และร่างพ.ร.บ.การขนส่งทางรางฯ รวมถึงการจัดทำกฎหมายลำดับรองภายใต้ร่างพ.ร.บ.และการเดินหน้านโยบายลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ทุกสาย รวมถึงโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยาย 2 เส้นทาง
3)การขนส่งทางอากาศ แบ่งเป็น โครงการต่อเนื่อง 19 โครงการ เช่น การพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2, การพัฒนาท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ระยะที่ 1 และติดตั้ง Automatic Border Control ระยะที่ 2 ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการบริเวณจุดตรวจหนังสือเดินทาง
4)การขนส่งทางน้ำ มีโครงการที่สำคัญ 26 โครงการ เป็นโครงการต่อเนื่อง 20 โครงการ เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 การพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ และการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการผลักดันกฎหมายร่างพ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. ... เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์และการท่องเที่ยว, โครงการพัฒนาท่าเรือท่องเที่ยว (Cruise Terminal) สมุย พัทยา ภูเก็ต เป็นต้น
5)การขนส่งทางบก มีโครงการที่สำคัญ 41 โครงการ เป็นโครงการต่อเนื่อง 17 โครงการ เช่น การส่งเสริมการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนเสริม (Feeder) ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล , การจัดหาโดยสารปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า 1,520 คัน และรถโดยสารระหว่างจังหวัดพลังงานไฟฟ้า 54 คัน การพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร)
สำหรับแผนการดำเนินโครงการในปี 2569 มีจำนวน 64 โครงการ วงเงินลงทุนประมาณ 116,962.12 ล้านบาท แบ่งเป็น 5 มิติ ประกอบด้วย การขนส่งทางถนน 21 โครงการ โดยจะเร่งผลักดันการพัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์และทางพิเศษ เช่น โครงก่อสร้างทางพิเศษ จ.ภูเก็ต เฟสที่ 2 ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้, มอเตอร์เวย์ M8 นครปฐม–ปากท่อ
ด้านการขนส่งทางราง จำนวน 14 โครงการ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ผลักดันการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย และจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า พร้อมอะไหล่ 113 คัน เป็นต้น
ส่วนการขนส่งทางอากาศ เสริมศักยภาพท่าอากาศยานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง 9 โครงการ เช่น ก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) และออกแบบอาคารผู้โดยสารด้านใต้ (South Terminal) และทางวิ่งเส้นที่ 4 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, การขนส่งทางบก ได้ดำเนินโครงการใหม่ 10 โครงการ เช่น การก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้า จ.สุราษฎร์ธานี พัฒนาระบบการกำกับดูแลการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกผ่านระบบดิจิทัล เป็นต้น, การขนส่งทางน้ำ เช่น การศึกษาแนวทางส่งเสริมไทยให้เป็นศูนย์กลางมารีน่าของอาเซียน, สนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติการบินอากาศยานทางทะเล (Seaplane Operations)
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ