อสังหาฯไทยเนื้อหอม 'จีน-ญี่ปุ่น-ไต้หวัน' พรึบ
Loading

อสังหาฯไทยเนื้อหอม 'จีน-ญี่ปุ่น-ไต้หวัน' พรึบ

วันที่ : 8 มกราคม 2568
สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า การปรับตัวของผู้ประกอบการรับมือกับการแข่งขันจากผู้ประกอบการต่างชาติ ต้องปรับปรุงการบริหารจัดการภายในองค์กร เพื่อกระชับเวลาวงจรการก่อสร้าง การบริการให้รวดเร็วขึ้น
    แหล่งข่าวจากวงการอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีบริษัทขนาดใหญ่จากประเทศจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น เข้ามาลงทุนในประเทศไทยหลากหลายธุรกิจ รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ด้วย โดยแต่ละประเทศมีจุดมุ่งหมายลงทุนต่างกัน อย่างจีนจะลงทุนทั้งคอนโดมิเนียมและแนวราบ ในรูปแบบร่วมทุนพัฒนาแข่งกับผู้ประกอบการไทย ส่วนไต้หวันมองหาที่ดินเพื่อลงทุนขยายโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทำให้เกิดดีมานด์ที่อยู่อาศัยต่อไป ขณะที่ญี่ปุ่นสนใจร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการอสังหาฯไทย ล่าสุด มีสมาพันธ์ที่อยู่อาศัยของอสังหาฯญี่ปุ่น สนใจลงทุน อสังหาฯโลว์คาร์บอนในไทย ทั้งบ้านและคอนโดมิเนียมโซนรังสิต-องครักษ์ คลองสี่ และทองหล่อ หรือบริษัทต่างชาติ รายใหญ่เข้ามาเปิดสำนักงานย่านพระราม 4 ได้ซื้อคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง 20 ยูนิต มูลค่า 240 ล้านบาท ให้พนักงานอยู่อาศัย

    นายสุนทร สถาพร นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า การปรับตัวของผู้ประกอบการรับมือกับการแข่งขันจากผู้ประกอบการต่างชาติ ต้องปรับปรุงการบริหารจัดการภายในองค์กร เพื่อกระชับเวลาวงจรการก่อสร้าง การบริการให้รวดเร็วขึ้น การก่อสร้างมีคุณภาพและความแข็งแรงมากขึ้น สามารถรับประกันได้นานขึ้น รวมถึงบริการหลังการขาย สร้างวงจรการอยู่อาศัยให้เป็นชุมชนที่มีคุณภาพที่ดีได้ในระยะยาว และภาครัฐต้องมีการจัดเก็บภาษีการซื้อคอนโดหรือเช่าที่ดินของ ชาวต่างชาติสูงกว่าคนไทย เพื่อนำภาษีมาซัพพอร์ตที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย

    นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ กล่าวว่า การปรับตัวของผู้ประกอบการอสังหาฯปี 2568 การร่วมทุนผู้ประกอบการไทยและต่างชาติคงมีให้เห็น โดยเฉพาะจากญี่ปุ่นให้ความสนใจกับตลาดไทยมากเป็นพิเศษ และการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการอสังหาฯไทยไปธุรกิจอื่นเพื่อสร้างรายได้ในระยะยาวมากกว่าการเป็นผู้พัฒนาอสังหาฯ อย่างเดียว เพื่อกระจายความเสี่ยง ทั้งนี้ ปี 2568 ภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัวหรือขยายตัวไม่แตกต่างจากปี 2567 มากนัก ตลาดอสังหาฯอยู่ในทิศทางไม่แตกต่างจากภาวะเศรษฐกิจ แต่อาจได้อานิสงส์การขายให้กับชาวต่างชาติมากขึ้น แรงกดดันนโยบายใหม่ของสหรัฐ ทำให้ความต้องการที่อยู่ ชาวต่างชาติในไทยมากขึ้นทั้งซื้ออยู่อาศัยและเพื่อลงทุน
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ