'กำลังซื้อ' ต่างจังหวัดวูบ 30% อสังหาฯสต็อกพุ่ง1.2ล้านล้าน
Loading

'กำลังซื้อ' ต่างจังหวัดวูบ 30% อสังหาฯสต็อกพุ่ง1.2ล้านล้าน

วันที่ : 24 มิถุนายน 2567
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) กล่าวว่า ณ ไตรมาส 1 ปี 2567 มีที่อยู่อาศัยคงค้าง 213,429 หน่วย เพิ่มขึ้น 16.4% คิดเป็นมูลค่า 1,217,916 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.5%โดยบ้านจัดสรรเหลือขาย เพิ่มขึ้น 12.8% อาคารชุดเหลือขาย เพิ่มขึ้น 22.3% คาดว่าต้องใช้เวลา 40 เดือนถึงขายหมด
   ธุรกิจป่วนหนักกำลังซื้อทรุด ลากยาว ค้าปลีกค้าส่ง รายย่อย ร้านอาหาร ต่างจังหวัด ยอดร่วง 30-40% หวั่นปัญหาสภาพคล่องขยายวงกว้าง ด้าน อสังหาฯ อ่วม รีเจกต์สูง สต็อก 1.2 ล้านล้าน คาดระบายไม่ต่ำกว่า 40 เดือน "ท่องเที่ยว" เร่งดึง นักท่องเที่ยว 20 ล้านคนครึ่งปีหลัง ด้านผู้ประกอบการ จี้รัฐหนุนมาตรการกระตุ้น ดึง "คนละครึ่ง-ธงฟ้า" แก้วิกฤติค่าครองชีพ มอง "ดิจิทัลวอลเล็ต" ไม่ช่วย ร้านค้าย่อย เงื่อนไขซับซ้อน เงินเข้าสู่ระบบช้า

   สถานการณ์กำลังซื้อยังคงเปราะบางและชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มฐานล่าง ธุรกิจรายย่อยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ได้รับผลกระทบจากการบริโภคที่ลดลงสะท้อนผ่าน "ยอดขาย" หดตัวลงมากเป็นจุดเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง

   นายสมชาย พรรัตนเจริญ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจ ค้าส่งและค้าปลีกทั่วประเทศอยู่ในสภาวะไม่ดีนัก โดยเฉพาะกำลังซื้อต่างจังหวัดชะลอตัวหนัก ลูกค้าลดการใช้จ่ายสินค้าทุกกลุ่ม 15-30% เน้นสินค้าจำเป็นมากที่สุด ทั้งนี้ ร้านค้าขนาดเล็ก หรือร้านโชห่วย ทั่วประเทศกว่า 4 แสนร้านค้า รวมถึงร้านค้าส่งค้าปลีก และห้างค้าปลีกต่างจังหวัด กว่า 100 ราย ได้รับผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ทั้งจาก กำลังซื้อ ต้นทุนที่สูงขึ้น การแข่งขันที่รุนแรง บางรายต้องปิดกิจการ

    ทั้งนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเน้นเป็นรายกลุ่ม เช่น ผลักดันนโยบายคนละครึ่ง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ร้านค้ารายย่อยได้รับ ผลดีมากที่สุด เงินกระจายทั่วประเทศ ส่วน ดิจิทัล วอลเล็ต มองว่า มีหลายขั้นตอนและต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าเงินจะมาถึงร้านค้า

    "ร้านยี่ปั้ว ซาปั้ว ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการดิจิทัล วอลเล็ต จะต้องซื้อของมาสต็อกไว้ ไม่รู้ว่าขายได้แค่ไหน สินค้าจะเป็นสต็อกยาว กลายเป็นต้นทุนหรือไม่ ที่สำคัญใช้เวลา หลายเดือนกว่าจะได้เงิน ขั้นตอนไม่สะดวก ทำให้ร้านค้าไม่ค่อยอยากเข้ามาร่วม เพราะมีต้นทุนทางการเงินสูง และไม่อยากเสี่ยงเรื่องสภาพคล่องอีก"

    รายย่อยต่างจังหวัดสภาพคล่องหดหนัก

    นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ผู้บริหาร ตั้งงี่สุน จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ภาพรวม กำลังซื้อในต่างจังหวัดหดตัวลงกว่า 30% กระทบ ต่อสภาพคล่องของร้านค้าปลีกรายย่อย รวมถึงร้านค้าส่ง-ค้าปลีกต่อเนื่อง ทำให้มีกระแสข่าว ผู้ประกอบการค้าส่ง-ค้าปลีกในต่างจังหวัด ปิดตัวลง ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าแนวโน้มจะเป็นอย่างไรต่อไป

     "ผู้ค้าปลีกจังหวัดมุ่งเน้นการบริหารต้นทุนให้ดีที่สุดและดูแลสภาพคล่อง เพื่อสามารถบริหารร้านต่อไปได้ ภาครัฐต้องเร่งออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุด ผลักดันความร่วมมือกับผู้ผลิตร่วมลดราคาสินค้า 3-6 เดือนจากนี้ เพื่อทำให้คนไทยมีค่าใช้จ่ายที่ลดลง เพิ่มสภาพคล่องให้ร้านค้าทั่วประเทศ"

      สำหรับ ดิจิทัล วอลเล็ต ที่จะใช้ช่วงเดือน ธ.ค. มองว่า นโยบายมีหลายเงื่อนไขที่ซับซ้อน รวมทั้งการที่ร้านค้าต้องไปซื้อสินค้ามาก่อน และใช้เวลา 3-6 เดือน กว่าเงินจะเข้าสู่ระบบ เสมือนนโยบายนี้ ทำให้ร้านค้าต่างๆ เป็นคนนำเงินเข้าไปสู่ระบบตั้งแต่แรก ทั้งที่ปัจจุบันร้านค้าก็มีสภาพคล่องที่ หดตัวมากอยู่แล้ว อยากให้รัฐปรับใช้นโยบายเดิมที่เคยทำแล้วประสบความสำเร็จ ทั้ง ธงฟ้าประชารัฐ คนละครึ่ง ที่ส่งผลดีต่อร้านค้าในต่างจังหวัด สูงมาก มากระตุ้นทำให้เงินสะพัดในระบบ ทำให้เศรษฐกิจคึกคักและขยายตัว

      ธุรกิจร้านอาหารต่างจังหวัดลำบาก

      นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารครึ่งปีแรกไม่ดีนัก เฉพาะเดือน พ.ค. ยอดขายหดตัวมากถึง 40% แย่กว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ยิ่งต่างจังหวัดสถานการณ์ค่อนข้างลำบาก เพราะเข้าสู่ฤดูฝน เป็นโลว์ซีซัน หากร้านค้ารถเข็น ไม่สามารถขายอาหารได้เพียง 1 สัปดาห์ต้อง ปิดกิจการ ซึ่งร้านรถเข็น หรือสตรีทฟู้ด มีนับล้านราย ทั่วประเทศ ขณะที่ร้านในกรุงเทพฯ หรือ เขตเมืองยังมีโอกาสค้าขาย จากผู้บริโภคทานอาหารนอกบ้าน ใช้เป็นแหล่งพบปะ สังสรรค์ เจรจาเรื่องงาน

     "ธุรกิจร้านอาหารปีนี้ไม่ดีนัก หากมองตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทย แต่ร้านอาหารไม่คึกคัก เพราะนักท่องเที่ยวรู้แหล่ง กินอาหารประหยัดตามศูนย์อาหารใน ห้างค้าปลีก บางส่วนไปกินร้านอาหารของ ผู้ประกอบการจีนเป็นเจ้าของ การแข่งขันเพื่อแย่งตลาดก็มากขึ้น"

      อยากให้พิจารณาการผันเงินสู่ภาคท่องเที่ยว และร้านอาหารด้วย โดยให้วงเงิน 50,000 ล้านบาท หรือช่วยค่าใช้จ่าย 50% แก่ผู้บริโภค เชื่อว่าจะทำให้เงินหมุนเวียนได้ 4-5 รอบ เช่น ร้านอาหารใช้จ่าย 30,000 บาท ซื้อวัตถุดิบ 100 รายการ จะไปถึงเกษตรกร ผู้ผลิตสินค้า และเกิดการจ้างงานมหาศาล

      กำลังซื้อลดจุดเสี่ยงเศรษฐกิจไทย

      นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กำลังซื้อผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง ถือเป็นจุดเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย รวมถึงภาคธุรกิจ หากพิจารณารายได้ประชาชนอาจไม่ได้น้อยลง แต่ภาระ ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น จากต้นทุนทางการเงิน เช่น ดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย หนี้นอกระบบ รวมถึงมิจฉาชีพที่หลอกดึงเงินของประชาชนชาวไทย

      "กำลังซื้อกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด หายไปทั้ง 2 ส่วน ส่วนมาตรการเพิ่มเงินในกระเป๋าของภาครัฐ ไม่ใช่ทางออกเดียวในการแก้ปัญหา แต่ต้องทำให้เงินเหลือมากขึ้น มีกำลังซื้อมากขึ้น แก้ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ต้องแก้โจทย์นี้ด้วย"

       6 เดือนหลังเร่งดึงนักท่องเที่ยว 20 ล้านคน

       นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศได้รับผลกระทบจากปัญหากำลังซื้อคนไทยซบเซา โดยเฉพาะต่างจังหวัดระวังการใช้จ่ายยิ่งขึ้น จากปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่ง โรงงานปิดตัว รวมถึงยอดรถยนต์ใหม่ขายไม่ออก เป็นอีกตัวเลขที่สะท้อนปัญหากำลังซื้อคนไทยชัดเจน

        ด้านตลาดท่องเที่ยวจากต่างประเทศ จุดเสี่ยง คือปัจจัยความไม่แน่นอนอันคาดเดาไม่ได้ เหมือนวิกฤติโควิดที่เพิ่งจบไป ส่วนปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อ ไม่ได้รับผลกระทบชัดเจนนัก

       "ก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยพูดถึงเป้าหมายการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยให้ได้ 39 ล้านคน ในปีนี้ กลับไปใกล้เคียงปี 2562 ก่อนโควิดระบาด มองว่าเป็นตัวเลขที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ กระทั่งล่าสุดรัฐบาลประกาศเป้าหมายใหม่ 36.7 ล้านคน ความเป็นไปได้ก็ยังพอมี แต่ เท่ากับว่าช่วง 6 เดือนที่เหลือต้องทำให้ได้ 20 ล้านคน จากยอดสะสม 1 ม.ค.-16 มิ.ย. มี 16.2 ล้านคน"

       ทั้งนี้ โจทย์สำคัญคือการดึงนักท่องเที่ยวเข้าไทยต้องไม่กระจุกแค่เดือนใดเดือนหนึ่ง ขณะที่เป้าหมายการสร้างรายได้รวมการท่องเที่ยวจากทั้งในและต่างประเทศ 3.5 ล้านล้านบาทปีนี้ ก็ดูไม่สัมพันธ์กับเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 36.7 ล้านคน

       ด้านปัญหาต่างๆ ที่กำลังรุมเร้าภาคท่องเที่ยวไทย อาทิ ทัวร์ทุบตลาด ตามที่นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ระบุว่า เป็นรูปแบบการทุบตลาดของบริษัททัวร์นอมินีต่างชาติ กระทบต่อภาพลักษณ์ท่องเที่ยวไทย

       สำหรับภาพรวมอัตราการเข้าพักเดือน พ.ค. ทั่วประเทศอยู่ที่ 52% ลดลงจากเดือนก่อนเพราะเข้าสู่โลว์ซีซัน แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนตามจำนวน นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น โดย ภาคตะวันออกมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยมากสุด 65.6% ตามมาด้วยภาคกลาง 62.2% ภาคใต้ 54.5% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 38.1% และภาคเหนือ 25.2% คาดเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 47% ส่วนครึ่งปีหลังยังคาดการณ์ได้ยาก จากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวทั้งตลาดระยะใกล้และระยะไกลนิยมจองห้องพักโรงแรมแบบกระชั้นชิด (Last Minute) มากขึ้น

      สต็อก 1.2 ล้านล้าน คาดระบาย 40 เดือน

      นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ณ ไตรมาส 1 ปี 2567 มีที่อยู่อาศัยคงค้าง 213,429 หน่วย เพิ่มขึ้น 16.4% คิดเป็นมูลค่า 1,217,916 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.5%โดยบ้านจัดสรรเหลือขาย เพิ่มขึ้น 12.8% อาคารชุดเหลือขาย เพิ่มขึ้น 22.3% คาดว่าต้องใช้เวลา 40 เดือนถึงขายหมด

     นายสมบูรณ์ วศินชัชวาล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อสังหาริมทรัพย์รับแรงช็อกของอัตราดอกเบี้ยที่ขยับขึ้นทำให้ลูกค้าเริ่มได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยจริง เมื่อดอกเบี้ยโปรโมชั่นครบกำหนด เรต MLR ขยับขึ้น 2% ลูกค้าที่เคยผ่อนไหว เริ่มผ่อนไม่ไหวกลายเป็น NPA (Non-Performing Asset)

     ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง และปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ส่งผลต่อยอดการปฏิเสธสินเชื่อกู้จากธนาคารสูงขึ้น ทำให้บริษัทปรับกลยุทธ์โดยไม่เปิดตัวโครงการทาวน์โฮมราคา 3-5 ล้านบาท และบางโครงการยังมีสต็อกอยู่ เช่นเดียวกับบ้านแฝดระดับราคา 5-10 ล้านบาท ไม่มีแผนเปิดโครงการเพิ่มในปีนี้