Q1ยอดโอนที่อยู่อาศัยร่วงหนักลดลง-13.8%ต่ำสุดในรอบ25ไตรมาส
Loading

Q1ยอดโอนที่อยู่อาศัยร่วงหนักลดลง-13.8% ต่ำสุดในรอบ25ไตรมาส

วันที่ : 17 พฤษภาคม 2567
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า ทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงต้นปี 2567 ที่ชะลอตัวลงแรง ได้มีทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้นหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสนับสนุนการมีที่อยู่อาศัยของประชาชนกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจ ที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอลังหาริมทรัพย์
         นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ (REIC) แถลงตัวเลขเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอสังหาริมทรัพย์ด้านที่อยู่อาศัยที่สำคัญของไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่า การชะลอตัวอย่างมากของตลาดที่อยู่อาศัยในไตรมาส 1 ปี 2567 ทั้งด้าน อุปสงค์และอุปทาน โดยในด้านอุปสงค์ที่พบว่า หน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศมีเพียงจำนวน 72,954 หน่วย ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำสุด ในรอบ 25 ไตรมาส (2561-Q1/2567) และยังมีการขยายตัวลดลง -13.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 ที่มีจำนวน 84,619 หน่วย โดยแนวราบลดลงมากสุดถึง -18.9% และอาคารชุดลดลง -0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศไตรมาส 1 ปี 2567 จำนวน 208,732 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนมูลค่า โอนกรรมสิทธิ์ที่ต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส (Q3/2562-Q1/2567) และยังมีการขยายตัวลดลง -13.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 ที่มีจำนวน 241,167 ล้านบาทโดยแนวราบลดลงมากสุดถึง -14.6% และอาคารชุดลดลง -10.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

         ทั้งนี้หน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยมีการขยายตัวลดลงในทุกระดับราคา โดยกลุ่มราคาที่มีการลดลงสูงสุด คือระดับราคา 5.01-7.50 ล้านบาท ที่ลดลง -20.0% รองลงมาคือ ระดับราคา 1.51-2.00 ล้านบาท ที่ลดลง -19.8% ระดับราคา 3.01-5.00 ล้านบาท ที่ลดลง -18.2% และระดับราคา 2.01-3.00 ล้านบาท ที่ลดลง -18.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า ตลาดในระดับราคาเกิน 3 ล้านบาทขึ้นไป มีการโอนกรรมสิทธิ์บ้านใหม่ที่มากกว่าบ้านมือสอง ขณะที่ตลาดในระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่เป็น บ้านมือสองที่สูงกว่าบ้านใหม่

         ขณะที่ด้านอุปทานการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยทั่วประเทศไตรมาส 1 ปี 2567 ก็มีจำนวนพื้นที่การออกใบอนุญาตก่อสร้างทั่วประเทศชะลอตัวลง โดยมีจำนวนที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพียง 8,878,735 ตารางเมตรลดลง -12.0% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 ที่มีจำนวน 10,087,851 ตารางเมตร โดยพื้นที่ก่อสร้างแนวราบลดลง -12.2% และโครงการอาคารชุดลดลง -9.6%

         อย่างไรก็ดี ทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงต้นปี 2567 ที่ชะลอตัวลงแรง ได้มีทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้นหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสนับสนุนการมีที่อยู่อาศัยของประชาชนกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจ ที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอลังหาริมทรัพย์ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 ซึ่ง REIC เห็นว่าเป็นปัจจัยบวกที่จะช่วยให้เกิดการขยายตัวของตลาดที่อยู่อาศัย โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2567 จะ ส่งผลให้เกิดหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจำนวน ประมาณ 386,861 หน่วย มูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนประมาณ 1,105,912 ล้านบาท