คอลัมน์ Biz Insight: ยอดโอนร่วงระนาวจับตาสภาพคล่องอสังหาฯ
Loading

คอลัมน์ Biz Insight: ยอดโอนร่วงระนาวจับตาสภาพคล่องอสังหาฯ

วันที่ : 27 มิถุนายน 2567
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า ส่วนยอดขายได้ใหม่ ยังคงมีอัตราการขยายตัวที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2566 โดยไตรมาส 1 ปี 2567 มียอดขายใหม่ จำนวน 15,619 หน่วย ลดลง 26.6% มูลค่า 90,069 ล้านบาท ลดลง 14.5% แบ่งเป็น บ้านจัดสรรหน่วยขายได้ใหม่ ลดลง 16.1% และอาคารชุดหน่วยขายได้ใหม่ ลดลง 39%
     แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลังยังมีความหวังสัญญาณบวกจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐจะทำให้บรรยากาศใช้จ่ายฟื้นตัวดีขึ้น เป็นแรงส่งต่อภาคธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจ ถูกจับตาอย่างใกล้ชิด

     สมบูรณ์ วศินชัชวาล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจัยลบทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง และปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ส่งผลต่อยอดการปฏิเสธสินเชื่อกู้จากธนาคารสูงขึ้นต่อเนื่อง

     ดอกเบี้ยที่ขยับขึ้นทำให้ลูกค้าเริ่มได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยจริง เมื่อดอกเบี้ยโปรโมชั่นครบกำหนด เรต MLR ขยับขึ้น 2% ลูกค้าที่เคยผ่อนไหว เริ่มผ่อนไม่ไหวกลายเป็น NPA (Non-Performing Asset)

     "แม้ดีมานด์ลูกค้าทาวน์โฮมยังมีอยู่และขายได้ แต่โอนไม่ได้ ทำให้ชะลอ เพราะจากเดิมเคยขายอยู่ 400-500 ล้านบาท ลดลงเหลือ 100-200 ล้านบาท ต่อการเปิดตัวโครงการขายรวมทั้งยอดโอนลดลงจาก 400-500 ล้านบาท เหลือ 150-200 ล้านบาท ต่อโครงการต่อปี หายไปครึ่ง ส่วนกลุ่มลูกค้าบ้านแฝดจาก 10 คน ที่ยื่นกู้ ถูกปฏิเสธสินเชื่อ 3.5 คน ส่วนทาวน์โฮมถูกปฏิเสธสินเชื่อ 4 คน"

      ลูกค้าบางรายแม้ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้แต่ลูกค้าไม่เอาเพราะผ่อนไม่ไหว จากสถานการณ์ดังกล่าวบริษัทหันเปิดตัวโครงการที่มีระดับราคา 20 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อสร้างรายได้จากแบรนด์บ้านเดี่ยวแกรนดิโอ และโกลเด้น นีโอ ควบคู่กับ การระบายสต็อกสินค้าที่มีอยู่พร้อมกับการจัดแคมเปญทางการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย และไม่มีแผนเปิดตัวทาวน์โฮมระดับราคา 3-5 ล้านบาท ซึ่งบางโครงการยังมีสต็อกอยู่ เช่นเดียวกับบ้านแฝดระดับราคา 5-10 ล้านบาท ไม่มีแผนเปิดโครงการเพิ่มเช่นกันในปีนี้

      วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ไตรมาสแรกที่ผ่านมา ซัพพลายบ้านและคอนโดมิเนียม มีจำนวน 229,048 หน่วย เพิ่มขึ้น 11.9% มูลค่า 1,307,985 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.1% เป็นผลจากยอดขายได้ใหม่ (พรีเซลและสร้างเสร็จพร้อมโอน) ในปี 2566 ชะลอตัว โดยเฉพาะระดับราคาไม่เกิน 7.5 ล้านบาท และไตรมาส 4 ปี 2566 มีการเปิดตัวโครงการใหม่มูลค่าเพิ่มขึ้น 45% แต่จำนวนหน่วยลดลง ภาวะดังกล่าวส่งผลให้ไตรมาสแรกที่ผ่านมา โครงการเปิดตัวใหม่มีจำนวนหน่วย 16,356 หน่วย "ลดลง" 24.4% มีมูลค่า 119,232 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.3%

      ทั้งนี้ เป็นการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการเปิดตัวใหม่โครงการบ้านจัดสรร ที่เน้นโครงการบ้านเดี่ยวเป็นหลัก ซึ่งเปิดขายโครงการใหม่เพิ่มขึ้นถึง 85.1% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 157.7% ขณะที่การเปิดตัวใหม่ในกลุ่มโครงการอาคารชุด "ลดลง" ทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า โดยจำนวนหน่วยลดลง 40.0% มูลค่าลดลง 2.3% จากข้อมูลพบว่าโครงการใหม่ที่เปิดตัวไตรมาสแรก ปี 2567 ส่วนใหญ่เป็นโครงการราคาแพง

      ส่วนยอดขายได้ใหม่ พบว่า ยังคงมีอัตราการขยายตัวที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2566 โดยไตรมาส 1 ปี 2567 มียอดขายใหม่ จำนวน 15,619 หน่วย ลดลง 26.6% มูลค่า 90,069 ล้านบาท ลดลง 14.5% แบ่งเป็น บ้านจัดสรรหน่วยขายได้ใหม่ ลดลง 16.1% และอาคารชุดหน่วยขายได้ใหม่ ลดลง 39% ส่งผลให้จำนวนที่อยู่อาศัยเหลือขายมีอัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2566 จนถึงไตรมาส 1 ปี 2567 มีจำนวนที่อยู่อาศัยคงค้าง 213,429 หน่วย เพิ่มขึ้น 16.4% คิดเป็นมูลค่า 1,217,916 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.5%

      โดยหน่วยบ้านจัดสรรเหลือขาย เพิ่มขึ้น 12.8% และหน่วยอาคารชุดเหลือขาย เพิ่มขึ้น 22.3% ทั้งนี้เนื่องจากอัตราดูดซับ "ลดลง" ต่ำกว่าช่วงโควิด คาดว่าต้องใช้เวลา 40 เดือนถึงขายหมด ขณะที่อัตราดูดซับไตรมาส 1 ปี 2566 อยู่ที่ 3.5% หรือ ต้องใช้ระยะเวลาในการขายจนหมด 25 เดือน