ค่าก่อสร้างบ้าน Q4 ปี66 ปรับขึ้นไม่มาก เหตุ สุขภัณฑ์ โละสต๊อก-จีนดัมป์เหล็กเข้าไทย
Loading

ค่าก่อสร้างบ้าน Q4 ปี66 ปรับขึ้นไม่มาก เหตุ สุขภัณฑ์ โละสต๊อก-จีนดัมป์เหล็กเข้าไทย

วันที่ : 26 มกราคม 2567
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เผยดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐานในไตรมาส 4 ปี 66 ปรับขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.2 สัญญาณบ่งชี้ ราคาค่าก่อสร้างบ้านปี 67 ที่ทรงตัวในทิศทางขาลง

      เผย 4 หมวดรายการหลักปรับลดลง สุขภัณฑ์มากสุดร้อยละ -10.9 เหตุผู้ผลิตเร่งระบายสต๊อก ชี้โรงงานผลิตเหล็กจีน ดัมป์ราคาส่งออกตีตลาดอาเซียน-ไทย ฉุดราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กในประเทศรูดลง ร้อยละ -9 จับตา หมวดแรงงาน เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4

      ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) รายงานดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน ไตรมาส 4 ปี 2566 มีค่าดัชนีเท่ากับ 134.5 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2566 (QoQ) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งแสดงว่า ราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน ยังอยู่ในทิศทางที่ปรับตัวขึ้น แต่เป็นการปรับตัวขึ้นไม่มาก

      ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีราคาเพิ่มขึ้นนั้น มาจากค่าตอบแทนในหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในหมวดงานสถาปัตยกรรมร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่หมวดงานวิศวกรรมโครงสร้าง ลดลงร้อยละ -2.8 และ หมวดงานระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสาร ลดลงร้อยละ-0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY)

      ทั้งนี้ ทาง REIC ชี้ปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลให้ราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวลดลง นั้นว่า มี 4 รายการ ได้แก่ สุขภัณฑ์ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา และผลิตภัณฑ์คอนกรีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาสุขภัณฑ์ที่ลดลงมากที่สุดถึงประมาณร้อยละ -10.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยเป็นผลมาจากผู้ประกอบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง เพื่อระบายสต๊อกสินค้าในช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา

      ขณะที่ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กมีการปรับลดลงถึงร้อยละ -9.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากประเทศจีนส่งออกสินค้าเหล็กจำนวนมากไปยังภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย เนื่องจากประเทศจีนเกิดปัญหาการชะลอตัวด้านอสังหาริมทรัพย์และการเติบโตของเศรษฐกิจ ที่ไม่ได้สูงเหมือนที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้น แต่โรงงานเหล็กในประเทศจีน ยังมีการผลิตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเริ่มมีการระบายสินค้าจากจีนมายังตลาดโลก เป็นปริมาณสูงมากต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 และเข้ามาสร้างโกดังกระจายสินค้าโดยตรงในพื้นที่ EEC ของประเทศไทย ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างดุเดือด ส่งผลให้ราคาเหล็กโดยรวมในประเทศไทยปรับตัวลดลง

      สำหรับหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบนั้น พบว่า มี 2 หมวดที่ลดลง ได้แก่ งานวิศวกรรมโครงสร้าง มีอัตราค่าตอบแทนลดลงร้อยละ -2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และลดลงร้อยละ -1.1 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 27.2 ของหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ และงานระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสาร

      ส่วนงานสถาปัตยกรรม มีอัตราค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 (YoY) มีสัดส่วนร้อยละ 66.5 ของหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ และงานระบบสุขาภิบาล มีอัตราค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

      หมวดวัสดุก่อสร้าง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60.3 ของค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน พบว่า ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ที่มีสัดส่วนร้อยละ 28.7 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 และ กระเบื้องมีราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 แต่ในหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต, เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก, สุขภัณฑ์, อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา กลับมีราคาลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

     ในหมวดของแรงงาน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.7 ของค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน โดยค่าแรงงานมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน