ธุรกิจสร้างบ้าน ไม่โตแต่ไม่ฟุบ รอจังหวะฟื้นตัวรับโอกาสและความท้าทายปี67
Loading

ธุรกิจสร้างบ้าน ไม่โตแต่ไม่ฟุบ รอจังหวะฟื้นตัวรับโอกาสและความท้าทายปี67

วันที่ : 3 มกราคม 2567
HBA กล่าวว่า ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในปี 2566 นับเป็นอีกปีที่เต็มไปด้วยความท้าทายจากข้อจำกัดทางธุรกิจนับจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและความสามารถทางการเงินของผู้บริโภค
     ตลาดบ้านสร้างเองทั่วประเทศในปี 2566 หนึ่งในอุตสาหกรรมที่อยู่อาศัย ฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ จากตัวเลข ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ REIC พบว่าทั้งระบบของตลาดนี้ โดยเป็นบ้านสร้างเอง หรือรับสร้างบ้านทั่วประเทศ มีมูลค่ารวมกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี

    นายโอฬาร จันทร์ภู่ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (Home Builder Association : HBA) กล่าวว่า ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในปี 2566 นับเป็นอีกปีที่เต็มไปด้วยความท้าทายจากข้อจำกัดทางธุรกิจนับจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและความสามารถทางการเงินของผู้บริโภค รวมทั้งค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงจากต้นทุนสินค้าและอัตราดอกเบี้ย ซึ่งมีผลต่อการวางแผนปลูกสร้างบ้านให้ต้องชะลอการตัดสินใจออกไปแบบไม่มีกำหนด ทำให้ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านปี 2566 อยู่ในสถานการณ์ที่ทรงตัว โดยที่ไม่มีปัจจัยสนับสนุนให้ตลาดเติบโต และในขณะเดียวกันยังไม่เกิดภาวะถดถอยมากนัก เนื่องจากเป็นตลาดที่มีเรียลดีมานด์อยู่สูงมาก

    สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านเก็บตัวเลขยอดเซ็นสัญญาสร้างบ้านจากสมาชิก 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 มีมูลค่ารวมอยู่ที่กว่า 9,000 ล้านบาทคาดว่าถึงสิ้นปี บ้านที่สร้างกับบริษัทสมาชิกของสมาคมรับสร้างบ้าน จะมีมูลค่าราว 12,500 ล้านบาท เท่ากับปี 2565 จากเมื่อต้นปีประมาณการว่ามูลค่าปรับขึ้นเป็น 13,250 ล้านบาทในปลายปี 2566 แนวโน้มภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านปี 2567

    สำหรับแนวโน้มภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในปี 2567 นายโอฬารกล่าวว่า แม้ยังมีปัจจัยลบ เช่น อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ความไม่แน่นอนของราคาน้ำมัน รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาท ที่จะมีผลต่อต้นทุนวัสดุก่อสร้าง รวมถึงค่าขนส่ง

    อย่างไรก็ตาม ตลาดรับสร้างบ้านในปี 2566 ยังมีการขยายกำลังซื้ออย่างต่อเนื่อง สั่งสร้างบ้านบนที่ดินตนเอง โดยเฉพาะภูมิภาคมีอัตราการเติบโตที่ดี แสดงให้เห็นว่าความต้องการบ้านพักอาศัย (เรียลดีมานด์) ยังมีอยู่ จึงน่าจะเป็นแรงส่งให้ตลาดรับสร้างบ้านในปี 2567 มีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องจากผู้บริโภคที่เริ่มรับรู้และหันมาใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านมากขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม เช่น คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย การท่องเที่ยวที่ ฟื้นตัว

    นอกจากนี้ สมาคมฯ ได้ร่วมกับอีก 6 องค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย คณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ และสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย ร่วมจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อยื่นให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

    โดยทางสมาคมฯ ได้เตรียมข้อเสนอให้มีการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้านบนที่ดินของตนเอง ทั้งนี้จะยึดเอามูลค่าการก่อสร้างบ้านตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างที่ติดอากรแสตมป์ (อ.ส.4) กับกรมสรรพากร เพื่อนำไปเป็นหลักฐานการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาในรอบภาษีปีถัดไปได้ในอัตราลดหย่อนล้านละ 10,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งจะช่วยลดภาระให้กับผู้ที่ต้องการการปลูกสร้างบ้านบนที่ดินของตนเอง รวมทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทุกภาคส่วนที่เชื่อมโยงกับธุรกิจรับสร้างบ้านได้ด้วย ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวยังเป็นการจูงใจให้บริษัทผู้รับสร้างบ้านที่ทำธุรกิจอยู่ทั่วประเทศ และยังไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ

    "เชื่อมั่นว่ามาตรการขอลดหย่อนภาษีจะช่วยเร่งการตัดสินใจของผู้บริโภคที่ต้องการสร้างบ้านเองให้ตัดสินใจสั่งสร้างบ้านได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศโดยรวมเติบโตตามไปด้วย" นายโอฬารกล่าว.
"ตลาดรับสร้างบ้านในปี 2566 ยังมีการขยายกำลังซื้ออย่างต่อเนื่อง สั่งสร้างบ้านบนที่ดินตนเอง โดยเฉพาะภูมิภาคมีอัตราการเติบโตที่ดี แสดงให้เห็นว่าความต้องการบ้านพักอาศัย (เรียล ดีมานด์) ยังมีอยู่ จึงน่าจะเป็นแรงส่งให้ตลาดรับสร้างบ้านในปี 2567 มีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง จากผู้บริโภคที่เริ่มรับรู้และหันมาใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านมากขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม เช่น คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว"