สต็อกบ้าน-คอนโดทะลัก 1.95 แสนหน่วย ราคาไม่เกิน 2 ล้านอ่วม
Loading

สต็อกบ้าน-คอนโดทะลัก 1.95 แสนหน่วย ราคาไม่เกิน 2 ล้านอ่วม

วันที่ : 28 ธันวาคม 2566
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) สำรวจตลาดที่อยู่อาศัยกทม.-ปริมณฑลไตรมาส 3 ปี 2566 ชะลอตัว ยอดขายใหม่ลด -9.7% หน่วยเหลือขายพุ่ง 10% ทะลัก 1.95 แสนหน่วย ชี้บ้านราคาไม่เกิน 2 ล้าน สะสมสูงสะท้อนกำลังซื้อเปราะบาง
          
          ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) รายงานผลสำรวจภาคสนามสะท้อนอุปทานและอุปสงค์ของในตลาดที่อยู่อาศัยอยู่ระหว่างขาย สำหรับไตรมาส 3ปี 2566 ในพื้นที่กรุงเทพ มหานคร (กทม.) และปริมณฑล เฉพาะโครงการที่มีหน่วยเหลือขายไม่ต่ำกว่า 6 หน่วย พบว่าอุปทานที่อยู่อาศัยที่เสนอขายทั้งหมด 213,282 หน่วยเพิ่มขึ้น 8% โดยหน่วยเปิดตัวใหม่ มีจำนวน 20,281 หน่วยลดลง -15.1% ขณะยอดขายใหม่จำนวน 18,223 หน่วย ลดลง-9.7% ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยเหลือขายในโครงการต่าง ๆ มี จำนวน 195,059 หน่วย เพิ่มขึ้น 10 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ภาวะตลาดที่อยู่อาศัยในไตรมาส 3 ปี 2566 ตลาดในภาพรวมมีการเปิดตัวใหม่ที่เพิ่มมากกว่ายอดขายใหม่ในไตรมาสนี้ ส่งผลให้ภาพรวมของตลาดที่อยู่อาศัยมีหน่วยเหลือขายที่เพิ่มขึ้นมากถึง 10% แต่พบว่าหน่วยเปิดตัวใหม่ของบ้านจัดสรรมีจำนวนหน่วยที่เปิดตัวมากกว่ายอดขายได้ใหม่ถึง 2,463 หน่วย หรือมากกว่าถึง 23.6% ในขณะที่อาคารชุดมีจำนวนหน่วยเปิดตัวใหม่น้อยกว่ายอดขายได้ใหม่ 405 หน่วย หรือ 5.2% แต่ยอดขายของอาคารชุดที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนทำให้ไม่สามารถดูดซับหน่วยเหลือขายที่เหลือสะสมมาจาก 6 ไตรมาสก่อนหน้าได้ ส่งผลให้ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีจำนวนที่อยู่อาศัยเหลือขาย รวมทั้งสิ้น 195,059 หน่วย มูลค่า 1,014,581 ล้านบาท โดยสัดส่วนหน่วยอาคารชุดเหลือขาย 38.3% หรือ  74,657 หน่วย มูลค่า 287,961 ล้านบาท

          ส่วนสัดส่วนบ้านจัดสรรเหลือขาย 61.7% หรือ 120,402 หน่วย มูลค่า 726,620 ล้านบาท ซึ่งพบว่า อาคารชุดมีหน่วยที่เหลือขายเพิ่มขึ้น  18.1%  บ้านจัดสรรมีหน่วยที่เหลือขาย เพิ่มขึ้น  5.5% ขณะที่ มูลค่าของอาคารชุดที่เหลือขายเพิ่มขึ้น 5.1% มูลค่าบ้านจัดสรรที่เหลือขาย เพิ่มขึ้น  21.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

          ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ภาพรวมของตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงไตรมาส 3 ปี 2566 ได้เข้าสู่ภาวะที่มีการชะลอตัวของตลาดแล้ว ทั้งตลาดในกลุ่มบ้านจัดสรรและอาคารชุด โดยมียอดขายภาพรวมลดลง -9.7% และกลุ่มที่มียอดขายลดมากระดับราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มียอดขายลดลง -17.1% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลดลงจากยอดขายอาคารชุด  ระดับราคา 2.01-5 ล้านบาทที่มียอดขายลดลง -6.5% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลดของยอดขายทาวน์เฮ้าส์ และระดับราคามากกว่า 10 ล้านบาท ที่มียอดขายลดลง-17.9% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลดจากยอดขายของบ้านเดี่ยว และมีข้อสังเกตว่า หน่วยเหลือขายของที่อยู่อาศัยประเภทตามระดับราคาที่กล่าวถึงนี้ พบการการสะสมเพิ่มเพิ่มในช่วง 3 ไตรมาสปี 2566 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า ยอดขายที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มักเกิดจากขายได้ดีในช่วง 1-2 ไตรมาสที่มีการเปิดตัว หลังจากนั้นยอดขายโครงการที่เปิดมาระยะหนึ่งแล้วก็มักชะลอทำให้เกิดหน่วยเหลือขายสะสมในตลาดมากขึ้น