อสังหาฯ น่าห่วง สต๊อกท่วม กำลังซื้อหด ต้นทุนดีด ปรับขึ้นราคา จับตาหนี้เสียไหล
Loading

อสังหาฯ น่าห่วง สต๊อกท่วม กำลังซื้อหด ต้นทุนดีด ปรับขึ้นราคา จับตาหนี้เสียไหล

วันที่ : 25 ธันวาคม 2566
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ระบุว่า ที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นเซกเมนต์ตลาดกลาง-ล่าง มีดีมานด์สูงมากกว่าราคาอื่นๆ เพราะมีสัดส่วนหน่วยโอนสัดส่วนสูงถึง 75% ดังนั้นจึงมีข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือ เช่น ต่ออายุมาตรการลดค่าโอนและจำนองที่กำลังจะหมดอายุวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ออกไปอีก 1-2 ปี
         
          ออกอาการน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ ผลพวงจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น ลูกค้าที่ผ่อนบ้านอยู่ก็ไปต่อไม่ไหว ส่วนคนที่คิดจะซื้อใหม่ก็ลังเล ไม่เพียงทำมาหาได้ฝืดเคือง ดอกเบี้ยที่แข่งกันขึ้นทำเอาอ่วมถ้วนหน้า เป็นสภาพชีวิตคนไทยในสังคมรวยกระจุกจนกระจาย

         ธุรกิจอสังหาฯ ที่เคยสดใส ทำกำไรปังๆ ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยทุกประเภทล่าสุดเหลือสต๊อกบานเบอะ โดย นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ชี้ว่า สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยใหม่ทุกประเภททั้งบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม ระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีหน่วยสะสมเหลือขาย ณ สิ้นไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 93,607 หน่วย เพิ่มขึ้น 11.5% จากไตรมาส 4 ปี 2565 มีจำนวน 86,878 หน่วย ส่วนมูลค่าอยู่ที่ 223,446 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับไตรมาส4 ปี 2565 มีมูลค่าอยู่ที่ 207,391 ล้านบาท โดยคอนโดมิเนียมเหลือขายมากสุด 49,433 หน่วย มูลค่า 110,266 ล้านบาท ส่วนบ้านจัดสรรอยู่ที่ 44,174 หน่วย มูลค่า 113,180 ล้านบาท

          ทั้งนี้ เมื่อแยกรายประเภท จะเห็นชัดว่ากำลังซื้อของคนที่มีรายได้ปานกลางหดหายไป กล่าวคือ ทาวน์เฮาส์มีจำนวนหน่วยเหลือขายมากสุด 41,679 หน่วย มูลค่า 105,603 ล้านบาท รองลงมาเป็นบ้านแฝด 1,436 หน่วย มูลค่า 3,859 ล้านบาท บ้านเดี่ยว 828 หน่วย มูลค่า 3,091 ล้านบาทและ อาคารพาณิชย์ 231 หน่วย มูลค่า 626 ล้านบาท เมื่อพิจารณาจากหน่วยเหลือขายดังกล่าว ถ้าอัตราดูดซับยังเท่ากับปัจจุบันคงต้องใช้เวลาพอสมควรสำหรับการขายสำหรับที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท

          เมื่อดูยอดขายในปี 2566 ปรากฏว่าลดลงจากปี 2565 ทุกไตรมาส จากผลพวงปี 2565 และต้นปี 2566 มีการเปิดคอนโดมิเนียมราคาไม่แพงจำนวนมาก แต่ยอดขายกลับไม่ค่อยดี เนื่องจากขอสินเชื่อยาก เพราะปัจจุบันคนที่มีรายได้ปานกลางถึงน้อยก่อหนี้หลายทาง ตัวเลขหนี้แสดงในรายงานเครดิตบูโร เมื่อสถาบันการเงินพิจารณาความสามารถในการผ่อนชำระแล้วไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณา

          หนทางที่ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสซื้อบ้านได้ ในความเห็นของ ผอ. REIC มีข้อเสนอแนะว่าภาครัฐต้องผ่อนเกณฑ์หรือยกเลิกมาตรการ LTV ให้กู้ได้เต็มจำนวนสำหรับการกู้ทุกบัญชีโดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นบ้านหลังแรก และมีมาตรการช่วยให้เข้าถึงสินเชื่อซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยพิเศษสำหรับบ้านหลังแรก ลดค่าธรรมการโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนองเหลือ 0.01% เป็นต้น

          อย่างไรก็ดี ทั้งที่มีสต๊อกเหลือเพียบ แต่แนวโน้มการเปิดตัวโครงการใหม่กลับยังเพิ่มขึ้น โดย นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด หรือ LWS บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในครือ แอล. พี. เอ็น. คาดการณ์แนวโน้มการเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2567 ว่า มีแนวโน้มเติบโต 5-10% ส่วนการโอนกรรมสิทธิ์มีแนวโน้มใกล้เคียงกับปี 2566 หรือเติบโตไม่เกิน 5% ขึ้นกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง ความสามารถในการก่อหนี้ของผู้ซื้อและการพิจารณาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน

          เขายังประเมินว่า ปีหน้าราคาที่อยู่อาศัย มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 5-10% เป็นผลจากราคาที่ดิน ค่าแรง ราคาวัสดุก่อสร้าง และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัว สูงขึ้น

          LWS ยังวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการเติบโต ของเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์ปีหน้า 2567 ใน 3 ฉากทัศน์  กล่าวคือ กรณีที่ดีที่สุด (Best Case) เป็นการคาดการณ์บนพื้นฐานจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยเติบโตไม่น้อยกว่า 3.5-4% ตามการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สถานการณ์การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง การลงทุนภาครัฐสามารถดำเนินการตามแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะนโยบายแจกดิจิทัล วอลเล็ต วงเงิน 500,000 ล้านบาท ภายในไตรมาสสองของปี 2567 ภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศและการลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง ราคาพลังงานทรงตัวในระดับที่ไม่เกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับไม่เกิน 1.5%

          Best Case ดังกล่าวข้างต้น คาดว่าจะทำให้มีการเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ในเขตกรุงเทพฯปริมณฑล ในปี 2567 ประมาณ 110,000-115,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 497,000-520,000 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 5-10% เมื่อเทียบกับปี 2566 ซึ่งคาดการณ์การเปิดตัวโครงการใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล จำนวน 106,000 หน่วย มูลค่า 474,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยใหม่ทั่วประเทศในปี 2567 ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท หรือเติบโต 3% จากปี 2566 ที่ประมาณว่าจะมียอดการโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศประมาณ 377,382 หน่วย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.07  ล้านล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 0.1% จากปี 2565

          กรณีปกติ (Base Case) เป็นการคาดการณ์บนพื้นฐานจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยเติบโตประมาณ 2.5-3% ภาคการส่งออกฟื้นตัว การลงทุนของภาครัฐล่าช้าจากแผนที่วางไว้โดยเฉพาะโครงการแจกเงินดิจิทัล ที่อาจเลื่อนไปถึงไตรมาส 3 หรือ 4 ของปี ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศและการลงทุนของภาคเอกชนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และราคาพลังงานทรงตัวในระดับที่ไม่เกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับไม่เกิน 1.5%  คาดว่าจะทำให้มีการเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ในเขตกรุงเทพฯปริมณฑล ในปี 2567 ประมาณ 107,000-110,000 หน่วย มูลค่าประมาณ 481,000-497,000 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 3-5% และอัตราการโอนกรรมสิทธิ์จะมีแนวโน้มใกล้เคียงกับปี 2566 คือประมาณ 1.07 ล้านล้านบาท

          กรณีที่แย่ที่สุด (Worst Case) เป็นการคาดการณ์บนพื้นฐานจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยเติบโตน้อยกว่า 2.5% ภาคการส่งออกทรงตัว การลงทุนของภาครัฐไม่สามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะโครงการแจกเงินดิจิทัล ที่อาจจะไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนเนื่องจากข้อจำกัดของกฎหมายและประเด็นทางการเมือง ขณะที่ ภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศและการลงทุนของภาคเอกชนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ผลจากสถานการณ์สงครามที่ยืดเยื้อทั้งในชนวนกาซา และยูเครน ทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับเกินกว่า 2% จะทำให้มีการเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในปี 2567 ปรับลดลงมาใกล้เคียงกับปี 2566 หรือลดลงไม่น้อยกว่า 5% ขณะที่อัตราการโอนกรรมสิทธิ์มีแนวโน้มติดลบเมื่อเทียบกับปี 2566 หรือมีมูลค่าน้อยกว่า 1.07 ล้านล้านบาท

          ทั้งนี้ จากการสำรวจของ LWS คาดว่าในปี 2566 จะมีการเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล โดยมีจำนวนหน่วยเปิดตัวลดลงประมาณ 5-8% ขณะที่มูลค่าการเปิดตัวปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 10-15% เมื่อเทียบกับปี 2565 มีจำนวนการเปิดตัว 103,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 457,000 ล้านบาท อัตราขายเฉลี่ยในวันเปิดตัวโครงการในปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 17% ปรับตัวลดลงจากอัตราการขายเฉลี่ยในวันเปิดตัวโครงการที่  29% ในปี 2565 โดย 52% ของจำนวนหน่วยเปิดตัวใหม่เป็นโครงการบ้านพักอาศัย ที่เหลือ 48% เป็นอาคารชุดพักอาศัย ระดับราคาที่อยู่อาศัยเฉลี่ยในปี 2566 อยู่ที่ 5.2 ล้านบาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้น 17.38% จากราคาที่อยู่อาศัยเฉลี่ย 4.43 ล้านบาทต่อหน่วยในปี 2565 เป็นผลมาจากสัดส่วนการเปิดตัวที่อยู่อาศัยในระดับราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทเพิ่มขึ้น คิดเป็นสัดส่วนของมูลค่าสูงถึง 34% ของโครงการที่เปิดตัวใหม่ทั้งหมดในปี 2566

          ในขณะที่ที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จพร้อมขายและอยู่ระหว่างการก่อสร้างของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 39 บริษัท ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 อยู่ที่ 663,188.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.43% เมื่อเทียบกับมูลค่าที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จพร้อมขายและอยู่ระหว่างการก่อสร้างของบริษัทอสังหาฯ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่  600,548.76 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565  เมื่อเทียบกับยอดการรับรู้ของบริษัทอสังหาฯ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องใช้เวลาระบายสินค้าประมาณ 2 ปี 6 เดือน

          สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ในปี 2567 นอกจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยแล้ว ยังมีอีก 4 ปัจจัยเสี่ยงที่กระทบโดยตรงต่อภาคอสังหาฯ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ย ที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผล กระทบโดยตรงต่อต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้นในปี 2567 เมื่อเทียบกับปี 2566

          การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ 400 บาทต่อวัน ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2567 กระทบโดยตรงต่อต้นทุนการดำเนินงานของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ ราคาวัสดุก่อสร้าง มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ตามราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการก่อสร้างและระดับราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้น

          นอกจากนั้น ยังมีความเข้มงวดในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน เป็นปัจจัยที่กระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อในตลาด โดยในปี 2566 มีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่ระดับ 60-65% จากยอดการขออนุมัติสินเชื่อ ซึ่งในปี 2567 ธปท.ยังคงมีนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงิน เนื่องจากภาระหนี้ครัวเรือนที่สูง และสัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในกลุ่มสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยยังคงอยู่ในสัดส่วนที่สูง เมื่อเทียบกับสินเชื่อบุคคลประเภทอื่นๆ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อที่อยู่อาศัยในตลาด โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยที่มีระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ต่อหน่วย

          ก่อนหน้านี้ นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ให้ตัวเลขภาพรวมหนี้ครัวเรือนในระบบ ณ ไตรมาสที่ 2/2566 อยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.7% ต่อจีดีพี ขณะที่ยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยบนฐานข้อมูลเครดิตบูโร ณ ไตรมาสที่ 3/2566 อยู่ที่ 13.5 ล้านล้านบาท โดยสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) หรือบัญชีค้างชำระตั้งแต่ 31 วัน แต่ไม่เกิน 90 วัน ในไตรมาสที่ 3/2566 อยู่ที่ 4.9 แสนล้านบาท ที่มีปัญหามากที่สุดคือสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรถยนต์

          สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย มีอัตราการเติบโตของ SM สูงถึง 37.2% มียอดสินเชื่ออยู่ที่ 1.36 แสนล้านบาท เพิ่มจากไตรมาส 3/2565 ที่อยู่ 9.95 หมื่นล้านบาท และจำนวนบัญชีเพิ่มจาก 8.62 หมื่นบัญชี เป็น 1.05 แสนบัญชี หรือเติบโต 22.2% ซึ่งในจำนวนดังกล่าวจะอยู่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 9.3 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 68% โดยสัญญาณสินเชื่อบ้านที่มีราคา 1-3 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง เริ่มมีปัญหาในการผ่อนชำระติดขัดมากขึ้น และเริ่มเห็นการไหลจากสินเชื่อปกติเป็น SM มากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่จะต้องจับตา คือ อัตราการไหลจาก SM ไปเป็น NPL ของสินเชื่อบ้านจะมากน้อยขนาดไหน ซึ่งตามข้อมูลของ ธปท. หนี้ที่ตกชั้นเป็นเอ็นพีแอล (Migration Rate) ของสินเชื่อบ้านจะอยู่ที่ 22% หมายความว่าลูกหนี้ SM 100% จะมีความเสี่ยงที่จะไหลเป็น NPL ได้ 22% แต่ ธปท.ยืนยันว่ามีขาไหลกลับคืนมาเป็นหนี้ปกติด้วย

          ทางด้าน ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ปัญหายอดปฏิเสธสินเชื่อหรือกู้ไม่ผ่านในระดับสูง 50-60% กระจุกตัวในกลุ่มกำลังซื้อระดับกลาง-ล่าง ในกลุ่มที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยผลสำรวจข้อมูลการโอนกรรมสิทธิ์อสังหาฯในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน 2566) มีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์สะสมทั่วประเทศ 270,650 หน่วย ลดลง -2% ในจำนวนนี้พบว่า เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท สัดส่วน 75% หรือจำนวน 202,399 หน่วย ลดลง -7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2565

          ในด้านมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์สะสม ภาพรวมอยู่ที่ 766,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.6% เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2565 ในจำนวนนี้พบว่า มูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท มีสัดส่วน 42% มูลค่า 318,350 ล้านบาท ลดลง -6.5% เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2565 แสดงให้เห็นถึงบ้านและคอนโดมิเนียม ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่องจากหลายสาเหตุ ทั้งดีเวลอปเปอร์ชะลอการพัฒนาโครงการใหม่ เพราะมียอดปฏิเสธสินเชื่อสูงที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มราคา 3 ล้านบาทขึ้นไป รวมทั้งปัญหาแบงก์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ

          ดร.วิชัย กล่าวว่า ที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นเซกเมนต์ตลาดกลาง-ล่าง มีดีมานด์สูงมากกว่าราคาอื่นๆ เพราะมีสัดส่วนหน่วยโอนสัดส่วนสูงถึง 75% ดังนั้นจึงมีข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือ เช่น ต่ออายุมาตรการลดค่าโอนและจำนองที่กำลังจะหมดอายุวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ออกไปอีก 1-2 ปี, ผ่อนผันมาตรการ LTV เป็นการชั่วคราว, การจัดหาซอฟต์โลนสำหรับการซื้อบ้านหลังแรก และผ่อนปรนเกณฑ์พิจารณาสินเชื่อหากยังมีประวัติเครดิตติดอยู่ในเครดิตบูโร เช่นเคยมีประวัติค้างชำระบัตรเครดิต ต่อมาเมื่อชำระหนี้เต็มจำนวน แต่ประวัติเครดิตยังค้างอีก 6 เดือน ทำให้ขาดโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อ

          ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่อสังหาริมทรัพย์หดตัวลง สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตามรายงานข่าวของ นิกเกอิ เอเชีย เผยว่า บริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล (JLL) ได้จัดทำรายงานระบุว่า กิจกรรมการลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในไตรมาส 3 ปี 2023 ลดลง 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) ซึ่งถือเป็นยอดรายไตรมาสที่ต่ำที่สุดในรอบ 13 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2010

          สอดคล้องกับข้อมูลจาก เอ็มเอสซีไอ เรียลเอสเตท (MSCI Real Assets) ผู้ให้บริการข้อมูลตลาดอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า กิจกรรมการลงทุนและซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ในเอเชีย-แปซิฟิก ในไตรมาส 3 ปีนี้ ลดลง 37% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งนับเป็นการหดตัวลงเมื่อเทียบรายปี (YOY) ติดต่อกันแล้ว 6 ไตรมาส และสัดส่วนการเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ในเอเชีย-แปซิฟิกของนักลงทุนทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6%

          ทั้งนี้ MSCI ติดตามความเคลื่อนไหวของอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์และพอร์ตการลงทุนที่มีมูลค่า 10 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป ขณะที่ JLL ติดตามดีลที่มูลค่าสูงกว่า 5 ล้านดอลลาร์ ซึ่งข้อมูลทั้งสองชุดล้วนแสดงให้เห็นถึงการชะลอตัวของธุรกรรมในภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ในเอเชีย

          เบนจามิน โชว หัวหน้าฝ่ายวิจัยอสังหาริมทรัพย์เอเชีย ของ MSCI Real Assets ให้เหตุผลที่ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ว่าเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยจะสูงเป็นเวลานาน ซึ่งทำลายความหวังเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เร็ว
          พิษการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อกดตัวเลขเงินเฟ้อหลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาจากโควิด-19 ส่งผล กระทบในวงกว้างและลากยาวมาจนบัดนี้ ดับฝันคนที่อยากมีบ้าน ขณะที่ดีเวลลอปเปอร์ก็หืดจับ