REIC ชี้ที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุยังขาดแคลน เนิร์สซิ่งโฮม ทางออกสูงวัย Medical Hub แค่ขายฝันไร้แรงผลักดันจากรัฐ
Loading

REIC ชี้ที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุยังขาดแคลน เนิร์สซิ่งโฮม ทางออกสูงวัย Medical Hub แค่ขายฝันไร้แรงผลักดันจากรัฐ

วันที่ : 4 ธันวาคม 2566
PROPERTY DNA กล่าวว่า สถานการณ์ที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุในช่วงก่อนหน้านี้ หลายๆรัฐบาลช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการพูดถึงเรื่องของการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)
          อสังหาริมทรัพย์

          ความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศไทยที่กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในอีก 1-2 ปีข้างหน้าหรือการที่ประชากรไทยจะมีสัดส่วนผู้มีอายุเกินกว่า 60 ปี มากกว่า 20.0% ของประชากรไทยทั้งหมด และคาดการณ์ว่าประชากรผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจะมีสัดส่วนถึง 28.0% ในปี 2578 แต่การพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับผู้สูงอายุในปัจจุบันยังคงเติบโตช้า และไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้สูงอายุในปัจจุบัน

          ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) เปิดเผยว่า จากการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ พบว่า ปัจจุบันมีโครงการอสังหาฯ 758 แห่ง รองรับผู้สูงอายุได้รวม 19,490 คน มีอัตราการเข้าพัก 69.3% โดยพบว่า 1.เป็นโครงการประเภท เนิร์สซิ่งโฮม หรือสถานบริบาลผู้สูงอายุ จำนวนถึง 708 แห่ง รองรับได้รวม 15,324 คนหรือ 78.6% มีอัตราการเข้าพัก 63.7% 2. ประเภท Residential หรือที่อยู่อาศัยซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุแต่ยังสามารถดูแลตัวเองได้ ออกแบบโดยใช้หลักการ Universal Design จำนวน 19 แห่งรองรับได้รวม 1,328 คน เช่น สวางคนิเวศ สภากาชาด ไทย, โครงการเวลเนสซิตี้ และบุศยานิเวศน์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น มีอัตราการเข้าพัก 73.0% และ 3. ประเภท สถานสงเคราะห์/ มูลนิธิ 26 แห่ง รองรับได้รวม  2,681 คน มีอัตราการเข้าพัก 100.0% (4) ประเภท โรงพยาบาล 4 แห่ง รองรับได้รวม 155 คน และมีเข้าพัก 53.5% และประเภท Day Care จำนวน 1 แห่ง

          ทั้งนี้ การกระจายตัวของโครงการที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุใน 10 จังหวัดแรก มีจำนวน 574 แห่ง หรือ 75.7% ของที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุทั้งหมด โดยกระจายในจังหวัด กรุงเทพฯ 257 แห่ง รองรับได้รวม 7,140  คน มีอัตราการเข้าพัก 68.2% (2) นนทบุรี 78 แห่ง รองรับได้รวม 1,759 คน มีอัตราการเข้าพัก 68.3% จังหวัดเชียงใหม่ 54 แห่ง รองรับได้รวม 688 คน มีอัตราการเข้าพัก 81.8%  จังหวัดชลบุรี 42 แห่ง รองรับได้รวม 822 คน มีอัตราการเข้าพัก 64.6% จังหวัดปทุมธานี 39 แห่ง รองรับได้รวม 877 คน มีอัตราการเข้าพัก 72.5% จังหวัดนครปฐม 30 แห่ง รองรับได้รวม 876 เข้าพัก มีอัตราการเข้าพัก 59.1% จังหวัดสมุทรปราการ 24 แห่ง รองรับได้รวม 1,206 คน มีอัตราการเข้าพัก 40.1% จังหวัดขอนแก่น 19 แห่ง รองรับได้รวม 669 คน มีอัตราการเข้าพัก 88.9%  จังหวัดราชบุรี 16 แห่ง รองรับได้รวม 425 คน มีอัตราการเข้าพัก 39.1 % และ จังหวัดพิษณุโลก 15 แห่ง รองรับได้รวม 217 คน มีอัตราการเข้าพัก 79.1%

          จากการสำรวจยังพบว่า สิทธิในการครอบครองที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่เป็นประเภทสิทธิแบบเช่ารายเดือน 699 แห่ง หรือ ร้อยละ 92.5% รองลงมาเป็นประเภทสิทธิแบบการอยู่อาศัยตลอดชีวิต 34 แห่ง หรือ 4.5% สิทธิแบบมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย 14 แห่ง หรือ 1.9% และสิทธิการเช่าระยะยาว 9 แห่ง หรือ 1.2% ของโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยทั้งหมด

          ในด้านลักษณะโครงการ พบว่า ส่วนใหญ่มีการใช้อาคารที่มีลักษณะอาคารแบบบ้านเดี่ยว เป็นสัดส่วน 56.6% รองลงมาเป็นประเภทอาคารพักอาศัยรวม เป็นสัดส่วน 33.3% โดยจำแนกเป็นโครงการที่มีขนาดจำนวนเตียงไม่เกิน 20 เตียง เป็นสัดส่วน 54.8% และขนาดจำนวนเตียงเกินกว่า 20 เตียง 343 แห่ง เป็นสัดส่วน 45.2% ทั้งนี้พบว่า ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในปัจจุบันของไทยยังคงมุ่งเน้นการรองรับผู้สูงอายุไทยเป็นสำคัญ คือ ประมาณ 99.1%

          ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ให้ข้อสังเกตว่า "แม้ว่าโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในปัจจุบันมีการขยายตัวขึ้นอย่างมากในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา แต่ที่อยู่อาศัยที่พัฒนาขึ้นกระจุกตัว ในบางพื้นที่ ยังไม่ได้กระจายตัวไปครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง ทำให้ไม่สามารถมีที่อยู่อาศัยที่รองรับกลุ่มผู้สูงอายุได้อย่างทั่วถึง และ ในภาพรวมก็ยังมีจำนวนไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับความต้องการใน ปัจจุบัน"

          ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อเทียบกับจำนวนผู้สูงอายุของไทยที่ปัจจุบันมีจำนวน 12.9 ล้านคน และคาดว่าจะมีผู้สูงอายุที่ต้องการที่อยู่อาศัย ประมาณ 5% หรือประมาณ 650,000 คน แต่คาดการณ์ว่าอาจมีผู้สูงอายุที่สามารถเข้าสู่ระบบการบริการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุเพียง 1.0% หรือประมาณ 130,000 คน ขณะที่ในปัจจุบันมีที่อยู่อาศัยรองรับผู้สูงอายุได้เพียงไม่เกิน 20,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลมีจำนวน 435 แห่ง และรองรับได้ประมาณไม่เกิน 12,000 คนโดยมีสัดส่วนถึง 57.0% และ 61.4% ของทั่วประเทศ ตามลำดับ

          อีกทั้งโครงการที่มีการพัฒนาขึ้นส่วนใหญ่เป็นการรองรับกลุ่มคนที่มีฐานะปานกลางค่อนข้างดีและฐานะดีขึ้นไป ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุที่มีฐานะปานกลางและฐานะไม่ดีนักยังคงมีการขาดแคลนที่อยู่อาศัยในการรองรับอย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่า ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุของรัฐที่จัดให้บางแห่งในปัจจุบันมีผู้ลงชื่อรอขอเข้าอยู่อาศัย 2,500-3,000 คน แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดสามารถจัดที่อยู่อาศัยรองรับได้ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาลในการหาแนวทางในการพัฒนาที่อยู่อาศัยในการรองรับผู้สูงอายุได้เพียงพอสำหรับทุกกลุ่ม

          นอกจากนี้ ในการขับเคลื่อนนโยบายที่จะดึงดูดชาวต่างชาติในกลุ่มที่เกษียณอายุเข้ามาพำนักระยะยาวในประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จ ประเทศไทยต้องมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่มีมาตรฐานให้มีมากขึ้น ควบคู่กับการพัฒนา Medical Hub และ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศไทยเป็น Retirement Heaven และ Retirement Destination สำหรับผู้สูงอายุทั่วโลก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากที่จะช่วยดึงดูดชาวต่างชาติที่ต้องการหาที่พำนักระยะยาวช่วงวัยเกษียณ และทำให้ประเทศไทยเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในโลก ด้วยเหตุผลทางการเงินที่มีค่าใช้จ่ายที่สอดคล้องกับเงินบำนาญที่เขาได้รับ รวมถึงมีมาตรฐาน และการบริการที่ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

          เนิร์สซิ่งโฮมสำหรับผูสูงอายุ

          สำหรับเนิร์สซิ่งโฮม หรือ สถานบริบาลผู้สูงอายุ เป็นประเภทที่อยู่อาศัยผู้สูงที่มีการพัฒนาอย่างมากในปัจจุบัน โดย ณ ไตรมาส 2 ปี 66 พบว่าทั่วประเทศมีจำนวน 708 แห่ง จำนวนหน่วยที่เปิดให้บริการ ทั้งหมด 15,324 เตียง ใน 55 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในจังหวัดหลักและจังหวัดหัวเมืองทางภูมิภาค เช่น กรุงเทพฯและปริมณฑล เชียงใหม่พิษณุโลก นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชลบุรี ระยอง นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี เป็นต้น และพบว่า สำหรับเรื่องระดับราคาการให้บริการ พบว่า ช่วงราคาเช่าที่โครงการกำหนดไว้ที่มีจำนวนมากที่สุดคือ ช่วงราคา 10,001-20,000 บาท มีสัดส่วน 42.6% รองลงมาอันดับสองคือ ราคา 20,001-30,000 บาท มีสัดส่วน 36.1% และรองลงมาอันดับสามคือ ราคา 30,001-50,000 บาท มีสัดส่วน 14.2% และช่วงราคา 50,000 บาทขึ้นไป มีสัดส่วน 5.7% ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ช่วงราคาไม่เกิน 10,000 บาท มีสัดส่วน 1.5% เท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็น เนิร์สซิ่งโฮมที่เข้าถึงได้ (Affordable Nursing Home) สำหรับผู้สูงอายุโดยส่วนใหญ่ยังมีอยู่อย่างจำกัด

          การสำรวจข้อมูลการเข้าพักเนิร์สซิ่งโฮมของผู้สูงอายุ พบว่า จากจำนวนทั้งหมด 12,093 เตียง มีอัตราเข้าพัก 76.0% ของจำนวนเตียงที่เปิดให้บริการทั้งหมด โดยโครงการที่น้อยกว่า 20 เตียงมีอัตราเข้าพักสูงกว่าโครงการที่มีตั้งแต่ 20 เตียงขึ้นไป โดยพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราเข้าพักสูงที่สุด 81.4% รองลงมาคือภาคเหนือ 70.9% และภาคกลาง 68.6% เป็นที่น่าสังเกตว่ากรุงเทพฯ-ปริมณฑล ที่มีจำนวนเตียงสูงสุด แต่กลับมีอัตราเข้าพัก 63.1% ส่วนอัตราเข้าพักต่ำสุดคือภาคตะวันตก ประมาณ 51.3%

          ทั้งนี้เมื่อแยกตามรายจังหวัดพบว่า จังหวัดร้อยเอ็ด สกลนคร และสุรินทร์ มีอัตราเข้าพักที่ 100% แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าจังหวัดทั้งหมด เหล่านี้จะมีจำนวนโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุเพียง 1 โครงการ เท่านั้น ซึ่งสะท้อนอาจมีความต้องการเนิร์สซิ่งโฮมในพื้นที่เหล่านี้ แต่มีอุปทานมีอยู่ไม่เพียงพอ

          ด้าน นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ดีเอ็นเอ จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์ที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุในช่วงก่อนหน้านี้ หลายๆรัฐบาลช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการพูดถึงเรื่องของการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ซึ่งนโยบายอาจจะไม่ได้ต่อเนื่องหรือมีเรื่องอื่นๆ ที่เร่งด่วน และเห็นผลได้เร็วกว่าเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ ดังนั้น ความเคลื่อนไหวหรือการเปลี่ยนแปลงที่ขับเคลื่อนโดยภาพรัฐบาลเป็นหลักจึงอาจจะไม่ค่อยชัดเจนแต่สำหรับภาคเอกชนนั้นมีการขยับขยาย และเดินหน้าต่อเนื่องมาโดยตลอด ภาครัฐบาลอาจจะออกกรอบนโยบายมาแบบกว้างๆ แล้วให้ภาคเอกชนที่มีความพร้อมสนับสนุน ซึ่งจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจการรักษาพยาบาลในประเทศไทยนั้นมีเอกชนเป็นแกนนำแบบชัดเจน และคงเป็นไปตามนี้สำหรับรัฐบาลปัจจุบัน

          หลายๆ เรื่องรัฐบาลออกนโยบายมาเพื่อส่งเสริมให้ชาวต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทยมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดเจน คือ การที่รัฐบาลมีการออกวีซ่าให้กับชาวต่างชาติ 3 กลุ่ม คือ

          1) การให้วีซ่าพำนักระยะยาวสำหรับชาวต่างชาติที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติที่อายุไม่ต่ำกว่า 50 ปี จาก 14 ประเทศ เพื่อเข้ามาพักผ่อนหรือใช้ชีวิตหลังเกษียณ กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และกลุ่มผู้มีทักษะความเชี่ยวชาญพิเศษ โดยต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด

          2) การขยายฟรีวีซ่า 30 วัน ให้กับนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งอาจมีนักท่องเที่ยวบางส่วนใช้บริการรักษาพยาบาลที่ไม่ซับซ้อน ใช้เวลาไม่มากนัก เช่น การตรวจสุขภาพ ทันตกรรม

          3) การอนุมัติหลักการวีซ่าเพื่อการรักษาพยาบาลในกลุ่มโรคและหัตถการที่ไทยมีศักยภาพ ซึ่งมีระยะเวลา 1 ปี เดินทางเข้าออกได้หลายครั้ง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน

          ซึ่งมาตรการด้านวีซ่าทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมานั้น เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศไทยเพื่อวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการเข้ามาเพื่อรับการรักษาพยาบาลในประเทศไทย ซึ่งเป็น 1 ในมาตรการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเป็น Medical Hub แบบชัดเจน รวมไปถึงเรื่องของการที่มีความพยายามจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพอันดามัน (AWC) ครอบคลุม 6 จังหวัดทางภาคใต้ คือ ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง ตรัง และสตูล เพื่อให้มีความร่วมมือและการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันในการเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาล นอกเหนือจากการท่องเที่ยว เพราะความพร้อมในเรื่องของการเดินทาง และโรงพยาบาลภาคเอกชนที่ค่อนข้างหลากหลายและครอบคลุมหลายๆ พื้นที่ในทั้ง 6 จังหวัดดังกล่าว อีกทั้งเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวมากมายอยู่แล้ว

          นโยบายระยะยาวที่เริ่มดำเนินการมาแล้ว รวมไปถึงนโยบายใหม่ๆและการขับเคลื่อนของภาคเอกชนล้วนเป็นไปตามแนวทาง และเป็นไปตามเป้าหมายในระยะยาวที่รัฐบาลก่อนหน้านี้เคยวางเป้าหมายเอาไว้ คือเรื่องของการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2569

          การที่ธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเอกชนมีความแข็งแกร่ง และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติเป็นเรื่องที่ดี โรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยที่ได้รับมาตรฐาน JCI (Joint Commission International) ซึ่งเป็นบรรษัทเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรของสหรัฐฯมี พันธกิจในการยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของการให้บริการสุขภาพในสถานพยาบาลทั่วโลก โดย ณ ไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2566 ประเทศไทยมีโรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐาน JCI 61 แห่ง มากเป็นลำดับที่ 5 ของโลก ซึ่งเรื่องนี้มีผลโดยตรงต่อการเลือกใช้บริการโรงพยาบาลของชาวต่างชาติรวมไปถึงบริษัทประกันสุขภาพหรือบริษัทประกันภัยต่างๆในการส่งตัวคนในความคุ้มครองของกรมธรรม์พวกเขามารักษาพยาบาลในประเทศไทย บางบริษัทเลือกที่จะส่งคนมารักษาพยาบาล ผ่าตัด หรือแม้แต่การตรวจสุขภาพในประเทศไทย เพราะไม่เพียงมีโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองระดับนานาชาติแล้ว ยังเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมากอีกด้วย

          โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ของประเทศไทย เช่น BDMS มีรายได้จากคนไข้ชาวต่างชาติทั้งที่ทำงานในประเทศไทย และเดินทางเข้ามาเพื่อการรักษาพยาบาลโดยตรงในสัดส่วนประมาณ 27% ของรายได้ทั้งหมดใน 3 ไตรมาสที่ผ่านมาของปี พ.ศ. 2566 หรือประมาณ 20,354 ล้านบาทเพิ่มจากปีที่แล้ว 26% โดยเป็นคนไข้จากประเทศกัมพูชามากที่สุด รองลงมาคือ ญี่ปุ่น จีน เมียนมา และสหรัฐฯ แต่ลูกค้าหลักของโรงพยาบาลคือ คนจากตะวันออกกลางซึ่งมีหลายประเทศและรัสเซียที่เริ่มมากขึ้นในปีที่ผ่านมา และที่น่าสนใจ คือกว่า 55% ของลูกค้าต่างชาติของโรงพยาบาลในเครือ BDMS เป็นคนไข้ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวหรือเพื่อรักษาพยาบาลโดยตรง (Medical Tourism) ไม่ใช่กลุ่มที่ทำงานในประเทศไทย แต่การจะเห็นภาพชัดเจนกว่านี้อาจจะต้องรอถึงปี พ.ศ. 2567 มากกว่าปัจจุบันที่หลายประเทศยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ก่อนหน้านี้ เพราะช่วงปี พ.ศ. 2562 สัดส่วนของชาวต่างชาติมากกว่าปัจจุบัน

          การที่ประเทศไทยมีชาวต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาล และสร้าง รายได้ต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยคาดว่าปี พ.ศ. 2566 การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์หรือ Medical Tourism จะสร้างได้ในประเทศไทยมูลค่า ประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาทมากกว่าปี พ.ศ. 2565 ประมาณ 22%  และมากกว่าปี พ.ศ. 2562 ประมาณ 11-12% และมีความเป็นไปได้ที่จะมากขึ้นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ทุกปี ตราบใดที่ภาคเอกชนในประเทศไทยยังแข็งแกร่ง แต่ก็ต้องระวังคู่แข่งที่สำคัญจากประเทศที่ค่าครองชีพ และคุณภาพในการรักษาพยาบาลไม่แตกต่างจากประเทศไทยมากนัก เช่น มาเลเซีย อินเดีย และตุรกี ซึ่งอาจจะได้เปรียบประเทศไทยในเรื่องของศาสนา เพราะกล่มลูกค้าใหญ่ของ Medical Tourism ในประเทศไทยคือกลุ่มคนจากประเทศในตะวันออกกลางซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม

          เรื่องของ  Medical Tourism อาจจะมีอีก 1 กลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรง คือ กลุ่มของผู้สูงอายุซึ่งมีทั้งจากประเทศในทวีปยุโรปเอเชีย ที่เข้ามาเพื่อใช้ชีวิตในบั้นปลายในประเทศไทย ซึ่งเงื่อนไขในการขอวีซ่ากรณีใช้ชีวิตบั้นปลายมีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของรายได้หรือเงินในบัญชีธนาคาร คือ มีรายได้หรือเงินได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 65,000 บาทมีเงินในบัญชีธนาคารไม่น้อยกว่า 800,000 บาท รวมไปถึงเรื่องของประกันสุขภาพในกรณีเจ็บป่วยในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัด อันดับอยู่ในอันดับที่ 18 ของประเทศที่น่าอยู่ที่สุดสำหรับวัยเกษียณ (Best Countries for a Comfortable Retirement 2023) ซึ่งจัดทำ และเผยแพร่โดย U.S. News and World Report โดยประเทศไทยเป็นอันดับที่ 1 ในทวีปเอเชียเลยทีเดียว

          ประเทศไทยอาจจะเป็นประเทศที่เหมาะสำหรับคนวัยเกษียณชาวต่างชาติโดยเฉพาะจากประเทศที่มีระบบสวัสดิการหรือระบบเงินใน วัยเกษียณที่แข็งแรงและเป็นระบบ เพราะค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ ของประเทศไทยไม่ได้สูงมาก และเงินเกษียณที่พวกเขาได้รับนั้นเพียงพอต่อการดำเนินชีวิตในประเทศไทยแบบสบายๆ จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตแต่คนไทยในวัยเกษียณกลับเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมถึงวัยเกษียณนั้นมีเพียงคนที่ทำงานระบบราชการ หรือในระบบรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ภาคเอกชนอาจจะมีแต่ก็เป็นเพียงเงินก้อนจำนวนหนึ่งเมื่อลาออกเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอในระยะยาวแน่นอน อีกทั้งการที่ปัจจุบันสังคมในประเทศไทยเป็นครอบครัวเล็กหรือไม่มีลูกยิ่งทำให้การต้องอยู่กันเองของคนสูงอายุเริ่มชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับจำนวนของผู้สูงอายุในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องสวนทางกับการลดลงของกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า โดยคาดว่าอีกไม่นาน 1-2 ปีข้างหน้าสัดส่วนของคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในประเทศไทยจะมากถึง 20% ของจำนวนประชากรในประเทศไทยและจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

          ที่พักสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทยอาจจะมีน้อยมากไม่เพียงพอต่อจำนวนของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องแน่นอน แม้ว่า ครัวเรือนในประเทศไทยยังอยู่อาศัยกันแบบหลายรุ่น หลายช่วงอายุก็ตาม และความคิดในเรื่องของการส่งพ่อแม่ ผู้ปกครองออกไปอยู่ตามบ้านพักผู้สูงอายุจะยังไม่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปก็ตาม แต่เริ่มมีภาคเอกชนหลายแห่งให้ความสำคัญ และเดินหน้าให้บริการหรือพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุมากขึ้น ภาครัฐบาลก็มีโครงการในรูปแบบนี้และได้รับความนิยมมาก แต่มีจำนวนน้อยที่ได้รับการยอมรับและต้องลงชื่อรอกันนานหลายปี ค่าใช้จ่ายสำหรับการเข้าพักในบ้านพักผู้สูงอายุของรัฐบาลอาจจะเสียเพียงครั้งเดียวที่อัตรา 650,000 บาท และค่าใช้จ่ายรายปีอีกจนกว่าจะครบอายุขัยหรือเสียค่าใช้จ่ายไม่มากเพียงไม่เกินเดือนละ 5,000 บาทต่อเนื่องไปจนกว่าจะครบอายุขัย ถ้าเป็นโครงการของเอกชนอาจจะต้องเสียรายเดือนมากกว่า 25,000 บาทต่อเดือนซึ่งอาจจะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามมาอีก ถ้าเป็นกลุ่มที่เป็นโครงการของภาคเอกชนที่มีรูปแบบเป็นโครงการที่อยู่อาศัยแบบจัดสรรเลยอาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่รวมแล้วมากกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไปถึงประมาณ 35 ล้านบาทเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อที่พักอาศัยในโครงการซึ่งยังต้องมีค่ารายเดือนอีกแล้วแต่ว่าเจ้าของโครงการจะกำหนดเท่าไหร่

          รูปแบบของโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุอาจจะยังมีจำนวนไม่มากนักในประเทศไทย โดยเฉพาะในฝั่งของภาคเอกชนที่ได้รับ การยอมรับ บางโครงการก็อาจจะมีราคาที่สูงเกินไป เหมาะกับคนจำนวนน้อยมากๆ เท่านั้น ในขณะที่กลุ่มคนที่มีรายได้และความพร้อมในเรื่องนี้อาจจะเป็นเพียงกลุ่มของข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่เกษียณอายุ พร้อมสวัสดิการต่างๆ คนธรรมดาทั่วไปอาจจะยังไม่สามารถเข้าถึงที่ พักอาศัยในระบบนี้ได้ ยังคงต้องอยู่อาศัยกับบุตรหลานต่อไป โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทยยังคงกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เชียงใหม่ จังหวัดใหญ่ทางภาคอีสาน และจังหวัดท่องเที่ยวชายทะเลในภาคใต้ ไม่ได้มีทุกจังหวัด
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ