ตลาดบ้านสร้างเองหดสอดรับอสังหาฯครึ่งหลังซึม
Loading

ตลาดบ้านสร้างเองหดสอดรับอสังหาฯครึ่งหลังซึม

วันที่ : 1 พฤศจิกายน 2566
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า ค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นมาจากราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งค่าแรงงาน แต่ยอมรับว่าห่วงเรื่องค่าแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ 400-600 บาท ในระยะยาวจะทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างแพงขึ้น
          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยในงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยธุรกิจรับสร้างบ้าน ว่า ตลาดบ้านสร้างเองในปี 2566 ดูจากข้อมูลการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินทั่วประเทศปีนี้มีทิศทางลดลง แต่ประเมินว่าจะยังอยู่ที่ 8,000 หน่วยหรือยูนิต ในช่วง 8 เดือนแรกอยู่ที่ 52,000 หน่วย แบ่งเป็นการจัดสรรที่ดินเปล่าสำหรับ สร้างบ้าน 1,554 หน่วย คาดทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 2,500 หน่วย

          ปี 2566 คาดพื้นที่ปลูกสร้างบ้านเดี่ยวทั่วประเทศมีพื้นที่รวม 26.80 ล้านตร.ม. เป็นบ้านสร้างเองประมาณ 16.80 ล้านตร.ม. เป็นมูลค่า บ้านเดี่ยวทั่วประเทศ 322,000 ล้านบาท เป็นบ้านเดี่ยวสร้างเอง 201,600 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 12,000 บาทต่อตร.ม.) โดยประเมินว่าในปี 2567 ถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวคาดว่าภาพรวมตลาดน่าจะเติบโตได้ 3% ในขณะที่ดัชนีค่าก่อสร้างบ้านเพิ่มขึ้นทุกปี จากปี 2553 อยู่ที่ 100 จุด ถึงไตรมาส 3 ปีนี้อยู่ที่ 134 จุด หรือขยายตัว 2-3% ต่อปี

          "ค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นมาจากราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งค่าแรงงาน แต่ยอมรับว่าห่วงเรื่องค่าแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ 400-600 บาท ในระยะยาวจะทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างแพงขึ้น ซึ่งจะถ่ายโอนไปยังผู้สร้างบ้านราคาจะขึ้นไปเท่าไหร่ จึงอยากฝากผู้ประกอบการจะทำอย่างไรให้ประชาชนผู้สร้างบ้านมั่นใจ"

          ส่วนดัชนีรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ (หมวดที่อยู่อาศัย) ของประเทศไทยในครึ่งปีแรกของปี พบเพิ่มขึ้น 2.8% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย (จีดีพี) แต่ในช่วงที่เหลือครึ่งหลังของปี 2566 ยังคงเผชิญกับปัจจัยลบหลายด้านอย่างต่อเนื่อง คาดภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบปี 2565

          โดยในด้านอุปสงค์การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยพบการชะลอตัวในเชิงจำนวนหน่วยลดลง -2.7% เกิดจากปัจจัยลบต่างๆ เช่น การปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ย โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นมาแล้ว 5 ครั้ง (ม.ค.-ก.ย. 2566) ภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงกว่า 90% ของจีดีพี โดยเฉพาะการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กลับมาใช้มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยโดยกำหนดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (แอลทีวี) ตามเดิม