ปีหน้ายอดโอนบ้าน1ล้านล.
Loading

ปีหน้ายอดโอนบ้าน1ล้านล.

วันที่ : 18 พฤศจิกายน 2566
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า ภาพรวมของอสังหาริมทรัพย์ ในช่วง 9 เดือน ที่ผ่านมา พบว่า หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย ลดลง 270,650 หน่วย ลดลง 4.2% มีมูลค่า 766,791 ล้านบาท เพิ่ม 1.6% โดยกลุ่มบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มผู้โอนกรรมสิทธิ์ใหญ่ที่สุดที่มีหน่วยการเปลี่ยนแปลงลดลง 5.9%
           นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ในปีหน้า หรือปี 67 เชื่อว่าจะกลับมาเติบโตแน่ ซึ่งจะมียอดโอนกรรมสิทธิ์ได้ถึง 392,936 หน่วย เติบโต 4% และมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ 1.11 ล้านล้านบาท เติบโต 4.6% โดยยอดการโอนอสังหาริมทรัพย์ สัดส่วนของบ้านแนวราบยังมีสัดส่วนประมาณ 70% รองลงมาเป็นอาคารชุด 30% ส่วนการเปิดตัวโครงการใหม่เริ่มกลับมาขยายตัว 2-4 % เพื่อรองรับความต้องการตลาดที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันธุรกิจต้องให้ความสำคัญต่อจำนวนสต๊อกที่อยู่อาศัยที่ยังเหลือขายในตลาดที่สะสมมากขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย

          ส่วนปี 66 คาดว่าจะมีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ 377,832 หน่วย ลดลงจากปีก่อน 3.8% และมีมูลค่า 1.07 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.1% โดยเป็นการปรับตัวลดลงของทั้งยอดการโอนกรรมสิทธิ์และจำนวนที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากปี 65 เป็นปีที่ตลาดฟื้นตัวจึงเป็นฐานที่สูงสำหรับปี  66 ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ในช่วง 3 ไตรมาสอย่างต่อเนื่อง พบว่ามีสถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ดีกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อช่วงต้นปี จากผลของยอดขายที่ดีในปีก่อนหน้า ส่งผลให้ยอดโอนกรรมสิทธิ์ปีนี้ และหากตลาดสามารถรักษาโมเมนตั้มเช่นนี้ได้ จะช่วยให้หน่วยและมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ปี 67 มีโอกาสขยายตัวได้อีก

          สำหรับภาพรวมของอสังหาริมทรัพย์ ในช่วง 9 เดือน ที่ผ่านมา พบว่า หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย ลดลง 270,650 หน่วย ลดลง 4.2% มีมูลค่า 766,791 ล้านบาท เพิ่ม 1.6% โดยกลุ่มบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มผู้โอนกรรมสิทธิ์ใหญ่ที่สุดที่มีหน่วยการเปลี่ยนแปลงลดลง 5.9% ขณะที่กลุ่มบ้านระดับราคาเกินกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไปขยายตัวสูง ส่วนระดับราคาเกินกว่า 7.5 ล้านบาทขึ้นไป เป็นกลุ่มราคาที่มีหน่วยและมูลค่าขยายตัวมาก โดยหน่วยที่อยู่อาศัยใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ลดลง 24.7% มูลค่าการขายลดลง 21.0% เช่นเดียวกับในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่หน่วยขายได้ใหม่ ลดลง 16% มูลค่าลดลง 11.7%

          "การชะลอตัวของอุปสงค์ได้กดดันให้อุปทานที่อยู่อาศัยมีการปรับตัวลดลงโดยพบว่า ภาพรวมอุปทาน 9 เดือน จำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยที่ได้รับใบอนุญาตจัดสรรลดลง 16.4% และพื้นที่ที่ได้รับใบอนุญาตปลูกสร้างใน 8 เดือนแรกลดลง 1.9% ซึ่งพบว่า อุปทานที่มีการปรับตัวลดลงนั้นเป็นประเภทที่อยู่อาศัยแนวราบ ที่สอดคล้องกับทิศทางของผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยในปัจจุบันที่มุ่งเน้นที่อยู่อาศัยในระดับราคาสูง เนื่องจากผู้ซื้อเป็นกลุ่มที่ยังมีกำลังซื้อที่ดี และสามารถได้รับการอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายกว่าที่อยู่อาศัยระดับราคาต่ำถึงปานกลาง ที่สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มดังกล่าว"