REICชี้อสังหาฯไทย6เดือนแรกของปีนี้กำลังซื้อผู้บริโภคลด
Loading

REIC ชี้อสังหาฯไทย6เดือนแรกของปีนี้กำลังซื้อผู้บริโภคลด

วันที่ : 28 สิงหาคม 2566
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เผย 6 เดือนแรกภาคอสังหาฯ ไทยเจอปัจจัยลบกระหน่ำฉุดกำลังซื้อลด วอนรัฐบาลใหม่ออกมาตรการกระตุ้น-ให้ความสำคัญแรงซื้อต่างชาติ คาดภาพรวมปีนี้ติดลบก่อนฟื้นตัวในปี 67
          ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยช่วง 6 เดือนแรก ยังอยู่กับปัจจัยลบหลายด้าน ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ภาวะอัตราส่วนหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) และราคาที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชนปรับตัวลดลง

          โดยปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนของอุปสงค์ และอุปทานในตลาดที่อยู่อาศัย ซึ่งอุปสงค์มีการปรับตัวลดลงของหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ และยอดขายใหม่ที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อที่อยู่อาศัยที่ยังไม่แข็งแรงเท่าที่ควร จึงจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีความชัดเจน และตรงจุด

          ขณะที่ REIC อยากให้รัฐบาลใหม่นำหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการนำมาตรการกำหนดเพดานอัตราส่วนการให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) กลับมาใช้อีกสักระยะหนึ่ง เพื่อให้ภาพรวมตลาดขับเคลื่อนไปได้ต่อเนื่อง รวมถึงอยากให้มีมาตรการช่วยในส่วนของการปฏิเสธสินเชื่อของสถาบันทางการเงิน และอยากให้ความสำคัญเกี่ยวกับการถือครองกรรมสิทธิ์ชาวต่างชาติ เนื่องจากเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะกำลังซื้อของคนไทยค่อนข้างอ่อนแอ สะท้อนจากมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ของต่างชาติที่มีกว่าหลักหลายหมื่นล้านบาท ซึ่ง 6 เดือนแรกมีมูลค่ากว่า 35,211 ล้านบาท

          ทั้งนี้ ในปี 2566 คาดว่าจะมีการออกใบอนุญาตจัดสรรทั่วประเทศ 80,643 หน่วย ลดลง 12.1% จากปี 2565 ที่ 91,692 หน่วย และปี 2567 จะเพิ่มขึ้น 3% ที่ 83,062 หน่วย หรือมีจำนวนพื้นที่การออกใบอนุญาตก่อสร้าง 34.09 ล้านตารางเมตร (ตร.ม.) ลดลง 12.6% และปี 2567 จะเพิ่มขึ้น 1.9% เป็น 34.75 ล้านตร.ม.

          โดยปี 2566 จะมีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียน 82,144 หน่วย ลดลง 14.4% และปี 2567 จะกลับมาเพิ่มขึ้น 4.6% เป็น 85,929 หน่วย สอดคล้องปี 2566 จะมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย 336,062 หน่วย ลดลง 14.5% และปี 2567 จะเพิ่มขึ้น 4.1% เป็น 349,910 หน่วย ด้วยมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ ปี 2566 ที่ 977,593 ล้านบาท ลดลง 8.2% และปี 2567 จะเพิ่มขึ้น 4.6% เป็น 1,022,730 ล้านบาท

          ส่วนหน่วยกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติ 10 อันดับแรกตั้งแต่ปี 2561-6 เดือนแรกของปี 2566 ยังเป็นจีน และรัสเซีย ที่ครอง 2 อันดับแรกมาทุกปี ทั้งในเชิงจำนวน และมูลค่า ตามด้วยชาติอื่น ๆ ซึ่งจังหวัดที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ต่างชาติ 5 อันดับแรก ได้แก่ ชลบุรี กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ และสมุทรปราการ ขณะที่คาดว่ารัสเซียจะเป็นชาติที่อยู่กับตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยในระยะยาว ปัจจุบันรัสเซียคิดเป็น 10% ของสัดส่วนต่างชาติที่ซื้อห้องชุด จากเดิมเฉลี่ย 5-6%