ไตรมาส2ที่ดินเปล่าราคาหดตัว
Loading

ไตรมาส2ที่ดินเปล่าราคาหดตัว

วันที่ : 4 สิงหาคม 2566
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า ที่ดินเปล่าไตรมาส 2 ชะลอตัว -2.4% หลังโดนปัจจัยลบรุม เศรษฐกิจครึ่งปีหดตัว กลับมาใช้ LTV หนี้ครัวเรือนสูง ดอกเบี้ยขาขึ้น เก็บภาษีที่ดินเต็มพิกัด ทำผู้ประกอบการเบรกซื้อ หยุดขึ้นโครงการใหม่
          
          ราคาที่ดินไม่ได้มีแต่ขาขึ้น 

          ปัจจัยลบอื้ออสังหาฯเบรกซื้อตุน 5 โซนชานเมืองเกาะรถไฟฟ้ายังดี

          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลไตรมาส 2 ปี 2566 มีค่าดัชนีเท่ากับ 376.5 จุด เพิ่มขึ้น 6.2% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง -2.4% เทียบไตรมาสก่อนหน้า แสดงว่าราคาที่ดินเปล่ายังปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่มีการชะลอตัวจากไตรมาสแรกจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกขยายตัวลดลงกว่าที่คาด การยกเลิกการผ่อนคลายมาตรการ LTV และภาวะหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90% ของจีดีพี และภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ความสามารถซื้อและผ่อนบ้านของประชาชนลดลง ส่งผลให้กำลังซื้อที่อยู่อาศัยชะลอตัว ผู้ประกอบการจึงชะลอแผนเปิดขายโครงการใหม่ในปีนี้ถึงปี 2567 จึงชะลอซื้อที่ดินเปล่า รวมถึงรัฐบาลประกาศจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มอัตราในปีนี้ ผู้ประกอบการจึงต้องปรับแผนซื้อที่ดินสะสมเพื่อรองรับโครงการในอนาคตซึ่งภาระภาษีที่ดินเป็นต้นทุนในการพัฒนาโครงการในระยะต่อไป

          นายวิชัยกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ยังพบโซนที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ โซนบางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง เพิ่มขึ้น 54.9% โซนสมุทรสาคร เพิ่มขึ้น 26.1% โซนเมืองปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สามโคก เพิ่มขึ้น 17.6% โซนราษฎร์บูรณะ-บางขุนเทียน-ทุ่งครุ- บางบอน-จอมทอง เพิ่มขึ้น 17.5% และโซนเมืองสมุทรปราการ-พระประแดง-พระสมุทรเจดีย์ เพิ่มขึ้น 11.4% เนื่องจากที่ดินชานเมืองมีราคาไม่แพง ยังสามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบได้

          นายวิชัยกล่าวว่า สำหรับราคาที่ดินเปล่าแนวเส้นทางรถไฟฟ้า 5 อันดับแรกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด ส่วนใหญ่มีรถไฟฟ้าเปิดให้บริการแล้ว และเป็นโครงการในอนาคต ได้แก่ สายสีเขียวช่วงสมุทรปราการ-บางปู และสายสีเขียวช่วงแบริ่ง- สมุทรปราการ เพิ่มขึ้น 11.4% มากสุดเขตเมืองสมุทรปราการ พระสมุทรเจดีย์ สายสีม่วงช่วงบางใหญ่-เตาปูน เพิ่มขึ้น 4.5% มากสุดเขตเมืองนนทบุรี บางใหญ่ บางบัวทอง สายสีน้ำเงิน MRT และสายสีแดงเข้มช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง เพิ่มขึ้น 3.8% มากสุดเขตจตุจักร ห้วยขวาง พญาไท สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และสายสีแดงเข้มช่วงบางซื่อ-มธ.รังสิต เพิ่มขึ้น 3.3% มากสุดเขตบางเขน หลักสี่ ดอนเมือง คลองหลวง และสายสีแดงเข้มช่วงหัวลำโพง-มหาชัย เพิ่มขึ้น 2.4% มากสุดเขตจอมทอง บางบอนและบางขุนเทียน