ตลาดอสังหาฯ Q1/66 ยังบวก
Loading

ตลาดอสังหาฯ Q1/66 ยังบวก

วันที่ : 22 พฤษภาคม 2566
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นที่ลดลงเล็กน้อยในไตรมาสนี้ เมื่อพิจารณาที่มาของการลดลงพบว่า มีความเชื่อมั่นในด้านผลประกอบการยอดขาย การลงทุน และการเปิดโครงการใหม่และ/หรือเฟสใหม่ ที่ลดลงระหว่าง -10.8 ถึง -3.5 จุด ซึ่งอาจเป็นผลมาจากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.
          AP แชมป์รายได้ - แสนสิริแชมป์กำไรสูงสุดTOP10อสังหาฯ กินแชร์ตลาดมากกว่า80%

          อสังหาริมทรัพย์

          ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต่างคาดการณ์กันว่าไตรมาสแรกปี2566 ตลาดจะฟืนตัวดีขึ้น จากปัจจัยหนุนภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวแรง ประกอบกับการฟืนตัวทางเศรษฐกิจที่มีความต่อเนื่องจากปี 2565 อย่างไรก็ตาม ภาพรวมตลาดอสังหาฯที่ปรากฏในไตรมาสแรกปี 2566 นี้ ดูเหมือนจะไม่เป็นไปดังที่หลายๆ คนหวังไว้

          โดยรายงานดัชนีความเชื่อมั่น ซึ่งศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) ได้ทำการสำรวจพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯปริมณฑล ในไตรมาส 1/2566 มีค่าดัชนีเท่ากับ 46.7 ซึ่งลดลงค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2565 ที่มีค่าดัชนีเท่ากับ 51.5 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวของปีก่อน ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 47.1 ก็มีความเชื่อมั่นลดลงเล็กน้อยเช่นกัน

          ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นที่ลดลงเล็กน้อยในไตรมาสนี้ เมื่อพิจารณาที่มาของการลดลงพบว่า มีความเชื่อมั่นในด้านผลประกอบการ ยอดขาย การลงทุน และการเปิดโครงการใหม่และ/หรือเฟสใหม่ ที่ลดลงระหว่าง -10.8 ถึง -3.5 จุด ซึ่งอาจเป็นผลมาจากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. โดยมีการประกาศเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 66 ที่ขึ้น 0.25% ต่อปี จาก 1.25% เป็น 1.50% ต่อปี และ ต่อมาในวันที่ 28 มี.ค. 66 ขึ้นอีก 0.25% ต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 1.75%

          อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นในด้านต้นทุนผลประกอบการที่ปรับเพิ่มขึ้น 3.7 จุด สะท้อนว่า ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีความเชื่อมั่นในด้านต้นทุนการประกอบการ ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยมากขึ้น เนื่องจากมีการปรับตัวคงที่ในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากภาพรวมต้นทุนยังคงสูงอยู่ ทำให้ระดับความเชื่อมั่นยังต่ำกว่า 50% ต่อเนื่องมามากกว่า 5 ไตรมาส

          ค่าดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าวสอดคล้องกับผลการดำเนินงานของบริษัทอสังหาฯที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักแห่งประเทศไทย ซึ่งจากการสำรวจของ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom หรือ LWS) พบว่า 38 บริษัทอสังหาฯ ทีจะทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในไตรมาสแรกปี 2566 มีรายได้รวม และกำไรเพิ่มขึ้นไม่มากอย่างที่คาดการณ์กันไว้ โดยมีรายได้รวมอยู่ ที่ 73,712.77 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 8,699.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.84% และ 18.71% ตามลำดับเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2565 โดยมีความสามารถในการทำกำไรเฉลี่ย 11.80% ลดลงจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ซึ่งมีกำไรเฉลี่ยที่ 13.28%

          ทั้งนี้ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หนึ่งในท็อป 5 อสังหาฯ รายใหญ่ของเมืองไทย ที่ต้องประสบกับปัญหาการลดลงของกำไรสุทธิในไตรมาสแรก โดยในไตรมาส1/2566 นี้ "ศุภาลัย" มีรายได้รวมที่ 5641.42 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 269.18 ล้านบาทหรือมีรายได้เพิ่มขึ้น 5%  โดยสาเหตุหลักที่ทำให้รายได้ของ ศุภาลัย เพิ่มขึ้นในไตรมาสแรก เนื่องจากสามารถโอนกรรมสิทธิ์โครงการแนวราบได้เพิ่มขึ้น

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารายได้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่ ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารที่ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 815.26 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 98.07 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14%  มีผลให้กำไรสุทธิในไตรมาสแรกนี้ลดลง โดยไตรมาส 1/2566 นี้ ศุภาลัยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,080.41 ล้านบาท ลดลง 97.41 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นอัตราการลดลง 8% ถึงแม้ว่ารายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้นก็ตาม

          ขณะที่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)หรือ ANAN เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการชะลอตัวของกำลังซื้อและการชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค โดยในไตรมาสแรกที่ผ่านมา อนันดาฯมีรายได้รวม 731.1 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 47.2 ล้านบาทหรือลดลง 6.1% โดยมีสาเหตุมาจากการลดลงของรายได้จากการขายอสังหาฯ 62.3 ล้าน บาท คิดเป็น 13% และรายได้จากการบริหารโครงการและค่านายหน้าลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.5 ล้านบาทหรือลดลง 9.5%

          ทำให้ในไตรมาสแรกของปี 2566 นี้ อนันดาฯยังคงมีผลการดำเนินงานขาดทุนต่อจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีผลขาดทุน 53 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 78.3% จากที่ปีก่อนหน้ามีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสม 191.5 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนมาจากส่วนแบ่งจากเงินลงทุนในกิจการร่วมค้า หรือโครงการร่วมทุน 294 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 352.9 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% เนื่องจากสามารถเริ่มรับรู้รายได้จากการโอนโครงการไอดีโอจุฬา-สามย่าน ในช่วงปลายไตรมาสและการโอน ต่อเนื่องของโครงการไอดีโอพระรามเก้า-อโศก

          อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 อนันดาฯ ยังคงมีพร้อมในการเดินหน้าขยายธุรกิจอสังหาฯ ทั้งคอนโดมิเนียมและบ้านแนวราบ โดยการเปิดตัวโครงการใหม่ 2 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการในระดับ แฟลกชิป มูลค่ากว่า 14,600 ล้านบาท และความพร้อมสำหรับการโอนกรรมสิทธิ์โครงการไอดีโอ จุฬา-สามย่านที่สามารถเริ่มให้ลูกค้าเข้ามาโอนกรรมสิทธิ์ได้ตั้งแต่ต้นปี เพื่อผลักดันผลการดำเนินงานให้เติบโตตามเปาหมายที่วางไว้

          ภาพการปรับตัวเพิ่มขึ้นของรายได้ ที่สวนทางกับกำไรสุทธิของบริษัทอสังหาฯในไตรมาส 1/2566 นี้ ส่วนหนึ่งเกิดจาก ปัญหาการชะลอตัวของกำลังซื้อ ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ ทำให้ผู้ประกอบการต้องออกมาตรการกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคให้เร็วขึ้น โดยการออกแคมเปญต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีผลต่อต้นทุนการขายที่เพิ่มตามไปด้วย   ขณะที่สถานการณ์ด้านสต๊อกที่อยู่อาศัยในตลาดรวมนั้น พบว่าสินค้าคงเหลือที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 3.66%  เมื่อเทียบไตรมาสต่อก่อนหน้า โดยสินค้าคงเหลือเมื่อนับรวมกับสินค้าใหม่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างของบริษัทอสังหาฯ ทั้ง 38 บริษัท พบว่ามีอยู่กว่า 626,535.06 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 3.66% เมื่อเทียบกับปลายปี 2565

          เอพีฯ แชมป์รายได้สูงสุด - แสนสิริ แชมป์กำไรสูงสุด

          ในขณะที่ หลายบริษัทประสบปัญหาด้านยอดขายและกำไรลดลง แต่ในฝั่งของ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP ซึ่งในช่วง 2-3 ปีนี้กลายเป็นบริษัทที่มีอัตราการขยายตัวดีทั้งในส่วนของรายได้และกำไรสุทธิ โดยในไตรมาสแรกของปี 2566 นี้ "เอพี ไทยแลนด์" ยังคงเป็นบริษัทอสังหาฯที่มีรายได้รวมสูงสุดเมื่อเทียบกับ 38 บริษัทอสังหาฯที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีรายได้รวมไตรมาสแรก 2566 ที่ 9,441.41 ล้านบาท ลดลง 13.04% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2565

          โดย นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า ไตรมาส 1 ที่ผ่านมาบริษัทฯ สามารถสร้างรายได้รวมจากสินค้าแนวราบ กลุ่มคอนโดมิเนียม (100% JV) และธุรกิจอื่นๆ ได้สูงถึง 11,805 ล้านบาท  และสามารถทำกำไรสุทธิ 1,478 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิรวมเท่ากับ 1,154 ล้านบาท เท่ากับ 28% และมีสัดส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน 0.66 เท่า ซึ่งเป็นไปตามนโยบายในการบริหารจัดการสัดส่วนหนี้สินสุทธิในระดับที่ไม่เกิน 1 เท่า

          "การปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของ เอพี ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา คือ สินค้ากลุ่มแนวราบอย่าง ทาวน์โฮม และบ้านเดี่ยวยังถือเป็นคีย์ไดรฟ์สำคัญในการเติบโตทางรายได้และกำไรอย่างแข็งแกร่ง โดยรายได้ที่เกิดขึ้นมาจากสินค้าแนวราบคิดเป็นมูลค่า 8,657 ล้านบาท หรือคิดเป็น 73% ของสัดส่วนรายได้รวมทั้งหมด ซึ่งมีบ้านเดี่ยวแบรนด์ THE CITY เป็นกำลังหลักหนุนสร้างรายได้รวมในกลุ่มแนวราบ"

          ขณะที่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ Siri นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่สามารถสร้างสถิติด้านกำไรสุทธิ โดยในไตรมาส1/2566นี้ แสนสิริ มีกำไรสุทธิสูงสุดที่ 1536.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 461.02% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของ แสนสิริ เป็นผลมาจากการรับรู้ รายได้จากการขายอสังหาฯในไตรมาสแรกของปี 2565 จำนวน 623.09 ล้านบาท

          โดย นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เผยว่าไตรมาสแรกปี 2566 แสนสิริมีรายได้รวมในไตรมาสแรกปี2566 อยู่ที่ 8,505 ล้านบาท โตขึ้น 63% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ผลงานมาจากรายได้จากการขายโครงการที่โดดเด่นในทุกกลุ่มที่อยู่อาศัย นำด้วยรายได้จากการขายคอนโดมิเนียม ที่ในไตรมาสนี้เติบโตสูงสุดถึง 217% หรือทำรายได้ 2,717 ล้านบาท รายได้หลักมาจากโครงการเอ็กซ์ที พญาไทที่เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มมีการโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงเดือน ธ.ค. 2565

          นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการขายโครงการแนวราบ โดยเฉพาะการขายโครงการทาวน์โฮม เติบโตขึ้นถึง 104% พร้อมกันนี้ยังสร้างผลงานในโครงการที่อยู่อาศัยแบบมิกซ์โปรดักต์ ที่รวมบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮม ในโครงการเดียว ตอบรับแนวคิดการอยู่อาศัยแบบ Feel Just Right ความพอดีที่ลงตัวภายใต้แบรนด์ "อณาสิริ" ที่สร้างรายได้ที่โดดเด่นต่อเนื่องในปีนี้เช่นเดียวกันขณะที่กำไรขั้นต้นจากการขายโครงการที่อยู่อาศัยยังคงสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ประกอบกับในไตรมาสนี้ แสนสิริมีการบันทึกกำไรจากการขายกิจการโรงเรียนสาธิตพัฒนา และการเพิ่มขึ้นของส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมค้าและบริษัทร่วม ทำให้กำไรสุทธิในไตรมาสแรกของปี 2566 เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด

          ท็อป 10 อสังหาฯกินแชร์ 82.88%

          อย่างไรก็ตามแม้ว่าบริษัทอสังหาฯที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีอยู่กว่า 38 บริษัท แต่หมากมองในด้านส่วนแบ่งการตลาดแล้วจะพบว่ากว่า 80% ของรายได้รวมบริษัทอสังหาฯจะอยู่ในมือของบริษัทอสังหาฯรายใหญ่ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์10อันดับแรก ประกอบด้วย บมจ. เอพี (ไทยแลนด์), บมจ.แสนสิริ, บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง, บมจ.ศุภาลัย, บมจ.เอสซี แอสเสท, บมจ.ออริจ้นท์ ดีเวลลอปเม้นท์, บมจ.เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้, บมจ.สิงห์ เอสเตท และบมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค

          ทั้งนี้ หากไม่นับ3อันดับแรก บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) คือบริษัทอสังหาฯที่สร้างผลงานได้ดีที่สุดในไตรมาสแรก โดยไตรมาส1/2566 พฤกษาฯ มีอัตราการเติบโตตามแผนธุรกิจมากที่สุด ทั้งรายได้จากภาคอสังหาฯ และธุรกิจเฮลท์แคร์ รวมถึงการบริหารต้นทุนและการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยพฤกษาฯสามารถทำกำไรสุทธิ 652 ล้านบาท เติบโต 18% มีรายได้รวม 6,598 ล้านบาท เติบโต 10% ทำอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มสูงขึ้นที่ 32.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 29.7%

          โดยในส่วนของธุรกิจอสังหาฯ  มีรายได้ 6,030 ล้านบาท เติบโต 6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 จากการโอนคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จในไตรมาส 3 และ 4 ปี 2565 อย่างต่อเนื่อง 6 โครงการ และมียอดขาย 4,466 ล้านบาท ซึ่งการเปิดขายโครงการแชปเตอร์ วัน ออล รามอินทรา ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สร้างกระแสตอบรับจากลูกค้าไทยและต่างชาติได้เป็นอย่างดี ทำยอดขายไปได้ราว 50%

          ขณะที่ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI เป็นอีกหนึ่งบริษัทอสังหาฯ ที่มีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมา1/66 มียอดโอนกรรมสิทธิ์ของคอนโดฯ และบ้านจัดสรรรวม 4,430 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปี ที่ผ่านมา 31% รวมโครงการที่อยู่ภายใต้กิจการร่วมค้า (JV) ที่ทยอยสร้างเสร็จและรับรู้รายได้แล้วกว่า 2,279 ล้านบาท

          ขณะที่กำไรสุทธิในไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 798 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 8% มาจากทั้งกลุ่มธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย และการเติบโตของกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ ในเครือ อาทิ ธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ (Recurring Income Business) ที่เปิดดำเนินงานแล้วจำนวน 5 โครงการในปี 2565 และมีโครงการก่อสร้างเสร็จใหม่ และทยอยรับรู้รายได้เป็นครั้งแรกอีก 1 โครงการ จำนวนห้องพักรวม 411 ห้อง ได้แก่ โรงแรมสเตย์บริดจ์ สวีทส์ แบงค็อก สุขุมวิท (Staybridge Suites Bangkok Sukhumvit) ภายใต้บริษัท วัน ออริจิ้น จำกัด (มหาชน)

          ส่วนในด้านของกำไรจากการดำเนินงานนั้น ยังคงเป็นกลุ่มบริษัทอสังหาฯที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 12 บริษัทแรกที่มีแชร์ ตลาดรวมมากที่สุด ทั้งนี้เมื่อพิจารณาท็อป 12 บริษัทอสังหาฯพบว่า บริษัทที่มีกำไรสูงสุด โดยมีกำไรรวมในไตรมาสแรกของปี 2566 อยู่ที่ 9217.96 ล้านบาทสูงกว่ากำไรของ 38 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีกำไรรวมในไตรมาสแรกปี 2566 ที่ 8,699.16 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมา จากมีบริษัทที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนทั้งสิ้น 13 บริษัททำให้กำไรรวมของทั้งสาม 18 บริษัทมียอดรวมต่ำกว่า 12 บริษัทอสังหาฯ 
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ