ธปท.เร่งสกัดเงินเฟ้อ-ลดหนี้เสีย
Loading

ธปท.เร่งสกัดเงินเฟ้อ-ลดหนี้เสีย

วันที่ : 8 กันยายน 2565
ธปท.มีความจำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยขึ้น โดย กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมครั้งที่ผ่านมาเพื่อดูแลเงินเฟ้อไม่ให้หลุดไปจนควบคุมไม่ได้ แต่การขึ้นดอกเบี้ยจะทำโดยไม่ให้กระทบประชาชนมากเกินไป โดยจะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป
          นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา "การกอบกู้และก้าวต่อของเศรษฐกิจไทย The Great Reset" ว่าเมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย โจทย์ขณะนี้คือ การทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ไม่มีจุดสะดุดจนเกินไปได้อย่างไร และจุดที่อาจจะทำให้เศรษฐกิจสะดุดเรื่องแรกคือ เงินเฟ้อที่สูง และหากปล่อยให้สูงจนเกินไปจะกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนมาก ขณะที่โจทย์ที่ 2 คือ การดูแลสถานะ และหนี้สินของกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งช่วยให้ระบบธนาคารยังทำงานได้ปกติ เราไม่อยากเห็นการไม่ยอมปล่อยสินเชื่อใหม่ของแบงก์ และไม่อยากเห็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

          "ธปท.มีความจำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยขึ้น โดย กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมครั้งที่ผ่านมาเพื่อดูแลเงินเฟ้อไม่ให้หลุดไปจนควบคุมไม่ได้ แต่การขึ้นดอกเบี้ยจะทำโดยไม่ให้กระทบประชาชนมากเกินไป โดยจะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไปให้เหมาะกับบริบทของประเทศไทยที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว และการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ขณะนั้น เช่น หากบางช่วงจำเป็นต้องหยุดการขึ้นดอกเบี้ยไว้ก่อน ก็จะทำแต่ถ้าช่วงไหนขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่า 0.25% ก็ทำได้เช่นกันขณะเดียวกัน ภายใต้การปรับขึ้นดอกเบี้ยสิ่งที่ต้องทำคือต้องดูแลภาระหนี้สินของกลุ่มเปราะบาง ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว โครงการพักทรัพย์พักหนี้ การเติมเงินใหม่ รวมทั้งมาตรการต่างๆที่ใช้ช่วยเหลือลูกหนี้มาตลอดก็ยังทำต่อไป"

          ผู้ว่าการ ธปท.ยังได้กล่าวต่อถึงทิศทางนโยบายในอนาคตของ ธปท.ว่า เรื่องแรกที่ ธปท.ได้เริ่มดำเนินการแล้ว คือ การปรับระบบการเงินไทยเพื่อรองรับการไปสู่ระบบการเงินดิจิทัล ขณะที่แนวทางที่ 2 คือ การสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมของไทยที่อยู่ในอันดับต้นๆในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการรับมือกับนโยบายที่เปลี่ยนสู่เศรษฐกิจสีเขียวทั่วโลก โดยนโยบายจะให้ระบบการเงินไทยเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เราผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้อย่างราบรื่น มีการวางพื้นฐานระบบมาตรฐานกลางของธุรกิจสีเขียว เพื่อให้การปล่อยสินเชื่อในอนาคตที่คำนึงถึงธุรกิจที่ดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม ขณะที่อีกปัญหาที่ต้องดูแลคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และเป็นปัญหาที่อยู่มายาวนาน ซึ่งแม้ไม่สามารถแก้ได้ในเร็ววัน แต่จะต้องมีความพยายามแก้ไขแบบยั่งยืน
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ