ธปท.ชี้ บาทอ่อน ภาวะปกติ มั่นใจเศรษฐกิจฟื้นช่วยพยุง
Loading

ธปท.ชี้ บาทอ่อน ภาวะปกติ มั่นใจเศรษฐกิจฟื้นช่วยพยุง

วันที่ : 1 กันยายน 2565
ธปท.ชี้เงินบาท อ่อนค่า ภาวะปกติ ตามภูมิภาค หลังเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อ เพื่อสกัดเงินเฟ้อ คาดหากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง ช่วยพยุงค่าเงิน มั่นใจเงินทุนไม่ไหลออก ขณะที่ ภาพเศรษฐกิจ ก.ค. ชะลอลง จากเดือนก่อนหน้า หลังค่าครองชีพพุ่ง กดบริโภคดิ่ง
          
          นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ค่าเงินในเดือน ก.ค. เงินบาทอ่อนค่าจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ จากการดำเนินนโยบายการเงินของ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ดำเนินนโยบายตึงตัวต่อเนื่อง เพื่อลดแรงกดดันของเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย ส่งผลให้นักลงทุนระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะ ในสินทรัพย์เสี่ยง จึงอยู่ในโหมด "Risk off" มากขึ้น

          ส่วนความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในเดือนส.ค. มีความผันผวน ต้นเดือนส.ค.เปลี่ยนมาเป็นแข็งค่ามากขึ้น เนื่องจากตลาดการเงิน ผ่อนคลายจากการคาดการณ์ว่าเฟดอาจไม่มีการเร่งขึ้นดอกเบี้ย แต่ หลังจากนั้นเงินบาทกลับมาอ่อนค่ามากขึ้น หลังตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ที่ออกมาต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ และอ่อนค่าตามเงินหยวน ที่ความกังวลเกี่ยวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ที่อาจมีปัญหามากขึ้น

          นอกจากนี้ การกล่าวถ้อยแถลงของนายเจอโรม เพาเวล ประธานเฟด ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ชี้ให้เห็นว่าเฟดยังต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ ทำให้นักลงทุนทั่วโลก รู้สึกว่า sentiment เปลี่ยนไป ส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยง ทั่วโลกปรับตัวลดลง และเงินบาทกลับมาอ่อนค่า

          ยันเงินทุนยังไหลเข้า

          "ถามว่า เงินบาทที่อ่อนค่า ธปท.กังวลหรือไม่ การเคลื่อนไหวเงินบาทลักษณะนี้ถือว่าเป็น trend ที่ธปท.เห็นมาสักระยะแล้ว จากการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจของตัวเอง ที่วันนี้เฟดเจอเงินเฟ้อที่สูง จึงต้องเร่งเอาเงินเฟ้อลงให้มากๆ หลักๆ มาจากอุปสงค์ และเศรษฐกิจที่ร้อนแรงเกินไปของสหรัฐ เฟดจึงต้องเร่งเอาเงินเฟ้อลงมา ไม่งั้นเครื่องยนต์เงินเฟ้ออาจติดมากกว่านี้ ดังนั้นต้องให้มั่นใจว่าเครื่องยนต์ เงินเฟ้อดับ"

          นางสาวชญาวดี กล่าวว่า ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัว และการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว และไม่สะดุด จำเป็น ที่เราต้องกลับมาดูที่บริบทของเศรษฐกิจไทย ด้วย ที่การดำเนินนโยบายการเงินจำเป็นต้องดูบริบทภายในประเทศมากกว่า

          ส่วนการเคลื่อนย้ายเงินทุน ขณะที่ ยังไม่พบการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ผิดปกติ สะท้อนว่านักลงทุนไม่ได้ดูจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ที่มีส่วนต่างกันมากนักระหว่างไทยกับสหรัฐ เพราะวันนี้ เงินทุน ยังไหลเข้าไทย โดยเฉพาะเข้ามาในตลาดหุ้น  แม้จะมีการไหลออกบ้างในตลาด พันธบัตร

          ทั้งนี้การอ่อนค่าของเงินบาท ถือว่า ไม่ได้อ่อนค่าประเทศเดียว เพราะหากเทียบกับดัชนีค่าเงินบาทเทียบกับคู่ค้าหลัก ของไทยในภูมิภาค พบว่า เงินบาทไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก เงินบาทยังเคลื่อนไหวตามสกุลเงินในภูมิภาค

          เศรษฐกิจฟื้นตัวหนุนค่าเงินบาท

          อย่างไรก็ตาม มองว่าระยะถัดไป ที่เศรษฐกิจไทย จะมีการฟื้นตัวมากขึ้น ทั้งการฟื้นตัวในประเทศ และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะทำให้แรงกดดันเงินบาทที่อ่อนค่าอาจมีข้อจำกัดมากขึ้น

          ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยเดือนก.ค. ที่ผ่านมา การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ปรับตัวลดลง จากการเร่งไปก่อนหน้านี้ เช่นเดียวกับส่งออกที่ลดลง สอดคล้องกับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า ที่ชะลอตัวลง ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐหดตัว จากรายจ่ายลงทุน

          โดยการบริโภคเอกชน เดือนก.ค. ลดลง 0.2% จากเดือนก่อนหน้า แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้น 14.7% หลักๆ มาจากการบริโภคภาคเอกชน ที่เร่งไปในช่วงก่อนหน้า บวกกับ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ที่เป็นปัจจัยลบต่อการบริโภคเอกชน

          ส่วนภาพรวมนักท่องเที่ยว ยังพบว่า ขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยก.ค.มีนักท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นอยู๋ที่ 1.2 ล้านคน จาก 7.6 แสนคน ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้น ทุกสัญชาติ โดยเฉพาะมาเลเซียจากการยกเลิกการลงทะเบียนไทยแลนด์พาส ทำให้ตั้งแต่ต้นปี มาถึงก.ค. มีนักท่องเที่ยว แล้ว 3.2 ล้านคน ซี่งหนุนให้ดัชนีผลผลิตภาคบริการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกันภาคขนส่ง นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ในหมวดโรงแรม ภัตตาคาร หมวดโดยสารปรับตัว อัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และไทย

          ตลาดแรงงานยังฟื่นตัวต่อ

          นางสาวชญาวดี กล่าวว่า ตลาดแรงงาน โดยรวมยังทยอยฟื้นตัว โดยเห็นจากผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ทยอยเพิ่มขึ้น ขณะที่สัดส่วนผู้ขอสิทธิว่างงานลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้เห็นแรงงานที่คืนถิ่นใหม่ เริ่มกลับมาทำงานในเมืองต่างๆ มากขึ้น สะท้อนว่ารายได้แรงงานน่าจะทยอยกลับมาได้ ขณะที่ภาคส่งออกชะลอลง ขณะที่การส่งออกสินค้าลดลงตาม อุปสงค์คู่ค้าที่ชะลอตัว โดยการส่งออกในเดือน ก.ค.อยู่ที่ 3.4% ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า

          ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังทรงตัว ที่ 7.61% แม้ราคาพลังงานจะชะลอลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลง แต่พบว่าอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดเร่งขึ้นตามราคาผักและราคาเนื้อสัตว์ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งขึ้นมา อยู่ที่ 2.99% ตามการปรับขึ้นราคาอาหารสำเร็จรูปและค่าโดยสารสาธารณะ ดังนั้นต้องติดตาม ผลของการปรับขึ้น ค่าจ้างและราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ที่มีผล ต่อค่าครองชีพเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป

          ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล มากขึ้น จากดุลการค้าที่กลับมาขาดดุลตามมูลค่าการส่งออกที่ลดลง และการนำเข้า ทองคำที่เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดอาจมีการกลับมาเกินดุลได้ในไตรมาส 4ปีนี้ จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ยังเป็นแรงส่งที่ดี

          ส่วนภาพเศรษฐกิจในเดือนส.ค. แนวโน้มเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง หากเทียบกับก.ค. ที่ผ่านมา แต่ยังต้องติดตามความไม่แน่นอนที่อาจเพิ่มขึ้น ทั้งจากการปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุน ค่าจ้าง และราคาสินค้า อุปสงค์ของ ต่างประเทศที่ชะลอตัว รวมถึงผลกระทบ จากโควิด-19 ที่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย