ธุรกิจวัสดุก่อสร้างรับอานิสงส์อุตฯฟื้น ติดปีก นวัตกรรม แก้แรงงานขาด
Loading

ธุรกิจวัสดุก่อสร้างรับอานิสงส์อุตฯฟื้น ติดปีก นวัตกรรม แก้แรงงานขาด

วันที่ : 3 พฤศจิกายน 2564
โควิด-19 ทำให้ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง เผชิญปัญหาขาดแรงงาน โดยพรีคาสท์ จะเข้ามาช่วยลดต้นทุนแรงงาน เร่งงานให้สำเร็จลุล่วงได้เร็ว
          ปลดล็อกมาตรการ LTV - เปิดประเทศ ฟื้นตลาดวัสดุก่อสร้างไตรมาส 4 ขณะ 3 ค่ายใหญ่ เด้งรับอานิสงส์ รัฐเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนอสังหาฯเดินเครื่องเร่งก่อสร้างส่งมอบให้ลูกค้า ระบุ ลูกค้าเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงาน บูมดีมานด์ แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป มาแรง หลังช่วยลดต้นทุนคนได้ถึง 50% พี่ใหญ่ "ตราเพชร" หวังรัฐฟื้นเศรษฐกิจ สร้างสมดุลแรงงานและปริมาณงานให้เหมาะสม

          สถานการณ์โควิด-19 ของไทยกว่า 2 ปี กระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่ชะลอแผนเปิดโครงการใหม่ รวมไปถึงภาคการก่อสร้างและการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ไปด้วย ส่งผลงานก่อสร้างในตลาดลดลงมหาศาล ซ้ำร้ายช่วง มิ.ย. 64 รัฐบาลออกมาตรการสั่งปิดแคมป์คนงาน สร้างผลกระทบต่อเนื่อง ต่อโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เช่น การก่อสร้างที่พักอาศัย ทั้งโครงการแนวราบ-แนวสูง และงานโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เป็นต้น

          ภาคก่อสร้างขาดแรงงาน

          ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันจะมีมาตรการปลดล็อกดาวน์แคมป์ก่อสร้างให้สามารถกลับมาเปิดไซต์งานได้ปกติแล้ว แต่กลับมีปัญหาใหญ่ตามมา คือ ภาวะขาดแคลนแรงงาน  เนื่องจากแรงงานต่างชาติงานส่วนใหญ่ ยังไม่สามารถเดินทางกลับเข้าประเทศได้ อีกทั้งแรงงานในประเทศ มีการย้ายถิ่นฐานกลับภูมิลำเนา เพื่อป้องกันตัวเองจากโควิด-19 ภาพผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างในประเทศไทย จึงยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

          จากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน "ฐานเศรษฐกิจ" เจาะพบผู้ประกอบการในวงการก่อสร้างไทย อยู่ระหว่างเร่งพัฒนาขีดความสามารถของตัวเอง ให้ก้าวข้ามข้อจำกัดด้านแรงงานที่ส่อเค้าจะขาดแคลนมากขึ้น โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเสริมประสิทธิภาพงานก่อสร้างให้รุดหน้าภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด ทั้งในตัวเครื่องจักร เครื่องมือ และวัสดุก่อสร้าง ช่วยให้การก่อสร้างเดินหน้าต่อไปได้ ขณะกลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้าง 3 บิ๊กของวงการ เร่งเครื่อง ปรับกลยุทธ์ และโปรดักส์ เด้งรับอานิสงส์เชิงบวก

          "พรีคาสท์" ทดแทนแรงงาน

          นายอาทิตย์ ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธุรกิจหลายภาคส่วนประสบปัญหา จำนวนแรงงานที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ  ทั้งนี้ บริษัทเอง พร้อมพัฒนาสินค้าคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast) นวัตกรรมใหม่ เพื่อรองรับงานโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ งานถนน งานสะพาน ซึ่งมีความต้องการที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปรับเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าในมาตรฐานทั่วไป หันไปสู่การผลิตตามความต้องการเฉพาะเจาะจงของลูกค้า หรือสินค้าคอนกรีตสำเร็จรูปที่ใช้เทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญพิเศษในการผลิต เช่น  ท่อคอนกรีตขนาดใหญ่พิเศษ ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันสูง

          "โควิด-19 ทำให้ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง เผชิญปัญหาขาดแรงงาน โดยพรีคาสท์ จะเข้ามาช่วยลดต้นทุนแรงงาน เร่งงานให้สำเร็จลุล่วงได้เร็ว รองรับตั้งแต่งานโครงการภาครัฐและเอกชน เช่น สินค้ากลุ่มบล็อกกำแพง บล็อกกันหน้าดิน บล็อกปูพื้น ที่มีขนาดใหญ่พิเศษ เสริมเหล็กอยู่ในตัวของบล็อก ลดปัญหาการทรุดตัว แตกร้าว"

          ทั้งนี้ คาดว่าโควิด-19 จะยังส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 5 ปี บริษัทจึงมุ่งเน้นในการบริหารจัดการภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ปรับกลยุทธ์การขายสินค้าให้มีรายได้จากหลายช่องทาง ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงแผนขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศอีกด้วย

          ปลด LTV กระตุกตลาดเร่งสร้าง

          นายชาคริต ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป "CPANEL" กล่าวว่า โควิค -19 ซึ่งส่งผลกระทบให้ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างชะลอตัวนั้น ทำให้ผู้ประกอบการระมัดระวังในการเปิดโครงการใหม่เพิ่มเติม ต้นทุนทางธุรกิจก็สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาวะการขาดแคลนแรงงานมีความรุนแรงมากขึ้น นั้น อีกมุมโควิค -19 ได้สร้างฐานพฤติกรรมใหม่ให้แก่ผู้บริโภคเช่นกัน

          ปัจจัยดังกล่าว จึงเกื้อหนุนอย่างสูงต่อที่อยู่อาศัยแนวราบขยายตัวไปยังเขตรอบนอกกรุงเทพฯ เน้นพื้นที่ใช้สอย และฟังก์ชั่นที่เอื้อต่อการทำงานที่บ้านมากขึ้น อีกทั้งการขยายตัวของเครือข่ายรถไฟฟ้า โครงข่ายถนน และศูนย์การค้า ที่ขยายความเจริญครอบคลุมพื้นที่รอบนอกมากขึ้น

          ด้านธุรกิจนั้น บริษัทเชื่อว่า พรีคาสท์ จะมีความต้องการสูงขึ้น เนื่องจากช่วยลดต้นทุนแรงงานได้ถึงประมาณ 50% ลดระยะเวลาและขั้นตอนในการก่อสร้าง (รวมงาน Finishing) ประมาณ 30% ส่งผลให้ต้นทุนรวมของการก่อสร้างลดลง 15% ซึ่งช่วยให้อสังหาฯ ประหยัดค่าใช้จ่ายค่าแรง ลดเวลาการก่อสร้างทำให้ส่งมอบบ้านหรืออาคารได้รวดเร็วขึ้น

          "พบผู้พัฒนาและผู้รับเหมาก่อสร้าง นิยมหันมาเลือกใช้พรีคาสท์มากขึ้น ทั้งโครงการแนวราบ-แนวสูง อาคารสำนักงาน โรงแรม อาคารคลังสินค้า และโรงงานอุตสาหกรรม ขณะ 21 ต.ค. ที่ผ่านมา ธปท.ผ่อนคลาย LTV ทำให้ผู้พัฒนาที่ไม่มีสินค้าคงเหลือไว้ขาย ต้องเร่งสร้างเพื่อให้ทันต่อโอกาสการผ่อนคลายในครั้งนี้ คาดดีมานด์จะมีมากขึ้น"

          ทั้งนี้ บริษัทพร้อมปรับปรุงกลยุทธ์การตลาดอยู่เสมอ ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงกระบวนผลิตมีความรวดเร็วมากขึ้น แต่ยังคงได้แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปที่มีความแข็งแรง ทนทาน และมีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานทางวิศวกรรม และเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายเพื่อรับโอกาสดังกล่าวด้วย

          แนะรัฐแก้ปมแรงงานฟื้นก่อสร้าง

          นายสาธิต สุดบรรทัด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ทิศทางตลาดวัสดุก่อสร้างในไตรมาส 4 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น หลังภาครัฐทยอยคลายมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้งพร้อมกับการเปิดประเทศ ถือเป็นปัจจัยบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและบรรยากาศการซื้อสินค้ามีความคึกคักมากขึ้น

          สำหรับกลยุทธ์บริษัท มุ่งเน้นนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย สามารถนำไปก่อสร้างบ้านได้ทั้งหลัง หลังจากเริ่มเดินเครื่องจักรเชิงพาณิชย์ NT-11 ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดกลุ่มไม้สังเคราะห์ เช่น ไม้ฝา ไม้เชิงชาย ไม้พื้นและไม้ตกแต่งอเนกประสงค์  ตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งการสร้างบ้านใหม่ หรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างเร่งด้วย เพื่อกระจายคนเข้าสู่ระบบ สร้างสมดุลดีมานด์และซัพพลายของอุตสาหกรรม

          "รัฐบาลควรทำหน้าที่เป็นคนกลางในการคัดกรองหาแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายและมีความปลอดภัย โดยได้รับการฉีดวัคซีน กลับเข้ามาในระบบเพื่อกระจายสู่อุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ที่กำลังอยู่ในภาวะการขาดแคลนแรงงาน เพราะเป็นหนทางเดียวที่ทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างที่เป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาได้ เมื่อเกิดความสมดุลระหว่างแรงงานกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น"

          ทั้งนี้ บริษัทยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งเรื่องการระบาดของโควิด-19 รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานก่อสร้างและด้านโลจิสติกส์การขนส่งสินค้าที่มีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น พร้อมแนะผู้ประกอบการวัสดุก่อสร้างและร้านค้าจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ต้องวางแผนบริหารจัดการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วย